เรานัดกันที่หัวลำโพงตอนบ่ายของต้นฤดูฝนที่ฟ้าอุ้มฝนไม่ปล่อยลงมา ปีนี้แล้งหนัก น้ำในแม่น้ำหลายสายแห้งขอด เขื่อนเหลือน้ำไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และชาวนาไม่ได้ปลูกข้าว แดดจัดสลับอากาศชื้นอบอ้าว เราทักทายกันพักหนึ่งก่อนจะไปนั่งหลบแดดคุยกันที่ร้านอาหารในโรงแรมแห่งหนึ่ง บรรยากาศย้อนกลับไปหลายสิบปี เหมือนกับสมัยที่ผมหัดถ่ายรูปใหม่ๆ หัวลำโพงเป็นพื้นที่ฝึกถ่ายรูปอย่างดี ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางหลายหน เราตกลงกันว่าจะคุยกันจนแดดร่มลมตกแล้วจะออกไปเดินถ่ายรูป
พี่วินัยเป็นช่างภาพเจอร์นัลริสท์อิสระให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเดินทางไปทั่วทั้งเอเชีย และในประเทศไทย เพื่อบันทึกภาพสำหรับสำนักงานข่าว หนังสือพิมพ์ นิตยสารข่าว และสิ่งพิมพ์ในองค์กร การเดินทางบางครั้งเสี่ยงต่อชีวิต แต่ตัดสินใจไปเพราะความสนใจอยากมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเรื่องราว เขาถูกส่งตัวไปทำงานบันทึกภาพด้านสิ่งแวดล้อมในอินโดนิเซีย ฟิลิปินส์ พม่าสมัยยังปิดประเทศ และบนเรือกลางทะเล บางภาระกิจปิดลับซึ่งล้วนแต่เป็นฝ่ายตรงข้ามของอำนาจรัฐ และอิทธิพล
ในประเทศเขาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด ชาติพันธุ์ และการค้ามนุษย์ ประเด็นที่เขาเลือกทำงานค่อนข้างอยู่ในสายบู๊ และเป็นเงาดำซอกหลืบของสังคมบนหนทางสู่ความศิวิไลซ์ ในระยะหลายปีที่ผ่านมาเขาบันทึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งหนึ่งในกรุงเทพพี่วินัยถูกยิงที่ขา โชคดีที่กระดูกไม่แตก ใช้เวลารักษาตัวกระทั่งหายเป็นปกติ จากนั้นก็สะพายกล้องเดินขากระเผลกบันทึกภาพต่อไป
เมื่อได้คุยกับพี่วินัยแล้วผมนึกถึงหนังชอว์บราเดอร์ที่ป๊ากับแม่พาผมไปดูตอนเด็กๆที่โรงหนังวอร์เนอร์ ถนนมเหสักข์ กว่าศิษย์สำนักวัดเส้าหลินจะสำเร็จวิชาจนกระทั่งฝ่าด่านสุดท้ายด้วยการยกกระถางธูปร้อนๆแล้วมีลายมังกรฝากไว้กับร่างกายต้องผ่านการเขี้ยวกรำที่ยากลำบากอย่างไรอย่างนั้น ตั้งแต่การฝากตัวเป็นศิษย์ แบกน้ำ หั่นผัก หั่นเต้าหู้อยู่ในโรงครัว ชกลม ฝึกท่าม้านั่ง กระทั่งโดนธูปจี้หัวถึงจะได้เข้าเป็นศิษย์นับหนึ่งในการฝึกวรยุทธ์ของสำนักนั้นสำนักนี้ แต่วินัย ดิษฐจร ไม่ได้เป็นศิษย์สำนักไหน เขาฝึกด้วยการเปิดตำราอ่าน และสังเกตจากช่างภาพสำนักมาตรฐานแล้วนำมาฝึกฝนตัวเอง เขาทำงานหลายอย่างเพื่อสะสมทุนรอนซื้อกล้อง และอุปกรณ์ เขาผ่านอาชีพหลากหลายทั้งกระเป๋ารถเมล์เลือดร้อนที่ใช้เวลาว่างเดินถ่ายภาพ พนักงานในโรงงานผลิตยาที่ไม่อยากนั่งอยู่บนเก้าอี้ แต่อาสาทำงานกลางแจ้งเพื่อจะได้เห็นแสงตะวัน เป็นทหารรับจ้างที่ดิ้นรนเรียนรู้การพิมพ์ดีด และเรียนนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขาเคยเป็นช่างภาพตะลอนไปตามบาร์ และไนท์คลับเพื่อถ่ายภาพโฆษณาสำหรับนิตยสารแจกฟรี เคยเป็นช่างภาพถ่ายสต๊อคที่ขี่มอเตอร์ไซค์ตะลอนไปทั่วประเทศเพื่อนำมาผลิตโปสการ์ดแลกกับเลนส์ดีๆ เขาดั้นด้นอดทนเพราะสนุกกับการใช้ชีวิตแบบนั้น เขาฝันอยากมีชีวิตนักข่าวเดินทางผจญภัยแบบ Tintin (The Adventures of Tintin) หรือ นักข่าวในสงครามแบบ Sydney Schanberg ในภาพยนตร์เรื่อง The Killing Fields (Roland Joffé, 1984) ที่เคยอ่านเคยดู และฝังใจตั้งแต่เป็นเด็ก กระทั่งวันหนึ่งจากสิ่งที่พี่วินัยเรียกว่าความฝันราคาแพง ในที่สุดเขาได้ทำงานเป็นช่างภาพในนิตยสาร Sunday ซัพพลีเมนท์ของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ถือเป็นก้าวแรกที่เขาเข้าสู่งานอาชีพที่ใฝ่ฝัน เขาเป็นช่างภาพมือดีที่ถูกว่าจ้างให้จัดตั้งสำนักงานข่าวต่างประเทศขึ้นในกรุงเทพ แต่ลาออกเพื่อเป็นช่างภาพเจอร์นัลรีสท์อิสระเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึงหนึ่งปีดี เมื่อเขาบอกตัวเองว่าพร้อมแล้วสำหรับการออกสู่โลกกว้างของการเป็นช่างภาพสายเจอร์นัลลีสท์กับความรู้และประสบการณ์ที่สะสมมา
“ช่วยบอกผมได้ไหมว่าทำไมพี่ถึงบอกว่าดีใจที่โดนยิง” ผมถามหลังแก้วกาแฟในบ่ายวันหนึ่ง
“วันนั้นเป็นวันที่ 10เมษายน วันที่รัฐบาลใช้กำลังในการสลายการชุมนุมวันแรกที่สะพานมัฆวานฯหน้าสำนักงาน UN (จากนั้นพี่วินัยเล่าถึงสภาพการณ์วันนั้นว่าทหารและผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวอย่างไร ชุลมุนอย่างไร เหตุการณ์เกิดขึ้นตรงไหนเป็นจุดแรก และคลี่คลายอย่างไร ฯลฯ), แล้วตอบต่อมาว่า, ดีใจที่โดนยิงเพราะความรู้สึกนี้เกิดภายหลังจากการรักษาตัวเเล้ว และไม่มีปัญหาเรื่องการวิ่งการเดิน เรารู้สึกเหมือนมีจารึกว่าเราทำงานอาชีพอยู่ในประวัติศาสตร์ ทำให้มีพลังเกิดขึ้น ผมเคยคิดว่าอาจจะโดนยิง หรืออาจจะตาย ไม่ใช่อยากตายนะ แต่มันมีความน่าจะเป็น และเราพร้อมรับ ตอนเสธแดงโดนยิง 19พฤษภา ผมก็เดินกระเผลกๆออกมาถ่ายภาพ”
เขาขยายความต่อว่า “เป็นช่างภาพเจอร์นัลลีสท์ต้องดื้อ เขาห้ามก็ต้องไป ท้าทายอำนาจ สมัยเราไม่มีตัวอย่างให้เรียนรู้ กระตุ้นความกล้าหาญ ไม่รู้ต้องทำยังไง ไม่รู้จักการเอาตัวรอดด้วย” พี่วินัยตอบคำถามด้วยน้ำเสียงราบเรียบ และนึกย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน
“เสียดายที่ปี 2535 เรายังไม่ได้สนใจการเมือง ตามอ่านหนังสือพิมพ์บ้างแต่ใจเรายังสนใจการเดินทาง ตอนนั้นเรามีงานถ่ายภาพสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ” ผมคิดว่ามันคงเหมือนกับความรู้สึกของนักรบที่ยินดีตายในสนามรบมากกว่ายืนดูเหตุการณ์อยู่ข้างนอก
ผมสังเกตหลายครั้งที่พี่วินัยตอบคำถาม เขาจะอธิบายชัดเจนถึงบริบทข้อเท็จจริงของสถานการณ์ สถานที่ วันเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เขาคิด ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่เขาเล่าให้ฟังชัดเจนขึ้น คล้ายกับการทำงานของโฟโต้เจอร์นัลลิสท์ที่ต้องมีข้อมูลรอบด้านเท่าที่จะค้นคว้าได้ขณะที่ไปทำงานชิ้นหนึ่งๆ มันคือการเตรียมพร้อม มันคงไม่ต่างจากลักษณะการทำงานถ่ายภาพในพื้นที่ที่ต้องประมวลสถานการณ์ และการอิดิธภาพถ่ายในการเล่าเรื่องจากภาพหนึ่งชุด
เวลาผ่านไปบนโต๊ะมีเพียงกาแฟร้อน 2 แก้วผ่านบทสนทนาราวชั่วโมงครึ่ง เราออกไปเดินถ่ายภาพ ผมเตรียมฟิล์มขาวดำจำนวนหนึ่ง กล้องมีเดียมฟอร์แมทหนึ่งตัว กล้องเรนจ์ฟายเดอร์ติดเลนส์ 35 มิลลิเมตรหนึ่งตัว เราเดินไปตามทางรถไฟ ผมเดินตามพี่วินัยบนรางรถไฟที่มีหินก้อนใหญ่ๆเป็นพื้น เขาเดินอย่างคล่องแคล่วตัวเบาหวิวพกกล้องดิจิตอลตัวเล็กๆ เลนส์ฟิกซ์ที่ 35 มิลลิเมตร ผมเหยียบหินก้อนหนึ่งพลาดขาพลิกทำให้เดินกระเผลกอยู่พักหนึ่งก่อนจะเดินได้เป็นปกติ สิ่งที่เราคุยกันบนรางเหล็กที่ทอดยาวเป็นคู่ขนาน คือปัญหาสิทธิของช่างภาพสารคดีกับสิทธิของปัจเจคบุคคล การถ่ายภาพเป็นการละเมิดสิทธิของผู้คนบนท้องถนนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เกิดมาในสังคมสมัยใหม่เราอาจจะไม่เข้าใจเส้นแบ่ง หรือความถูกควรเท่าไหร่นัก แต่พี่วินัยพยายามตามความเชื่อและสิ่งที่ตัวเองยึดถือ เช่นในงานยาเสพติดที่พึ่งตีพิมพ์ในNational Geographic Thailand (กรกฎาคม 2558 ) เขาพยายามหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพที่เห็นหน้าตัวแบบ โดยใช้แสงเงา และการจัดคอมโพซิชั่นเข้าช่วย
“ถ้าเป็นเรา เราก็ไม่อยากให้ใครมาละเมิดสิทธิของเราแบบนี้เหมือนกัน” ใจเขาใจเรา
ขณะเดินสายตาพี่วินัยจับจ้องสิ่งรอบตัว เขาหยุดถ่ายภาพผู้โดยสารขนของขึ้นแท๊กซี่ ซึ่งมีผู้ใหญ่ขนของ เด็กถือตุ๊กตา เป็นงาน street photo ที่พี่วินัยถ่ายสะสมไว้เพื่อเล่าเรื่องบรรยากาศของสังคมภายใต้บรรยากาศการปกครองแบบเผด็จการทหาร
“เราเชื่อในเสรีภาพ เป็นช่างภาพเราก็ใช้ภาพต่อสู้ แต่ต้องมีชั้นเชิงในการนำเสนอโดยเฉพาะในภาวะการเมืองแบบเผด็จการ”
บนทางรถไฟเขาเดินอย่างระวัง หูฟังเสียงรถไฟว่ามาใกล้หรือไกล ตามองหาสถานที่ถ่ายภาพ และเราเดินคุยกันไปเรื่อยๆ สิ่งที่อยู่ในใจของเขาอาจจะเป็นงานที่กำลังจะเตรียมตัวไปถ่ายภาพ หรืออาจจะเป็นทริปที่เขาพึ่งขี่มอเตอร์ไซค์เดินทางคนเดียว
ความจริงนัดวันนี้ ผมไปถึงก่อนเวลาและสำรวจพื้นที่ถ่ายภาพไว้แล้ว ผมเล็งมุมไว้มุมหนึ่งช่วงบ่ายต้นๆแสงค่อนข้างสลัว วัดแสงได้ f.4 สปีดชัทเทอร์ 1/8 นึกไม่ออกว่าเมื่อถึงเวลานัดถ่ายภาพสภาพแสงจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเดินไปบนรางรถไฟยิ่งห่างจากฉากที่ผมเล็งไว้ คงต้องไปหาเอาข้างหน้า เราหยุดถ่ายภาพกันเป็นพักๆ
ขณะที่ผมถ่ายภาพพี่วินัย เขาก็ยกกล้องขึ้นถ่ายภาพผม
พี่วินัยหลี่ตาดูแสง และเล็งมุมถ่ายภาพด้วยตาเปล่าก่อนจะยกกล้องดิจิตอลตัวเล็กๆขึ้นถ่ายภาพ ผมได้เห็นการทำงานของเขา ผ่านการคิดที่รวดเร็ว รอคอยอย่างใจเย็นจดจ่อ และลงมืออย่างแม่นยำ ผมเห็นกระบวนท่าที่ปราณีต สวยงาม และรวดเร็ว
“ทำไมพี่นัดผมที่หัวลำโพง พี่มีอะไรผูกพันกับที่นี่ไหม” ผมถามขณะยืนถ่ายภาพตรงอุโมงค์เล็กๆ
“ผมเคยทำงานบางชุดแถวนี้ ผมว่ามันมีภูมิประเทศ และสภาพแสงที่หลากหลายดี เผื่อคุณจะมีทางเลือกไว้ถ่ายภาพ”
ผมเลือกมุม และวางเขาในมุมที่ผมชอบ พี่วินัยแนะนำการถ่ายภาพ ดูแสงและเงาโดยยกมือขึ้นเช็คสภาพของแดดที่สาดทอผ่านหน้าต่างมาที่ตำแหน่งที่ผมบอก เราทำงานกันราวชั่วโมงกว่าๆ แดดค่อนข้างหลุบหลู่ในช่วงแรกแต่ขณะที่ถ่ายภาพชุดสุดท้ายจึงมีแสงแดดส่องพ้นก้อนเมฆ พี่วินัยเป็นช่างภาพที่โลว์โพรไฟล์ไม่คุ้นกับการอยู่หน้ากล้อง เขามีความสุขและเป็นธรรมชาติมากกว่าเมื่ออยู่หลังกล้อง เขาบอกว่าบางครั้งการเป็นนักข่าวนิรนามเป็นผลดีต่อการทำงานมากกว่า เพราะคนจะไม่จับจ้องและคาดหวัง เราทำงานได้อย่างมีอิสระ หากเป็นช่างภาพมือใหม่ลงสนามครั้งแรก เราอาจจะมองไม่เห็นเขา ช่างภาพกับอุปกรณ์เบาๆ ป้องกันตัวรัดกุม แต่งตัวธรรมดา สายตาระแวดระวัง เขาเก็บตัว พลางตัว ละลายตัวไปกับสิ่งแวดล้อม และชาวบ้าน รับรองได้เลยว่าหากเห็นช่างภาพแบบนี้ เขาไม่ใช่ช่างภาพธรรมดาแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามชื่อของเขาคงถูกบันทึกไว้ในแฟ้มของนักข่าวตัวแสบของรัฐบาลไปแล้วอย่างเลือกไม่ได้
ผมใช้กล้องมีเดียมฟอร์แมท สลับกับกล้องเรนจ์ไฟน์เดอร์ติดเลนส์ 35 มิลลิเมตร ผมคิดว่ามันกว้างเกินไป ถ้ามีพื้นที่พอให้ถ่ายภาพ ผมพอใจกับเลนส์ 50 มิลลิเมตรมากกว่า ผมถ่ายภาพพอประมาณไม่มากไม่น้อยและได้ภาพที่น่าพอใจ
พ้นจากอากาศร้อนอ้าวสู่ร้านอาหารร้านเดิมกับแอร์คอนดิชั่นเย็นฉ่ำ เขาสั่งยำเนื้อย่างเป็นอาหารเย็นเบาๆ กับถั่วลิสงทอดมาแกล้มเบียร์ พี่วินัยดูแลสุขภาพค่อนข้างดี เพื่อทำงานที่รักให้ยาวนาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การละเลยทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงทำให้การทำงานมีปัญหา เราคุยกันต่อเพราะเวลาตรงกันค่อนข้างน้อย พบกันวันนี้อีกนานกว่าเราจะได้พบกันอีก หรืออาจจะไม่ได้พบกันอีกเลย
“ในการทำงานถ่ายภาพ พี่สนใจเรื่องอะไร” ผมถามอย่างเป็นงานเป็นการ
“ภาพนิ่งจะต้องมากกว่าที่ตาเห็น จะต้องมีคอนเทนท์ โมเมนท์การเล่าเรื่อง ศิลปะ นัยยะที่อยู่ในภาพ เล่าความจริงเป็นจุดมุ่งหมายในใจ” พี่วินัยตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังกลับมา
“ผมทำงานตามความสนใจ วัยหนุ่มสนใจการเดินทางก็ไปทำงานถ่ายแลนด์สเคป ตอนนี้สนใจมนุษยวิทยาก็ทำงานถ่ายภาพสารคดี” เหมือนกับว่าการทำงานกับการใช้ชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน คงเป็นความฝันของช่างภาพหลายคนที่สามารถเลือกชีวิตและได้ทำงานที่สนใจ ลงตัว อยู่ได้จริง และมีความสุข
“แล้วการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์คนเดียวละ พี่ทำเพื่ออะไร ไปถ่ายภาพหรือเปล่า” ผมถามเพราะเห็นภาพถ่ายชุดหนึ่งของเขาที่ขี่มอเตอร์ไซค์เดี่ยวๆไปตามดงดอยในภาคเหนือ รอนแรมไปเรื่อยๆคล้ายการพเนจรแสวงบุญ การเดินทางทุกครั้งผ่านการเตรียมตัวอย่างดีทั้งเส้นทางและอุปกรณ์ยังชีพ เหมือนการฝึกภาพสนาม เพื่อเตรียมร่างกาย และจิตใจให้พร้อม เมื่อถึงเวลามีงานที่ต้องใช้พละกำลังและเรี่ยวแรง เขาจะทำมันได้ในทันที
“อารมณ์ของผมมันเลยการเดินทางท่องเที่ยวแบบนั่งชายหาดตากลมทะเลมาแล้ว มันต้องมีมิชชั่น คือไปทำอะไรบางอย่างถึงจะสนุก” เขาตอบพร้อมรอยยิ้มสนุกๆ พร้อมกับเล่าถึงเสน่ห์ของการขี่มอเตอร์ไซค์ในคืนเดือนหงายผ่านป่าเขาดงดอย กับสมาธิหลังแฮนด์มอเตอร์ไซค์และวิวสองข้างทางใต้แสงจันทร์ อย่างไรก็ตามการออกทริปปีละครั้ง (เป็นอย่างน้อย) ของพี่วินัยไม่ได้เป็นการไปเที่ยว อย่างที่บอกมันเป็นมิชชั่น ดังนั้นการขี่มอเตอร์ไซค์จะต้องรอบคอบหากมีปัญหาอะไรจะต้องหาทางหนีทีไล่ไว้ เช่นเห็นชุมชนหมู่บ้านครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ปั้มน้ำมันอยู่ที่กิโลเมตรที่เท่าไหร่ เผื่อมีปัญหาเราจะได้ประเมินได้ว่าจะย้อนกลับทางเดิม หรือไปตายเอาดาบหน้า
ยิ่งฟังยิ่งสนุก แต่การเดินทางแบบนี้ใจไม่แกร่งร่างกายไม่ดีคงไปไม่ได้ไกล ผมได้แต่นั่งฟังอ้าปากค้างและดื่มเบียร์แก้อิจฉาเพราะเงื่อนไขในชีวิตและการฝึกฝนไม่ได้เทรนมาแบบนั้น
การสนทนายังไม่จบแต่ร้านจะปิดแล้ว เราย้ายออกไปดื่มกันต่อริมถนนตรงข้ามหัวลำโพง มันเป็นบาร์เล็กๆร้านประจำของพี่วินัย คืนนั้นลมเย็นไฟกลางคืนเปิดเป็นหย่อมๆ มีคนจร คนแปลกๆเดินไปมา บ้างก็แวะเข้ามาคุย มันเป็นเสน่ห์และความไม่ไว้วางใจในบางอารมณ์ของสถานที่ที่มีคนหลากหลายปะปนกัน
“ดื่มกันอีกหน่อยนะ นานๆจะได้เจอกันที สมัยก่อนผมไม่ค่อยนอนนะ กลางคืนผมจะขี่มอเตอร์ไซค์ถ่ายภาพไปเรื่อยๆ สนุกดี” เขาพูดหลังจากหยิบกล้องออกมาสแนปภาพคนจรที่เดินเข้ามาคุยที่โต๊ะ ส่วนกล้องของผมถูกเก็บไว้ในกระเป๋าตั้งแต่เย็น ผมปล่อยตัวเองดื่มด่ำกับบรรยากาศ บทสนทนา และอากาศแปลกๆคืนนั้น เจ้าของบาร์เป็นแม่ลูกดูเหมือนนักแสดงในฉากมากกว่าเป็นเจ้าของบาร์จริงๆ ฝรั่งโต๊ะข้างๆนั่งกินเบียร์คนเดียวกับสายตาลอยๆ ควันบุหรี่เมื่อออกจากปากของหนุ่มออฟฟิศที่นั่งคุยกันลอยเห็นเด่นชัดในแสงไฟ และหายไปในกลางคืนพริบตาเดียว
ผมนั่งคุยกับพี่วินัยบนโต๊ะพับที่หลบเข้ามาจากถนนท่ามกลางบรรยากาศแปลกๆ เหมือนจริงและเหมือนไม่จริง
อาคารโค้งของหัวลำโพงในแสงสปอตไลท์มีสีดำของท้องฟ้าเป็นฉากหลังสวยอย่างที่มันเคยสวยสมัยที่ผมเริ่มหัดถ่ายภาพ
เมื่อถึงเวลาต้องลาจาก เราเดินจากร้านเบียร์ไปเรียกแท๊กซี่ ถนนโล่งสะท้อนแสงสีเหลืองส้มจากโคมไฟแสงจันทร์ และแสงสีอมเขียวนีออนของสถานีรถไฟฟ้าซึ่งปิดทำการไปแล้ว เราเดินผ่านคนจรที่นอนบนฟุตบาทเรียงราย ผ่านแม่ค้าส้มตำหลายหาบปูเสื่อวางเคียงกัน
“เขาขายส้มตำ หรือเขาขายอย่างอื่นด้วย” ผมถาม
“แต่ก่อนที่ได้ยินมาเขาอาจขายอย่างอื่นด้วย แต่เราอย่าพึ่งด่วนสรุป เวลาเปลี่ยนไปคนเปลี่ยนแปลง มันอาจมีอย่างอื่นที่เราไม่รู้” พี่วินัยตอบด้วยความเป็นนักข่าวที่เล่าเรื่องด้วยภาพมืออาชีพไม่ด่วนสรุป จำเป็นต้องมีข้อมูลรอบด้านก่อน อย่าฟังเขามา อย่าด่วนสรุปด้วยอคติ คำตอบของเขาเป็นเช่นนี้ แบบเดียวกับเรื่องอื่นๆที่ผมถามในบทสนทนาของวันที่ผ่านมา
*
Updated :
ขอแสดงความยินดีกับพี่วินัย ที่ได้รับเลือกไปแสดงงานภาพถ่ายสารคดีที่โคเรียนะครับ :
6th Suwon International Photo Festival will take place in the city of Suwon, Korea, during 1-10 November 2019.
ภาพที่นำไปแสดงเป็นภาพชุดเรื่อง Thailand's Reds and Yellows จัดแสดงในส่วนของศิลปินรับเชิญ พื้นที่นิทรรศการหลัก หัวข้อ LONG MARCH, HOW TO BUILD REPUBLIC? ได้แสดงภาพใหญ่ทั้งหมด 14 ภาพ ร่วมกับเรื่องราวของศิลปินแนว Documentrary & Photojournalist จากหลายๆประเทศ
เรื่องที่พี่วินัยเล่าเป็นเรื่องราวเริ่มต้นของความขัดแย้งในสังคมไทยตั้งแต่เริ่มขบวนการเสื้อเหลืองตั้งแต่ พศ 2548 เรื่อยมาจนรัฐประหารปี 2549 จากนั้นเกิดการต่อต้านจนเริ่มมีขบวนการคนเสื้อแดง แล้วเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องรุนแรงจนสู่การสลายการชุมนุม ปี 2553 และการรัฐประหารปี 2557
*
ภาพพอร์ทเทรท | ความเรียง โดย ศุภชัย เกศการุณกุล
*เผยแพร่ครั้งแรกที่นิตยสารไรท์เตอร์
Comments