ผมชอบการเดินทางโดยรถไฟ เมื่อมีโอกาสและเวลาผมยังเลือกรถไฟ อารมณ์การนั่งรถไฟระยะไกลไม่เหมือนกับนั่งรถทัวร์ หรือเครื่องบิน มันมีเสน่ห์ที่เป็นเฉพาะ คราวนี้ก็เหมือนกันเรามีนัดถ่ายภาพพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ต้นฤดูหนาวปี 2014 ผมเลือกการเดินทางแบบช้าๆโดยรถไฟตู้นอนพัดลม กรุงเทพ-เชียงใหม่
12:45 pm. หัวลำโพง
ผมมาถึงโบกี้ของผมและนั่งรอรถไฟก่อนถึงเวลาสิบกว่านาที หยิบหนังสือมาอ่านรอเวลาพลางคิดในใจว่ารถไฟไทยจะตรงเวลาไหม ยังไม่ทันที่คำถามในหัวจะจบประโยคดี รถไฟตู้นอนพัดลมก็กระชากตัวออกเดินทางไปบนรางเหล็ก ผมกำลังนั่งถอยหลังไปเชียงใหม่ กลิ่นเฉพาะตัวของเบาะ กลิ่นห้องน้ำ ควันไอเสีย สนิม และอากาศเย็นๆลอยเอื่อยปะปนกันในโบกี้รถไฟ
คำนวณว่าเราจะถึงเชียงใหม่เช้ามืด รอดูกันว่าจะตรงเวลาไหม...
การที่ต้องทำงานถ่ายภาพคนที่เชียงใหม่โดยนั่งรถไฟไปคงเป็นความคิดที่เชยสิ้นดี แต่รถไฟเคยเป็นฉากหลายๆหนเมื่อผมคิดจะถ่ายภาพคน ผมเคยคิดว่าอยากถ่ายพี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง)บนรถไฟเหมือนกันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเพื่อลงนิตยสาร OPEN ผมอยากเดินทางบนรถไฟไปพร้อมๆกับเขาและถ่ายภาพพี่จุ้ยบนนั้น แต่ผิดแผนพี่จุ้ยขับรถมารับพวกเราขึ้นเชียงใหม่ ถึงบัดนี้ยังไม่เคยได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจไว้
นักเขียนหนุ่มตามขึ้นมาบนรถไฟพร้อมถุงทะเลและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เขาสะกิด
ผมสะลึมสะลือ ลืมตาทักเขา "ถึงไหนแล้วเนี่ยะ"
"สามเสน !! ทำไมดูเหนื่อย เหมือนนั่งมานานแล้วว่ะ พึ่งออกมาจากหัวลำโพงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ไม่ใช่หรือ"
"นั่งถอยหลังก็แบบนี้แหละ เพลีย และเมา" ผมบอก พลางขอเปลี่ยนที่นั่งกับเขา
เรานั่งกินลมชมตึกกันไปเรื่อย เมื่อถึงวิวทุ่งนาเวลาแดดร่มลมตก เหมือนรู้ใจเราชักชวนกันไปตู้เสบียงที่อยู่ถัดไปสองโบกี้ ตามฟอร์มเราเรียกเบียร์มาดื่ม นั่งคุยกันสารพัดเรื่องราว พลางมองทุ่งนาที่ผ่านสายตาเราไปเพลิดเพลินดีแท้ แดดลดองศาต่ำลง อากาศเย็นสบาย สีของทุ่งนาเพิ่มความเข้มเป็นเขียวสดและทอดเวลาของทุ่งนาให้ยาวนานขึ้น สี่ห้าโต๊ะในโบกี้ถูกจับจองจนเต็ม เรากำลังเดินทางขึ้นเหนือไปเรื่อยๆพร้อมๆกับกระป๋องเบียร์ที่เพิ่มขึ้นบนโต๊ะ
“ทำไมเราไม่สั่งเป็นขวดมา” เราถามกันและกัน
ได้คำอธิบายกลับมาว่า "ไม่นึกว่าจะกินเยอะกันขนาดนี้"
แม้จะเพลิดเพลินกับฟองเบียร์ และบทสนทนาอันหลากหลาย สมองยังแบ่งส่วนหนึ่งไว้คิดเรื่องการงาน
ผมกำลังคิดว่าพี่เจ้ยเป็นคนยังไง บุคคลิกแบบไหน และจะถ่ายภาพเขาอย่างไร
อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ผมใช้ดิจิตอลในการถ่ายภาพสัมภาษณ์ และพกมาตัวเดียว ซึ่งปรกติผมเมื่อถ่ายภาพโดยใช้กล้องฟิล์มผมจะมีกล้องสำรองอีก 1 ตัว จริงอยู่กล้องดิจิตอลได้พัฒนามาสิบกว่าปี ความสามารถและความฉลาดของมันพัฒนาไปมาก แต่บางทีมันฉลาดเกินไปจนทำให้ความสามารถของเราถูกลดทอนลง ทักษะและความเชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมกล้องถูกละเลย อีกทั้งนิสัยการทำงานอาจจะเปลี่ยนไป ผมเคยใช้กล้องดิจิตอลมา 2-3 ตัวแต่ใช้ได้ไม่นานก็ขายทิ้งเพราะไม่ถนัดกับระบบออโต้โฟกัส และสังเกตว่ากล้องดิจิตอลทำให้ผมถ่ายภาพเยอะขึ้น ทำงานมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้งทำให้ขณะทำงานไม่มั่นใจในการวัดแสงต้องคอยตรวจเช็คภาพที่จอหลังกล้องบ่อยๆจนเป็นนิสัย ผมไม่ชอบลักษณะการทำงานแบบนี้เอาเสียเลย ผมตั้งใจว่าจะถ่ายภาพให้น้อยลงเพื่อพัฒนาความแม่นยำ อีกทั้งราคาของฟิล์มที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ
ผมเป็นช่างภาพแบบโอลด์สคูลที่เรียนรู้การถ่ายภาพและยังสนุกกับการใช้ฟิล์ม ยังตื่นเต้นกับการรอลุ้นผลงานของตัวเองเมื่อล้างฟิล์ม ซึ่งบางครั้งใช้เวลาเป็นวันถ้างานรีบ เป็นเดือนถ้าไม่รีบมาก และอาจเป็นปีเมื่อไม่รีบและลืมมันไปแล้ว จนมาค้นพบอีกครั้งนานหลังจากนั้น ภาพถ่ายจากฟิล์มทำงานของมันผ่านเวลา มันดึงช่วงเวลาที่เรามองผ่านวิวฟายเดอร์กลับมาพร้อมๆกับเห็นตัวเองกำลังถ่ายภาพในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น อดีตกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ภาพถ่ายยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากเท่านั้น
ในชีวิตจริงแม้จะไม่ได้รู้จักกัน, พี่เจ้ยเป็นเหตุให้ผมมีเรื่องคุยกับเพื่อนใหม่ๆที่ปารีสเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วขณะใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ที่นั่นโดยไม่หงอยเหงาเกินไป เพื่อนชาวฝรั่งเศสบางคนเดินมาหยุด และทำท่าแบบจาพนม 2-3 ท่าต่อเนื่องกันต่อหน้าผม แล้วพูดชื่อหนังแบบสำเนียงฝรั่งเศสว่า องบั๊ก องบั๊ก จากนั้นยกนิ้วโป้งให้เมื่อรู้ว่าผมเป็นคนไทย ตอนนั้นนอกจากองค์บากซึ่งเป็นภาพยนตร์เมนสตรีมที่โด่งดังมาก ยังมีสุดเสน่หา Blissfully Yours เจ้าของรางวัล Un Certain Regard ปี 2002 จากเทศกาลภาพยนตร์เมือง Cannes เป็นหนังทางเลือกที่โด่งดังในฝรั่งเศสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้จะไม่ดังเปรี้ยงปร้างแต่ยืนโรงอยู่ในโรงหนังประเภท Art&Essay นานหลายเดือน เมื่อเรื่องสัตว์ประหลาด Tropical Malady ตามมาฉายใน 2ปีถัดมา ได้รางวัล Prix du Jury ที่ Cannes จึงมีการนำหนังของพี่เจ้ยกลับมาฉายใหม่เป็นชุด ผมเข้าไปดู สัตว์ประหลาด 3 รอบด้วยความคิดถึง และตื่นตะลึงในความสงัดของป่าเมืองร้อน
เขาเป็นประเด็นให้ผมมีเรื่องคุยเวลาพบเพื่อนใหม่ และเป็นคนไทยชาติเดียวกับอภิชาติพงศ์ผู้กำกับภาพยนตร์
ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ คนที่ชอบก็ชอบอย่างหลงใหล ใครไม่ชอบก็ถึงขนาดไม่เหลียวแลเลยก็มี แต่สิ่งที่ภาพยนตร์ของเขานำมาคือรสชาติแปลกใหม่ของการเล่าเรื่อง การทดลองทั้งเนื้อหา และเทคนิควิธี บรรยากาศดิบๆ จริงๆ ทำให้การชมภาพยนตร์ไม่น่าเบื่อจนเกินไปนัก เหมือนที่คุ้นชินกับหนังผี ตลก โรแมนติค และยิ่งกว่านั้นภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์มีเนื้อหาบางอย่างนอกเหนือไปจากความบันเทิงทั่วๆไป
เราเดินเซกลับมาที่ตู้นอนตอนหัวค่ำ ไม่แน่ใจว่าที่เราเดินเซเพราะฤทธิ์เบียร์ หรือการโยกคลอนของรถไฟ เพียงคิดเข้าข้างตัวเองว่าคงเป็นอย่างหลัง แน่นอนมันคงเป็นอย่างหลัง
คำนวณว่าเราใช้เวลาไปที่ตู้เสบียง 8ชั่วโมง... ครึ่งทางของการเดินทางอันยาวนานนี้พอดี
พลางคิดในใจว่าถ้านั่งเครื่องบินในเวลา 16 ชั่วโมงเท่าๆกัน ผมคงได้ไปนั่งจิบกาแฟที่ปารีสแล้ว แต่หากเป็นเช่นนั้น 8ชั่วโมงของการดื่มเบียร์มีลมปะทะหน้า นั่งคุยกับเพื่อนพลางเหม่อมองไปยังวิวสีเขียวนวลตาข้างทางในแสงเย็น คงไม่เกิดขึ้น
ความทันสมัยบางครั้งก็ทำให้ต้องละทิ้งความรื่นรมย์ของความรู้สึก
เตียงถูกเตรียมไว้แล้ว สะอาดสะอ้านนุ่มนิ่มน่านอน ไม่มีริ้นไร
ผมไต่ขึ้นไปนอนชั้นบน และนอนขดตัวหลับอย่างรวดเร็ว อากาศเย็นของลมหนาวแทรกเข้ามาทางช่องว่าง และซึมเข้ามาทางผนังเหล็ก ผ้าห่มผืนเดียวของการรถไฟเอาไม่อยู่ เท้าเย็นเยียบ ทำให้ผมตื่นเป็นระยะ แต่เมื่อลืมตาขึ้นมาเห็นในโบกี้ยังมืดอยู่ ผมหลับต่ออย่างอ่อนเพลีย
04:16 am. เชียงใหม่ รถไฟจอดที่ชานชาลาช้ากว่าที่กำหนดไว้สิบกว่านาที สำหรับผมถือว่าตรงเวลา...
อากาศเย็น จนฟันกระทบกัน ตัวสั่นระริก ผมรีบปีนลงจากที่นอนใส่รองเท้า แบกกระเป๋าลงมาหาเสื้อกันหนาวข้างล่าง หาอาหารเช้า กาแฟ และรอเวลาฟ้าสาง
เช้าวันต่อมา เราขับรถไปแม่ริมที่ตั้งบ้านพักและที่ทำงานอันเงียบสงบของผู้กำกับภาพยนตร์คนนี้ เจ้าของบ้านเปิดประตูมารับพร้อมกับหมาพันธุ์บอสตันเทอร์เรียสีขาวดำสองตัวชื่อคิงคองกับก็อตซิลล่า มันเป็นบ้านหลังหนึ่งที่มีสระน้ำอยู่กลางที่ดิน ต้นไม้ปกคลุมทั่วทั้งบริเวณ ตัวบ้านกระทัดรัดไม่ใหญ่ไม่เล็กซุกตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้เขียวชอุ่ม แสงแดดทอแสงมาที่ตัวบ้าน ไม่ร้อนทั้งมีลมเย็นพัดโชยมาสม่ำเสมอ จะว่าไปมันเป็นที่ซุกตัวทำงานอันเงียบสงบที่เหมาะสมกับการสร้างงานอย่างยิ่ง ถ้าเผอิญว่าไม่ขี้เกียจ และเป็นคนมีวินัยในการทำงานอย่างซื่อสัตย์ต่องาน และต่อตัวเอง แน่ละพี่เจ้ยเป็นบุคคลอย่างหลัง จินตนาการ บทภาพยนตร์ และงานศิลปะ หลายต่อหลายชิ้นเกิดขึ้นที่นี่
ผมไม่แน่ใจนักว่าหากผมอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ผมจะมีแรงผลักดันให้ทำงาน หรือนอนฝันกลางวันกันแน่
เราตรงขึ้นไปที่ชานบ้านชั้นสองเพื่อนั่งคุยกันหลังจากทักทายกันเล็กน้อย ผมถามว่าพี่เจ้ยทำงานที่ไหน เพราะคิดว่าจะเป็นการดีที่ผมจะได้เห็นสถานที่ที่เขาทำงาน เพื่อเตรียมมุมเอาไว้ถ่ายภาพ เขาบอกว่าตรงที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้นี่แหละ เขาหมายถึงชานบ้านเปิดโล่ง บนโต๊ะไม้เนื้อหยาบ มีร่มใหญ่ไว้กันแดด และเบื้องหน้าเป็นสระน้ำที่ขุดไว้เพื่อเลี้ยงปลา มีต้นไม้เขียวชอุ่มรอบบริเวณ มองเห็นท้องฟ้ากว้าง ใต้กันสาดเป็นตู้หนังสือเตี้ยๆที่มีหนังสือเรียงกันอยู่เต็ม
ระยะหลังที่ผมถ่ายภาพให้กับ Writer ผมสังเกตตัวเองว่าภาพถ่ายของผมเริ่มต่างไปจากที่เคยถ่ายให้ Open แน่นอนมันห่างกันสิบกว่าปี อย่างไรต้องมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่มีบางอย่างที่ผมยังยึดถือ ผมยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม เพียงแต่ผมสนใจ "ห้วงขณะ" ของช่วงเวลาที่เราพบกันมากขึ้น ใน Open ผมมักจะเลือกกดชัตเตอร์เมื่อมี eye contact ในลักษณะตั้งใจมอง และวางเฟรมเพื่อเล่าเรื่องว่าคนในภาพคือใคร แต่สำหรับงานช่วงหลังผมมักจะถ่ายภาพจากมุมที่ผมนั่งฟังคำสนทนากันเป็นหลัก แล้วเปลี่ยนมุมตามแต่สถานที่และความรู้สึกนึกคิดขณะนั้น คล้ายกับเรานั่งสนทนากันมากกว่าที่ตั้งใจจะถ่ายภาพ มีอารมณ์ของการผ่อนคลาย ตัวแบบอยู่ในบางอารมณ์ของเขาโดยมีเราร่วมอยู่ด้วย คล้ายกับว่าเป็นความไว้วางใจ เป็นความสนิทสนม เป็นเพื่อน เปรียบเหมือนเขาเชิญเราเข้าไปนั่งสนทนาในสวนหลังบ้าน ต่างจากเราเคยยืนคุยอยู่ที่หนัาประตูบัาน หรือนั่งคุยกันที่หัองรับแขก
หลังจากคุยกันได้สักพัก ผมเตรียมกล้อง วัดแสง และวางแผนว่าผมจะถ่ายภาพตรงไหนบ้าง คราวนี้ผมต้องการภาพดีๆ 5-6 ภาพ เพื่อเป็นปก และภาพประกอบบทสัมภาษณ์ ความจริงการถ่ายภาพครั้งหนึ่งๆเราไม่ต้องการภาพมากมาย ภาพดีๆเพียงไม่ภาพก็เพียงพอ ผมบอกตัวเองอย่างนั้นเสมอทุกครั้งที่ถ่ายภาพ แต่น้อยครั้งท่ีจะยั้งใจไว้ได้ คราวนี้ก็ไม่ต่างจากครั้งอื่นๆ โดยตั้งใจว่าจะทำงานแบบฟิล์มด้วยกล้องดิจิตอล โดยไม่เช็คภาพหลังกล้อง และถ่ายภาพจำนวนน้อยลง แต่ผมทนไม่ได้ที่จะเช็คภาพจากจอหลังกล้องเพื่อดูแสงและองค์ประกอบ แม้ว่าจะแน่ใจเรื่องแสงแล้วว่าพอดี กล้องดิจิตอลทำให้ผมถ่ายภาพมากกว่าเดิมจนอดคิดไม่ได้ว่าเครื่องมือกำหนดวิธีการทำงานของเรามากกว่าที่เราจะใช้มันเป็นเพียงเครื่องมือ หลังจากถ่ายภาพพี่เจ้ยผมยังใช้กล้องดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง แม้จะปรับตัวได้บ้างแต่ผมยังชมชอบการถ่ายภาพด้วยฟิล์มมากกว่า และตั้งใจว่าจะถ่ายภาพให้น้อยลง
ผมใช้ฟิล์มมากเกินไปในการถ่ายภาพครั้งหนึ่งๆ เกินความจำเป็น การถ่ายภาพเผื่อเลือก เผื่อเสีย บางครั้งคือความฟุ่มเฟือย คือความไม่มั่นใจ
บางบทสนทนาของพี่เจ้ยสะดุดใจให้ผมคิด เมื่อถามความเห็นต่อผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมสมัย เขาบอกว่าผู้กำกับภาพยนตร์หรือคนทำงานศิลปควรเลือกทำงานในสิ่งที่ตัวเองรู้ดี และเป็นตัวของตัวเอง ในส่วนของเขามักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำ ผสมผสานกับสิ่งที่เขาสนใจในปัจจุบัน สังเกตุว่าจะมี หมอ และโรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เสมอ เพราะเขาเติบโตในโรงพยาบาล เป็นต้น เขาพูดถึงภาพยนตร์ของ Federico Fellini (1920-1993) ยอดผู้กำกับชาวอิตาเลียนที่เขาดูบ่อยๆ นั่นก็เหมือนกัน เป็นภาพยนตร์แบบส่วนตัวซึ่งมีความทรงจำ และจินตนาการของผู้กำกับ ผสมกับภาพยนตร์ทดลอง แต่ควรทำให้หนังส่วนตัวสื่อสารได้ เข้าใจได้โดยคนอื่น(หากเขาพยายามจะเข้าใจ เรียนรู้) เป็นหนังส่วนตัวที่ไม่เป็นส่วนตัว เหมือนนักแต่งเพลงที่นำประสบการณ์ของตนเองมาบอกเล่าโดยที่ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมได้ด้วย
ความคิดเห็นนี้เป็นคำแนะนำที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่มักจะหลงลืม และไปไขว่คว้าของไกลตัวเสมอ เมื่อได้รับการตอกย้ำซึ่งๆหน้าอีกครั้งผมบอกตัวเองว่าคงต้องอยู่กับตัวเองมากขึ้น และเร่งเร้าให้ตัวเองทำงานให้มากขึ้น
ผมชอบฟังบทสนทนาที่น่าสนใจมีบ้างบางครั้งผมถามบางคำถาม คราวนี้ผมถามพี่เจ้ยเกี่ยวกับการกำกับ เมื่อเขาพูดถึงการคัดเลือกนักแสดงที่เขามักเลือกคนธรรมดามาแสดง มากว่ามืออาชีพ
"พี่กำกับนักแสดงยังไง"
“พูดไปอาจจะไม่เชื่อว่าเรากำกับนักแสดงไม่เป็น เพียงแต่เรารู้ว่าเราต้องการอะไร”
เขาบอกว่าเขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โดยภาพรวมมากกว่ากำกับการแสดง ในกองถ่ายทำภาพยนตร์เขามีผู้ช่วยกำกับ(การแสดง) ซึ่งส่วนใหญ่พี่เจ้ยปล่อยให้นักแสดงแสดงไปอย่างที่พวกเขาตีความจากบท
“แล้วถ้าเขาไม่ได้อย่างต้องการล่ะ ยังแข็งๆอยู่เหมือนแสดง จะทำยังไง แสดงให้เขาดูไหม”
“การกำกับการแสดงที่ดี ไม่ควรแสดงให้นักแสดงดู เพราะนักแสดงจะติดภาพที่ผู้กำกับแสดงให้ดู และไม่เป็นตัวเอง ซึ่งปกติตั้งแต่เวลาคัดนักแสดงแล้ว เรารู้ว่าคนนี้ใช่ ระหว่างใช้เวลาด้วยกันก่อนถ่ายทำ บางคนเราถ่ายวีดีโอนักแสดงคนนั้นตลอดเวลาเพื่อให้เขาคุ้นเคยกับกล้อง คล้ายกับให้กล้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา"
"อยากให้ทำอะไรก็บอกนะครับ" ผู้กำกับบอกช่างภาพ
ผมไม่ได้บอกให้เขาทำอะไรมากไปกว่าที่เขากำลังทำอยู่ เพียงเลือกมุมให้เหมาะกับดวงตาโศกๆเมื่อเขาทำหน้าเฉยๆ และเปลี่ยนเป็นความสดใสของบรรยากาศเมื่อเขายิ้ม
เขายิ้มด้วยดวงตา
การถ่ายภาพพอร์ทเทรทที่ผมกำลังทำอยู่คงใกล้เคียงกับสิ่งที่พี่เจ้ยพูด ผมมักไม่ค่อยบอกให้ตัวแบบทำอะไร เพียงปล่อยให้เขาเป็นไปแบบของเขา และผมเป็นคนเลือกที่จะบันทึก
แน่นอนช่างภาพพอร์ทเทรทแต่ละคนมีวิธีการบางอย่างที่ทำให้ตัวแบบเป็นตัวเขาเอง หรือลืมที่จะเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเขา
ผมถ่ายภาพพี่เจ้ยตามมุมที่กำหนดไว้ 4-5มุม ส่วนใหญ่จะนิ่งๆตามบุคคลิกสุภาพพูดน้อยของเขา ได้ภาพเป็นที่น่าพอใจแล้วเราขึ้นไปนั่งคุยกันต่อบนชานบ้านข้างบนตรงมุมที่พี่เจ้ยใช้ทำงาน เขานั่งบนโต๊ะไม้ยาวสบายๆ ผมถ่ายภาพเขาเพิ่มเติม ไม่นานเจ้าก็อตซิลล่าหรือไม่ก็คิงคองกระโดดขึ้นมาบนโต๊ะเล่นกับเจ้านายของมัน พี่เจ้ยนั่งลูบหัวลูบหางพูดกับมันเหมือนคุยกับเพื่อน มันทำให้พี่เจ้ยผ่อนคลายลงและดูเหมือนว่าผมจะได้ภาพที่ชอบ
*เผยแพร่ครั้งแรกที่นิตยสารไรท์เตอร์
ภาพพอทเทรทและความเรียง | ศุภชัย เกศการุณกุล
Comments