top of page

ณิชา กิจคณากร | นักกีฬาว่ายน้ำ



หลังจากไปถ่ายภาพและวีดีโอ ณิชา กิจคณากร นักว่ายน้ำวัย 16 ผมก็กลับมาเล่าให้ลูกสาวฟังว่าวันนี้ไปทำอะไรมา

เผื่อว่าสาวน้อยของผมจะอยากกลับไปว่ายน้ำบ้าง


ณิชาเป็นสาวอายุ 16 ติดทีมชาติไปแข่งซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ปี 2019 เธอถนัดว่ายท่ากบ ซึ่งเป็นท่าว่ายที่เธอทำลายสถิติประเทศไทย ในรุ่น 16-18 ปี เวลาที่เธอทำได้ดีที่สุดในการแข่ง 100 เมตรคือ 1 นาที 10.56 วินาที


ผมมาถึงสระว่ายน้ำวิชั่น ย่านวัชรพลตั้งแต่เช้าแต่เธอมารอผมอยู่ก่อนแล้ว วันนี้เธอซ้อมสายกว่าปกติเพราะเกรงว่าช่างภาพจะมาไม่ทันจึงเลื่อนซ้อมมาราวๆ 8 โมง ซึ่งความจริงตั้งแต่ปี 2019 ณิชาได้รับทุนไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ Wesley College เมลเบิร์น ออสเตรเลียจากการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติที่โดดเด่น และฝึกซ้อมว่ายน้ำที่ Nunawading Swimming Club เธอซ้อมวันละ 2 รอบ เธอตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเตรียมตัวในรอบเช้า ลงน้ำรอบแรก ตี5 - 7 โมงเช้า จากนั้นก็ไปเรียนหนังสือ กลับมาเย็นซ้อมอีกรอบเวลา 5 โมงเย็น - 1 ทุ่ม และเข้ายิม 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ




แม่ของณิชาจับให้เธอหัดว่ายน้ำตั้งแต่เด็ก จากนั้นก็เป็นเพื่อนที่ชวนไปเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนตอนราวๆ ป.3 ชีวิตในสระน้ำคงเริ่มตั้งแต่ตรงนี้ เสียงนกหวีด เสียงน้ำกระเซ็น และเสียงตีขากวักน้ำ ที่เกิดจากการฝึกซ้อมของนักกีฬาคนอื่นๆ ดังมาจากลู่ว่ายน้ำดังเป็นพื้นหลังของบรรยากาศอยู่ตลอดเวลา

ณิชาวอร์มร่างกายกระตุ้นกล้ามเนื้อบนบกเสร็จแล้วก็ยืนอยู่บนแท่นสตาร์ทพุ่งลงไปในสระน้ำ เธอว่ายด้วยความไม่เร่งรีบ แต่เมื่อถึงเวลาแข่งเธอว่าย 50 เมตรแรก 20 สโตรค, 50 เมตรหลัง 22 สโตรค โค้ชกำชับไว้แบบนั้น รวมทั้งเวลาที่เธอต้องว่ายไม่ให้เกินที่กำหนดไว้


ภาพซ้อนในหัวของผมเห็นสาวน้อย, ลูกสาวของผมซึ่งชอบว่ายน้ำท่ากบเหมือนกัน ถ้าเขาชอบวันหนึ่งอาจเป็นนักว่ายน้ำที่ดีเหมือนหญิงสาวที่ว่ายอยู่ในสระตอนนี้


“ว่ายน้ำก็สนุกดี เท่ด้วย” เธอเล่าถึงวัยเด็กที่ซ้อม 3 วันต่อสัปดาห์


ความมีวินัยฝึกซ้อมก็ออกดอกออกผล เมื่อต้องไปแข่งว่ายน้ำของโรงเรียน


“มันเป็นถ้วยที่หนูภูมิใจมาก แล้วทำให้หนูอยากแข่ง อยากว่ายให้ดีขึ้นไปอีก”


เธอเล่าย้อนกลับไปในวันที่ถือถ้วยรางวัลกลับบ้านด้วยความภาคภูมิใจ ผมเห็นแววตาเป็นประกายเมื่อเธอพูดถึงถ้วยรางวัลใบแรกของเธอ แม้จะเป็นถ้วยปลอบใจนักกีฬาที่แตะขอบสระเป็นคนท้ายๆ ก็ตาม


จากถ้วยรางวัลใบแรกทำให้เกิดแรงมุ่งมั่น เหมือนจะเป็นน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงความทุ่มเทและอดทนต่อการฝึกซ้อม



เธอเติบโตทีละน้อย จากการแข่งขันเล็กๆ ในหมู่บ้านที่เธอเล่าว่าแข่งแบบขำๆ เปลี่ยนเป็นเริ่มเอาจริงเอาจังมากขึ้น ณิชาสมัครเข้าเป็นนักกีฬาของวิชั่น อคาเดมี (Vision Swimming Academy) แล้วพัฒนาตัวเองทีละขั้นทีละตอนผ่านการฝึกสอนของโค้ชโรจน์ (พสุธร สิงห์อุสาหะ) จากการฝึกซ้อม 3 วันต่อสัปดาห์เป็นฝึกทุกวัน และโดยการเพิ่มเทคนิคที่ถูกต้องตามจังหวะการเติบโตของร่างกายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน


ผมถามคำถามพื้นๆ ซึ่งถามกับผู้ที่ประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ มักจะได้คำตอบคล้ายเดิม แต่เหมือนกับว่าเป็นการตอกย้ำเพื่อให้ความมั่นใจ


“เหนื่อยไหม ท้อไหม”


“เคยท้อ เคยเหนื่อย เคยอยากเลิก” , “อยากไปเที่ยว อยากอยู่กับเพื่อน” ไม่ต้องตอบคนวัยผมที่มีลูกนั้นรู้ดี


“แล้วทำยังไง”

“ก็บอกตัวเองว่า ลองอีกสักตั้ง”


“แล้วพ่อแม่ล่ะ ผลัดดัน หรือแนะนำอะไรบ้าง”


“เขาก็บอกว่าเหนื่อยไปไหม อยากหยุดแค่นี้ไหม ไม่เคยกดดันอะไร”


การลองอีกสักครั้ง - ที่ณิชาบอกนั้น ทำให้เด็กหญิงที่ได้ถ้วยรางวัลที่แตะขอบสระเป็นที่ 9 คนนั้นเติบโตมาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติที่ทำลายสถิติประเทศไทยในท่ากบ จากนั้นปี 2019 ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติไปแข่งซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์


ในซีเกมส์เธอลงแข่ง 2 รายการ ณิชาได้ 2 เหรียญทองแดงจากทั้งสองรายการ

กบ 100 เมตร และผลัดผสม 4 x 100 เมตร (ณิชาว่ายท่ากบ)


คล้ายๆกับว่าชีวิตให้รางวัลเธออีกครั้งที่ไม่ล้มเลิกความตั้งใจด้วยการให้รางวัลต่อการทำงานหนักแลกกับเวลาของวัยรุ่น


“หนูอยากติดทีมไปเรื่อยๆ อยากเก่งเหมือนพวกรุ่นพี่ๆ” เธอต่อท้ายประสบการณ์ที่ผ่านมาครั้งล่าสุด ในคำพูดนี้มีรอยยิ้ม มีความหวัง และความเชื่อมั่น


*



มองเธอยืนอยู่บนแท่นสตาร์ท พุ่งลงในสระน้ำ ว่ายน้ำรอบแล้วรอบเล่าด้วยพลังที่เหมือนไม่มีวันหมด


ชีวิตนั้นยังเยาว์, อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เราจะหาบทสรุปจากนักกีฬาที่ยังมีหนทางอีกยาวไกล


แต่ในวันนี้, หากมองย้อนกลับไป บทเรียนบางบทที่เราอาจจะสรุปได้ คือ นอกจากพรสวรรค์ที่ติดตัวมาและร่างกายที่แข็งแรง หากคุณต้องการจะประสบความสำเร็จ คุณต้องมีความมุ่งมั่น อดทน และรักสิ่งที่ทำมากพอ

เพื่อเตรียมตัวสำหรับโอกาสที่ชีวิตจะมอบให้


*

Camera : Leica M2

Film : Ilford Hp5 +

Developer : Ilford ID-11

*

ณิชา กิจคณากร | นักกีฬาว่ายน้ำ

ภาพถ่ายและความเรียง | ศุภชัย เกศการุณกุล

903 views0 comments
bottom of page