ระยะ 10 ปีหลังมานี้ผมเดินทางท่องเที่ยวไม่สนุก อาจเป็นเพราะโลกมันเปลี่ยน เรารู้จักที่ที่เราจะไปมากเกินไป อยากได้อะไร อยากเห็นอะไร อยากกินอะไร ล้วนแล้วแต่รู้จักมันก่อนทั้งนั้น จนกระทั่งไปพบเจอ ได้เห็น ได้ลิ้มรสชาติจริงๆแล้วบ่อยครั้งที่รู้สึกผิดหวัง เพราะสิ่งที่เราคิดว่ารู้จักนั้นมันสวยกว่า ดีกว่า อร่อยกว่า ผ่านการเตรียมตัวการเดินทาง พอพบสิ่งนั้นเมื่อต่อหน้าจึงกลายเป็นความรู้สึกเฉยๆ ที่เคยเห็นมาดีกว่า หรือนึกว่ามันจะดีกว่านี้ และอาจเป็นเพราะเรารับรู้ประสบการณ์ผ่านคนอื่นซึ่งผ่านการตกแต่งมาอีกหลายชั้น พาลไปนึกถึงในหนังสือบางเล่ม ในหนังบางเรื่องที่ตัวละครบางตัวอยากไปที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไปที่ที่บริสุทธิ์ ปราศจากรอยเท้าของคนอื่น เพื่อที่จะรับรู้ประสบการณ์จากประสาทสัมผัสของตัวเอง
ความรู้สึกอยากเดินทางไปในที่ที่ไม่เคยรู้จัก ลึกลับ มีมนต์เสน่ห์ ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น ย้อนกลับไปในวัยหนุ่มสาว ผมเคยรู้สึกถูกกระตุ้นเร้าให้เดินทางเพื่อไปเห็น ไปเรียนรู้ สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายและการเล่าเรื่องของงานเขียนประเภทที่สมัยนั้นเรียกว่า “บันทึกการเดินทาง” ซึ่งจะแทนตัวคนเขียนว่าเป็น “นักเดินทาง” มากกว่า “นักท่องเที่ยว” โดยนัยว่าเราเดินทางไปในที่ที่เราไม่เคยรู้จักและในขณะเดียวกันเราเดินทางเข้าไปภายในความคิดความรู้สึกเพื่อเรียนรู้ตัวเอง เราสำรวจประสบการณ์ใหม่จากสิ่งที่สัมผัสจากภายนอก วิวทิวทัศน์ ความยากลำบากจากการเดินทาง คนพื้นเมืองแปลกหน้า หรือนักเดินทางที่เผอิญได้รู้จักในช่วงเวลาสั้นๆ สิ่งเหล่านั้นกระตุ้นให้เรารู้จักตัวเอง สำรวจความคิดตัวเอง โดยมีความโดดเดี่ยว ลำพัง เป็นเครื่องมือบ่มความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมา ฉะนั้นเมื่อการเดินทางครั้งหนึ่งจบลง เราจะได้ประสบการณ์ชุดหนึ่ง พร้อมๆ กับรู้จักตัวเองมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง การเดินทางจึงจำเป็นเหมือนการสอบไล่ เป็นด่านทดสอบที่เราจะพัฒนาตัวเอง เป็นพิธีกรรมที่เรากระทำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม “พิธีกรรม” ของนักเดินทางก็มี “คู่มือ” อยู่บ้าง คัมภีร์ของการเดินทางที่เป็นที่นิยมคือ Lonely Planet ใครถือหนังสือเล่มนี้ถือว่าเริ่มจริงจังกับการเดินทาง เพราะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเดินทางทั้งมือใหม่และผู้เชี่ยวชาญ ความยับเยินของหนังสือแสดงถึงความเก๋า ในเล่มจะมีประวัติของสถานที่ท่องเที่ยว เส้นทางการเดินทางคร่าวๆ การใช้เวลากับเส้นทางในการเดินทางสั้นยาวเป็นเดือน เป็นสัปดาห์ หรือ 2-3 วัน การแนะนำสั้นๆ ของคุณภาพที่พัก อาหาร สิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำและมารยาทในเมืองนั้นๆ เอาเป็นว่าสิ่งที่สำคัญที่ควรรู้ในการเดินทางล้วนบรรจุอยู่ในนี้
แต่นั้นเป็นหนังสือที่ผลิตโดยฝรั่งประเภท How to
หนังสืออีกประเภทที่เร้าใจกว่า โดยเล่าประสบการณ์ผ่านสายตาของนักเดินทาง มีความ Exotique
แรงผลักดันให้ออกเดินทางในช่วงวัยหนุ่มของผมมากจากช่างภาพนักเขียนจำนวนหนึ่ง ที่เล่าการเดินทางผ่านภาพถ่ายที่ทำให้เกิดความอยากรู้ งานเขียนประเภทที่ทำให้อยากรู้สัมผัสประสบการณ์แบบนั้นบ้าง และผ่านความรู้สึกที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้ชีวิตซึ่งโน้มน้าวให้เราเปิดรับเรียนรู้ความแตกต่าง ช่างภาพนักเขียนในกลุ่มนี้ เช่น รงค์ วงษ์สวรรค์, ธีรภาพ โลหิตกุล, หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ, ภาณุ มณีวัฒนกุล, สุรจิตร จามรมาน, ศรันย์ บุญประเสริฐ ต่อมาในยุคหลังมี ณัฐ สุมนเตมีย์, ภัทรพงศ์ คงวิจิตร, สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์, สมิทธิ ธนานิธิโชติ ฯลฯ เป็นคนจำพวกนั้น ซึ่งแต่ละคนก็มีภาษาทางภาพ และภาษาเขียน เฉพาะตัว
เรื่องเล่าของช่างภาพนักเขียนมีมุมมองเฉพาะ ภาพถ่ายและเรื่องเล่าเติมรายละเอียดและจินตนาการให้กันและกัน แตกต่างจากงานเขียนแบบอื่นๆ
ภาพถ่ายและเรื่องเล่าของภาณุ มณีวัฒนกุล (พี่บาฟ) ถูกจริตผมที่สุด งานของเขาเร้าใจให้อยากเดินทางไปยังสถานที่แปลกๆ ไปมีประสบการณ์กับวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น อยากพาตัวเองไปทดสอบกับการเดินทางอันยากลำบากซึ่งนำพาไปพบเจอบางสิ่งที่ใหญ่กว่า บางครั้งอยากไปลิ้มลองหลังอ่านเรื่องเล่าของอาหารที่แปลกลิ้น รสชาติเป็นความจริงเฉพาะในจินตนาการ และผมเรียนรู้เรื่องเล่าชากาแฟครั้งแรกจากหนังสือของพี่บาฟ จนการกินกาแฟเป็นสิ่งที่ติดตัวมาจนวันนี้อย่างเป็นรูปธรรม
คนรุ่นผมไม่มากก็น้อยเคยผ่านงานของพี่บาฟ ซึ่งเป็นพื้นฐานของนักเดินทางวัยหนุ่มรุ่นต่อมา การเดินทางและงานเขียนบันทึกเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตอาจฟังดูเชยสิ้นดีในสมัยนี้ และการดิ่งลึกลงไปเพื่อค้นหาตัวตนอาจเป็นเรื่องล้าสมัย นักเขียนอย่างน้อยสองหรือสามคนที่กล่าวมาคงเป็นต้นแบบคนนี้ได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ความคิดนี้ลงไปในหัวใจของวัยหนุ่มยุคนั้นอย่างไม่อาจปฏิเสธ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ทั้งโตยาก แต่หากมันเติบโตขึ้นในหัวใจของนักเดินทางแล้วมันไม่อาจหักโค่นลงไปได้โดยง่าย
“ภาพนิ่งต้องไม่นิ่ง” พี่บาฟบอกผมแบบนั้น (และเสียงนั้นยังอยู่ในใจผมจนถึงนาทีนี้) เมื่อคราวที่ไปเยี่ยมที่หัวหิน ที่ซึ่งแกปักหลักชีวิตอยู่ตรงนั้น พร้อมกับเปิดที่ทางสำหรับคนสนใจภาพถ่าย หนังสือ ดนตรี และเรื่องเล่าจากการเดินทาง ผมไม่รู้ว่าทำไมแกเลือกที่จะอยู่หัวหินหลังจากที่แกเดินทางมาทั้งชีวิต เย็นวันนั้นผมติดตามพี่บาฟไปเดินเที่ยวตลาดหัวหิน สังเกตเขาพูดคุยกับผู้คน น้ำเสียง แววตา ความรอบรู้ ลูกเล่น มือหนึ่งถือกล้อง เท้าเดินไป ชี้ชวนให้ดูนั่นนี่พร้อมเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของสถานที่และผู้คนให้ฟัง
ภาพนิ่ง ไม่นิ่ง เพราะมันมีเรื่องราวอยู่ในนั้น มีอารมณ์ความรู้สึก มีเสียงพูดออกมาจากในภาพนิ่งภาพนั้น มันสนทนากับคนที่มองมันบางครั้งตรงไปตรงมา บางครั้งด้วยรหัสบางอย่าง
ภาพนิ่ง ไม่นิ่ง เพราะมันพาเราเคลื่อนที่ไป เข้าไปอยู่ในภาพนั้น และพาเราย้อนกลับไปในเวลา
ภาพนิ่ง ไม่นิ่ง เพราะมันถูกเล่าจากประสบการณ์ของช่างภาพผู้เรียนรู้และเฝ้ามองชีวิต
ผมกลับไปที่ร้านอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น นั่งสนทนากับช่างภาพนักเขียนในร้านที่เต็มไปด้วยหนังสือ แผ่นเสียง ลมโชยจนม่านขาวขยับพริ้วไหวไปตามสายลมที่พัดมาจากทะเล พลางนึกถึงจุดหมายปลายทางสักแห่ง วางแผนการเดินทาง จินตนาการเห็นตัวเองสะพายกล้อง เดินไปบนถนนที่มีนักท่องเที่ยวบางตา เสาะหาประสบการณ์ใหม่ๆ โดยมีความไม่รู้และความอยากรู้อยากเห็นเป็นไกด์นำทาง พบเจอผู้คนพื้นถิ่น ลิ้มลองอาหารพื้นเมือง แล้วเขียนบันทึกการเดินทาง
ผลงานเขียนของภาณุ มณีวัฒนกุล
โลกของปาก (2004), คือคนในความทรงจำ (2005), ประเทศของเราเหมือนสวนดอกไม้ (2007), เที่ยวสามแป่นดิน (2007), กาแฟของคนอาหรับและอาหารของคนอื่น (2012), หน้าไม่สวมหน้ากากของศรีลังกา (2012)
ภาพพอร์ทเทรท | ความเรียง โดย ศุภชัย เกศการุณกุล
พฤศจิกายน 2019
*เผยแพร่ครั้งแรกที่ momoest.com
留言