ศักดิ์ดา แก้วบัวดี Laurent Vaysse
Updated: Dec 4, 2021
โรงเรียนชายล้วนตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย จำนวนเพื่อนที่เข้ามาเรียนด้วยกันเรารู้จักกันเป็นส่วนใหญ่เพราะอยู่ร่วมกันมาสิบเอ็ดสิบสองปี มีเพื่อนบางคนแปลกกว่าคนอื่น ในตอนแรกเมื่อสังเกตเพื่อนบางคนมีความเป็นสาว เราสงสัย ห่างเหิน และพวกเขาจะอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ค่อยๆเรียนรู้เรากลับมาเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม สมัยนั้นเรารู้จักเพียงคำว่าตุ๊ด หรือกระเทย ส่วนคำว่าเกย์นั้นเป็นคำที่เรียนรู้ภายหลังเมื่อเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เขาไม่แสดงออกว่าเป็นหญิง ในเวลาต่อมาจึงได้รู้ว่าเพื่อนสมัยเด็กที่ผมสนิทมากบางคนก็เป็นเกย์ เมื่อเขามาเล่าให้ฟัง

เพื่อนที่เป็นกระเทยก็เหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีทั้งห่าม เกเร บางคนเรียบร้อย ขยันเรียน บางคนนุ่มนิ่ม ไม่ค่อยพูดคุย แต่อย่างไรเราเป็นเพื่อนกัน สนิทกันบ้าง ห่างเหินกันบ้าง ถูกแกล้งบ้าง และแกล้งคนอื่น เพื่อนที่เป็นตุ๊ดเป็นกระเทยจะถูกแกล้งเป็นพิเศษ ผมก็ชอบแกล้งเหมือนกันตามประสา แต่ไม่เคยดูถูก เหยียดหยาม หรือ มองเขาเป็นอื่น เขาจะรู้สึกลึกๆในใจอย่างไรผมไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะในช่วงวัยเด็กผมไม่เคยคิด หรือรู้สึกแทนเพื่อนที่เป็นกระเทยนั้นจะรู้สึกอย่างไร เพียงแต่รู้สึกว่าได้แกล้งแล้วสนุก ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าความเป็นตุ๊ด เป็นเกย์นั้นเป็นเรื่องปกติ
.
ศักดิ์ดา
ผมรู้จักศักดิ์ดาในจอภาพยนตร์ เขาเป็นนักแสดงประจำในหนังที่มีรสชาติแปลกประหลาดหลายเรื่องของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล) และมีโอกาสพบเจอเขาเมื่อเพื่อนคอลัมนิสท์ชวนไปถ่ายภาพเพื่อสัมภาษณ์ 10 หนังในดวงใจของเขาเพื่อลงในนิตยสารภาพยนตร์ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว มีหลายเรื่องที่เหมือนกับผม แต่ขณะที่ฟังเขาเล่าเรื่องภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้น เหมือนฟังคำบรรยายของคนรักภาพยนตร์ตัวจริงที่มีข้อมูล และการเล่าเรื่องย่อได้อย่างกระชับ ขณะเดียวกันก็เก็บรายละเอียดได้อย่างดี

ศักดิ์ดาเป็นคนเมืองกาญจนบุรีในชนบทอันห่างไกล เขาเข้ามาผจญภัยในกรุงเทพเมื่อเริ่มถึงวัยต้องหาเลี้ยงตัวเอง และอยากเรียนต่อในมหาวิทยาจึงต้องทำงานส่งตัวเอง ศักดิ์ดาทำงานสารพัด ตั้งแต่คนงานก่อสร้าง พนักงานขายในเคเอฟซี พนังงานเซเว่น และงานในบาร์ กระทั่งวันหนึ่งขณะเดินอยู่บนถนนสีลมถูกทักโดยชายแปลกหน้าให้ไปลองเทสท์หน้ากล้อง เขาไม่แน่ใจว่ามันเป็นการหลอกลวงหรือเปล่า ศักดิ์ดาลังเลอยู่หลายวันกระทั่งตัดสินใจโทรศัพท์ไปตามนามบัตรที่ยัดใส่มือของเขา และการคุยโทรศัพท์ครั้งนั้นเป็นวินาทีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา ศักดิ์ดาได้แสดงภาพยนตร์หลายเรื่องจากผู้กำกับคนเดียวกัน ได้ไปงานเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก และมีโอกาสแสดงในภาพยนตร์ต่างประเทศ เขาได้พบเจอคนจำนวนมาก กระนั้นการแสดงยังไม่สามารถเป็นการงานเต็มเวลาของชีวิตที่ต้องดำเนินไป เขาทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงชีพ และรอเวลาที่จะกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้ง
ผมติดตามอ่านสเตตัสใน FB ของเขาสม่ำเสมอ และสนใจที่เขาไปเยี่ยมผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ ศักดิ์ดาไปเยี่ยมผู้ต้องขังอย่างสม่ำเสมอ และช่วยเหลือประสานงานจนบางคนได้ไปอยู่ในประเทศที่ 3 บางสเตตัสเขาเล่าประวัติชีวิตของผู้หลบหนีเข้าเมืองเหล่านั้น มีสเตตัสหนึ่งเขาเขียนระบายตัดพ้อความไม่เปิดกว้างระหว่างเพื่อนที่พูดทำนองดูถูกความเป็นเกย์ของเขา ทำให้ผมสนใจอยากคุยเรื่องนี้กับเขา อาจเป็นเพราะผมอยากรู้ว่าเพื่อนของผมในวัยเด็กรู้สึกอย่างไรก็ได้ เรานัดกันในอีกหลายวันต่อมาที่อพาทเมนท์ย่านอารี
“ที่เคยพบมามันมากกว่านี้ แต่ที่เขียนวันนั้นเพราะได้พบเจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานาน รู้สึกผิดหวังที่มันยังเป็นเหมือนเดิม” เขาเล่าเมื่อผมถามว่ารู้สึกอะไรจึงเขียนระบายอารมณ์ออกมาแบบนั้น
น้ำเสียงของเขาราบเรียบ โมโนโทน สีหน้านิ่งเฉย ไม่แสดงอารมณ์ เหมือนเป็นธรรมชาติที่เขาเคยชินกับการควบคุมอารมณ์ ทำให้ผมนึกถึงบทบาทการแสดงของเขา เขาตอบบางคำถามผ่านการเรียงลำดับการเล่าเรื่องอย่างดี และเรียบง่ายเหมือนบทภาพยนตร์ที่ไม่เร้าอารมณ์เรื่องหนึ่ง
ตั้งแต่เด็ก ศักดิ์ดาถูกเพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ด ถูกครูล้อว่าเป็นผัวเมียกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งเห็นใจเขา จึงเลือกที่จะนั่งคู่กับศักดาในขณะที่เพื่อนๆในห้องคนอื่นๆต่างเว้นระยะห่าง ศักดิ์ดาได้แต่อดกลั้น น้อยใจ บางครั้งถูกล้อมากเข้าก็อดทนอดกลั้นไม่ไหวมีชกต่อยกันบ้าง ในวัยเด็กเขารู้สึกแตกต่างแต่ไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่เขาเป็นนั้นคืออะไร ในมุมมองของเด็กคนหนึ่งที่เติบโตในชนบทขนาดที่เขาเรียกว่าหลังเขา เขาไม่เห็นความแตกต่างเพราะมองไปรอบๆตัวก็มีแต่ผู้ชายเหมือนๆกันทั้งนั้น
เมื่อชีวิตเติบโตแยกย้าย เขาเลือกมาทำงานและใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ที่ซึ่งสอนบทเรียนของความหลากหลายให้ ศักดิ์ดาเรียนรู้ว่านอกจากความเป็นหญิง ความเป็นชาย แล้วยังมีเพศภาพที่เรียกว่าเกย์ เมื่อเขารู้จักกับสิ่งที่ตัวเองเป็น และเป็นตัวของตัวเอง ชีวิตดูเหมือนจะง่ายขึ้น และดำเนินต่อไปในทางที่ดี หลายปีต่อมาเขาตัดสินใจบอกพ่อแม่ว่าเขากำลังจะจดทะเบียนกับแฟนหนุ่ม ซึ่งทั้งสองเปิดใจยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัย ชีวิตของศักดิ์ดาจึงคลี่คลายไปในทางที่ควรจะเป็น
.
Laurent
โลรองต์ เป็นชาวฝรั่งเศสจาก Clermont Farrend (แคลร์มงต์ แฟร์รองด์) เขาร่ำเรียนมาทางวิศวกรรมเกษตร เมื่อเรียนจบเขามุ่งมั่นเป็นอาสาสมัครอยากทำงานต่างประเทศ จึงไปสมัครเข้าทำงานในสถาบันวิจัยการเกษตร (CIRAD) ไม่นานเขาถูกส่งไปทำงานเป็นนักวิจัยพันธุ์พืชในประเทศกีนี (Guinea-Conakry) อาฟริกาตะวันตก จากนั้นเขาถูกส่งมายังกรุงเทพซึ่งสถาบัน CIRAD ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์เพื่อวิจัยคุณภาพของน้ำยางพารา โลรองต์มาถึงกรุงเทพครั้งแรกปี 2001 โดยไม่รู้จักเมืองไทยมาก่อน เขามาเพื่อก่อตั้งศูนย์วิจัยคุณภาพน้ำยางพาราและช่วยสร้างนักวิจัยไทยขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ในปีแรกเขาเมื่อมาอยู่ได้ 2 เดือนเขาถูกส่งไปไนจีเรีย (Nigeria) และโคท ดิวัวร์ (Côte d'Ivoire) เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับยางพารา

“ทำไมศูนย์วิจัยยางพาราอยู่ในอาฟริกา” ผมสงสัย เพราะในละแวกเอเชียอาคเนย์นี้ก็เป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญ
โลรองต์บอกว่านโยบายของประเทศฝรั่งเศส และศูนย์วิจัยที่เขาทำงานอยู่มีพันธะที่จะพัฒนาประเทศในทวีปอาฟริกา จึงมีการลงทุนศึกษาวิจัยจำนวนมากที่นั่น และศูนย์วิจัยยางพาราที่ว่าก็มีมานานแล้ว อีกอย่างในเอเชียนั้นแม้จะมีการปลูกยางพาราจำนวนมาก แต่การต่อยอด หรือถ่ายทอดความรู้ความชำนาญให้ฝรั่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันง่ายๆ อย่างไรก็ตาม 6เดือนต่อมาเมื่อสำเร็จจากการเรียนรู้ในอาฟริกา โลรองต์นำความรู้กลับมาที่กรุงเทพและทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อเนื่องกว่า 10 ปี
สำหรับชีวิตส่วนตัวของโลรองต์ในวัยเด็กนั้นดูเหมือนชีวิตจะง่ายกว่า กดดันน้อยกว่า เมื่อเติบโตในสังคมที่หลากหลาย จะมีความทุกข์ก็เพียงแต่การยอมรับตัวเองเท่านั้น เขาเคยมีเซ็กส์กับหญิงสาวเพื่อทดลอง และเพื่อที่จะทดสอบความสงสัยในความเป็นเขา และพบว่าหญิงสาวไม่ใช่ส่วนที่จะมาเติมเต็มชีวิต กระทั่งเขาทดลองมีเซ็กส์ครั้งแรกกับเพศเดียวกันเขาจึงพบสิ่งที่ขาดหายไป
.
ความรัก
ศักดิ์ดา และโลรองต์ พบกันครั้งแรกในเหตุการณ์ที่ค่อนข้างแปลก มันเป็นช่วงเวลาอ่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญที่มีย่านธุรกิจเป็นตัวประกัน สีลม สยาม สุขุมวิท อณุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดินแดง และที่อื่นๆ ในเวลานั้นบ่มเพาะความตึงเครียดจนสามารถเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ กระนั้นโลรองต์ใช้ชีวิตเป็นปกติ เขานัดเพื่อนไว้ที่เซ็นทรัล เวิลด์ แต่เป็นอันต้องยกเลิกเพราะไม่สามารถเข้าไปข้างในห้างฯได้ และวันนั้น 19 พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองได้ดำเนินมาสู่จุดสูงสุดวันนั้นพอดีเมื่อ เซ็นทรัล เวิลด์ถูกวางเพลิง
ท่ามกลางควันดำที่ปกคลุมกรุงเทพ และความรู้สึกหดหู่ของคนไทย โลรองต์เลี่ยงโศกนาฎกรรมไปหาเพื่อนอีกคนที่อพาทเมนท์ย่านอารี ส่วนศักดิ์ดาไปอาศัยนอนพักที่อพาทเมนท์ของเพื่อนคนเดียวกันนี้หลายวันแล้ว เพราะสถานการณ์ที่สามแยกดินแดงซึ่งเป็นที่พักของเขามีการประทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมค่อนข้างรุนแรง ด้วยชะตาชีวิต พรหมลิขิต หรือไฟไหม้ที่เซ็นทรัล เวิร์ดก็ตาม ชีวิตของคนสองคนที่มาจากคนละซีกโลกจึงได้มาพบกัน ที่อพาทเมนท์ย่านอารีย์แห่งนั้น เขาทั้งคู่ได้สบตากัน สนทนากัน นัดพบกัน รักกัน และใช้ชีวิตร่วมกันในที่สุด เหมือนลำธารที่ก่อกำเนิดคนละแห่งไหลผ่านโตรกหิน เบี่ยงเบนออกไปไกล แล้วที่สุดไหลวกกลับมาบรรจบกัน
กระนั้นสายน้ำย่อมมีอุปสรรค ความรักไม่ต่างกัน เมื่อสัญญาทำงานของโลรองต์สิ้นสุดเมื่อปี 2012 เขาถูกเรียกตัวกลับฝรั่งเศส โดยอาชีพการงานและโดยความรับผิดชอบอย่างไรโลรองต์ก็ต้องกลับไป โลรองต์บอกว่ามันเป็นการตัดสินใจของศักดาเพียงคนเดียว ไม่ใช่การตัดสินใจของคู่รัก เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น แม้ว่าในชีวิตส่วนตัวเขาอยากจะยืดระยะเวลาของความสัมพันธ์นี้ออกไปในนานที่สุดก็ตาม
สำหรับศักดิ์ดา หลังจากจบการแสดงเรื่องลุงบุญมี ของพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ แล้ว ดูเหมือนจะยังไม่มีงานแสดงเข้ามาในระยะเวลาอันใกล้ โปรเจคใหม่ก็ยังไม่มีวี่แวว อีกทั้งเขาได้ลาออกจากงานประจำแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะพาชีวิตกลับเมืองกาญจน์หรือจะไม่ การตัดสินใจครั้งนี้จึงเป็นทางเลือกระหว่างดำเนินความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยยอมเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง หรือจะย้อนเวลากลับไปใช้ชีวิตเดี่ยวๆเหมือนช่วงเวลาก่อนที่จะพบกับโลรองต์
ในที่สุดศักดิ์ดาก็ตัดสินใจ
เปรียบเหมือนลำธารเล็กๆสองสายไหลมารวมกัน สายน้ำสองสายย่อมไม่เหมือนเดิม ชีวิตของศักดาเปลี่ยนอีกครั้ง เขาและโลรองต์ จดทะเบียนใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน (PACS) ช่วยกันซ่อมแซมปรับปรุงอพาทเมนท์ของโลรองต์ที่มงต์เปอลีเยร์ให้น่าอยู่ขึ้น ศักดิ์ดาใช้เวลาในการเรียนภาษา วัฒนธรรม และเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่ เมื่อว่างในการเรียนภาษาฝรั่งเศส เขาสอนชาวฝรั่งเศสทำอาหารไทย ผ่านไปราว 3 ปี ศักดิ์ดาปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตสงบสุขในสังคมที่เปิดกว้าง ชีวิตเหมือนจะไปได้อย่างราบรื่น ปลอดโปร่ง แต่แล้วโลรองต์ก็ถูกส่งกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง
ห่างเมืองไทยไปสักพัก กลับมาเมืองไทยคราวนี้กลับสร้างความหงุดหงิดให้ศักดิ์ดาบ้างเมื่อชีวิตคู่ของเขาถูกลอบมองจากสายตาหลายคู่ ซุบซิบ นินทา เขาพยายามทำใจกับสังคมอนุรักษ์นิยมที่ไม่เปิดโอกาสให้กับความรัก มันน่าอึดอัด แต่ก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไป ไม่ต่างจากการถูกล้อในชีวิตวัยเด็กของเขามากนัก
บางครั้งสายน้ำไหลเชี่ยว บางคราวเนิบนาบ ขึ้นอยู่กับความสูงชันของภูมิประเทศ และมีโตรกหินให้ไหลข้ามผ่านไปอีกหลายครั้งของสายน้ำชีวิตที่ยาวไกล ศักดิ์ดาและโลรองต์ยังจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้งในอีกสองปี เมื่อสัญญาการทำงานจะหมดลง สำหรับโลรองต์ เขาตัดสินใจแล้วว่าไม่อยากใช้ชีวิตทำงานในเมืองไทยอีก เพราะข้อจำกัด และระดับความสามารถในการปรับเปลี่ยนของการศึกษาไทยนั้นต่ำเกินไป เขาอาจไปในประเทศอื่นในเอเชีย อาจเป็นเวียดนาม หรือมาเลเซีย อนาคตนั้นยังไม่อาจรู้ได้ ส่วนศักดิ์ดานั้นกำลังคิดว่าเขาจะตัดสินใจใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปอย่างไร
*
ศักดิ์ดา แก้วบัวดี | นักแสดง
Laurent Vaysse | Agriculture Engineer | วิศวรกรด้านการเกษตร
Medium Fomat 6 x 6
Black and White Negative Film
PACS (Pacte Civil de Solidarité) เป็นกฏหมายที่ตราขึ้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 1999 ว่าด้วยการจดทะเบียนใช้ชีวิตคู่ในฝรั่งเศส ทั้งคู่รักเพศเดียวกัน และต่างเพศ คู่ชีวิตจะได้รับสิทธิบางอย่างเช่น หลักประกันสุขภาพจากคู่ชีวิต และการจ่ายภาษีร่วมกัน แต่ไม่ได้รับสิทธิอื่นๆ เท่ากับการจดทะเบียนสมรส
ปี 2013 สถิติการจดทะเบียนชีวิตคู่สำหรับคู่รักต่างเพศ 162,072 คู่ และ คู่รักเพศเดียวกัน 6,054 คู่
18 พฤษภาคม 2013 ประเทศฝรั่งเศสรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นประเทศที่ 9 ในยุโรป และ 14 ในโลก
29 พฤษภาคม 2013 การแต่งงานระหว่าง Vincent Austin และ Bruno Boileur เป็นการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันคู่แรกในฝรั่งเศส