top of page

เล็ก ชูเวช

หากผมไม่ไปหา ‘อาเล็ก’ เช้าวันที่ 15 เมษายน (ขึ้น 1 ค่ำ) อาคงจะพาเรือลำน้อยออกจากฝั่งไปหาของทะเลแล้วตั้งแต่ตี 5 และคงกลับเข้าฝั่งราวๆ 9 โมง เพราะเป็นช่วงน้ำไหล (หัวน้ำใหม่จะมีตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำไปจนถึงขึ้น 11 ค่ำ) เหมือนกับที่หลานชายของอากำลังวิ่งเรือเข้าฝั่งเห็นอยู่ไม่ไกล


อาเล็กชวนผมเดินไปตามชายหาดตรงที่เขาจะกว้านเรือขึ้นมา เพื่อไปดูว่าหลานชายจะได้อะไรมาบ้าง พร้อมๆ กับเด็กน้อย สองคนที่วิ่งสลับตีลังกาล้อเกวียนอย่างสนุกสนานย่ำไปตามแนวคลื่น ชายหนุ่มซึ่งผมคะเนว่าอายุราว 20 ปีต้นๆ กำลังพาเรือของเขาเข้ามาถึงชายหาดพอดีขณะที่ผมเดินไปถึง น้าสาวคนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นแม่ของชายหนุ่มคนนั้นเดินไปรับพร้อมถังที่อยู่ในมือ เด็กสองคนนั้นซึ่งเป็นหลานของอาเล็ก ช่วยถือถังอีกใบจากเรือมาส่งให้อา ภายในถังเป็นกุ้งแชบ๊วยร่วม 20 ตัว จากนั้นชายหนุ่มหิ้วถังใหญ่อีกใบจากเรือซึ่งมีกุ้งแชบ๊วยแช่น้ำแข็งจากทะเลอีกราว 3 กิโลฯ มาวางไว้บนผืนทราย


“ขายไหม กิโลฯ เท่าไหร่คะ” เสียงหญิงสาวที่เดินมากับผมเอ่ยปากถาม


“ขายจ้ะ ’โลละ 300” น้าสาวตอบ ก่อนที่จะกลับไปช่วยชายหนุ่มกว้านเรือขึ้นมาจากทะเล โดยทิ้งถังใส่กุ้งไว้บนหาดทราย


“วันนี้ได้มาแต่กุ้ง เกือบจะได้ปลาอยู่แล้วถ้าไม่ติดฝูงแมงกะพรุนซะก่อน” ชายหนุ่มบ่นอย่างเสียดาย พลางชี้ปลาเล็กปลาน้อยที่ติดมาในถังซึ่งจะเอาไว้ทำเหยื่อปลาต่อไป ผมมองไปบนเรือ เห็นอวนเต็มไปด้วยแมงกะพรุนตัวใสๆ เป็นเจลลี่ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เต็มไปหมด


“อย่าไปจับนะ มันมีพิษ แสบเลยแหละ กินไม่ได้ด้วย” อาเล็กเตือน “ตากไว้แบบนี้แหละเดี๋ยวมันก็ละลายหายไปเอง” เขาหันไปแนะนำหลานชายที่เพิ่งจะออกเรือได้ไม่นาน


จากนั้นเราเดินตามน้าสาวที่หิ้วถังใส่กุ้งไปชั่งน้ำหนัก “2 ’โล 8 ขีด เอา 840 บาท”


“วันนี้จะทำกุ้งแช่น้ำปลาเป็นอาหารเย็น” เร็วเท่าความดีใจที่ได้กุ้งสดจากทะเล หญิงสาวบอกกับผมขณะหิ้วถุงกุ้ง เดินไปตามชายหาดกลับไปที่บ้านของอาเล็ก


*



“หัวหน้า” อาเล็กเรียกผมแทนชื่อ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมอาเรียกผมแบบนั้น แต่คงเป็นการให้เกียรติคนที่เพิ่งรู้จักกัน ส่วนผมเรียกชายวัย 60 ผิวเกรียมแดด มีรอยสักเต็มร่าง นับได้สิงห์ 5 ตัว หงส์ 1 ตัว และยันต์ที่หน้าอกว่า ‘อาเล็ก’

อาเล็ก หรือ เล็ก ชูเวช เป็นชาวประมงที่ปากน้ำแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เขาอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ทอดตัวอยู่ตั้งแต่ปากน้ำแหลมสิงห์ไปตามชายหาดจนถึงเกาะแมว ความยาวน่าจะประมาณ 1.5 กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติกัน อาเล็กเริ่มอาชีพประมงตั้งแต่อายุ 18 ปี อาออกทะเลมาแล้วร่วม 40 ปี


“มันมีเสี่ยงบ้างหรอกหัวหน้า แต่ไม่กลัว เกิดมาก็เห็นทะเลแล้ว” ชายวัย 61 ปีเล่าด้วยน้ำเสียงห้วนๆ รัวๆ สำเนียงจันทบุรี


“แล้วพ่อแม่อา เป็นชาวประมงด้วยไหม” ผมถามเมื่อเรานั่งบนแคร่หน้าบ้านใต้ต้นสารภีสูงใหญ่ เสียงลมพัดหวีดหวิวผสมไปกับเสียงคลื่น


“แม่ผมหาบหนมขาย หนมตะไลนะ ถ้วยละสลึง พ่อหาปลาอยู่ริมคลอง ตอนนั้นจนมาก โคตรจน เมื่อก่อนหมู่บ้านตั้งแต่ปากน้ำถึงเกาะแมวนี่ ที่ดินตรงนี้ให้ใครไม่มีใครเอา ถนนไม่มี น้ำไม่มี ต้องหาบน้ำมาใช้ แม่ตายตอนผม 7 ขวบ ต้องหาบศพเดินไปตามชายหาดจนถึงปากน้ำแหลมสิงห์โน่น แล้วเดินอ้อมกลับมาที่วัด รองเท้าก็ไม่มีจะใส่” อาเล่าความหลังให้ฟัง


“เดิมบ้านผมอยู่ถนนฟากโน้น เมื่อก่อนที่ตรงนี้ไม่มีหรอกนะ มันงอกออกมาน่าจะราวๆ 24 วา ตอนนั้นนายกฯ ชาติชาย ท่านออกโฉนดให้” อาพูดถึงพื้นที่ตรงแคร่ที่เรานั่งคุยกันอยู่


“แล้วอาเป็นชาวประมงได้ยังไง” ผมอยากรู้


“ตอนนั้นอายุ 18 เคยทำงานที่โรงงานปลาป่น แล้วไปบวช กลับมาบ้านพาเมียมาด้วย ก็คิดอยู่ว่าจะทำอะไรดี ผมเอามอ’ไซค์ไปขาย ได้เงิน 5,000 เอาเงินไปซื้อเรือ ซื้อเครื่อง ซื้ออวน แล้วก็ออกทะเลเลย” อาเล่า


“อารู้ได้ยังไงว่าออกเรือต้องทำยังไง” ผมงง


“ก็ไม่ยาก ไม่เหมือนขับรถ เวลาหัวหน้าขับรถ มันมีถนน ต้องหัด แต่ออกเรือ ทะเลมันกว้าง ก็เรียนรู้ไป ขับรถรู้ว่าตรงไหนมีหลุมมีบ่อ ก็อย่าขับลงไป ขี่เรือรู้ว่าตรงไหนมีคลื่น มีลมก็อย่าไป นี่เราเรียนรู้กันแบบนี้ เมื่อก่อนได้กุ้งวันละ 200 กว่า’โล เอาไม้ตีน้ำนี่กุ้งกระโดดเลยนะ เยอะมาก (เน้นเสียง) แต่ขายไม่ได้ราคา กิโลฯ ละ 3 บาท 5 บาท ตอนนี้ขายได้แต่ไม่มีของ เมื่อก่อนแมงดาก็มีมาก โคตรมาก จับขายตัวละ 50 บาท ตอนนี้ตัวละ 300 แต่หาไม่ได้แล้ว” อาเล่าภาพอดีตและการออกเรือจากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์


เวลาขับรถ มันมีถนน ต้องหัด แต่ออกเรือ ทะเลมันกว้าง ก็เรียนรู้ไป


“ออกเรือมันง่ายอย่างนั้นเลยหรือ”


“งั้นซิ พอหัวหน้าออกเรือนะ เอาอวนทิ้งน้ำ นำ้ก็พาอวนเดินไป แล้วหัวหน้าจะพาเรือไปไหนก็ไป อยากวิ่งไปหาผมหรือไปนั่งคุยกันก็ไป อยากเข้าบ้านก็เข้าบ้าน อวนก็เดินหากุ้งของมันไป”


“อวนมันเดินยังไง”


“ก็น้ำไง น้ำพาไป เราก็มีธงเป็นจุดสังเกต พอถึงเวลาเราก็ไปเก็บ ธงใครธงมันนะ โยนอวนแล้วอยากดูหนังฟังเพลงก็ไป คิดถึงอวนก็ไปกู้ เเกะกุ้งใส่ถัง แล้วก็โยนอวนออกไปอีก กลางคืนก็ออกได้ อยากออกก็ออก กุ้งออกหากินกลางคืน กลางวันนอน เขาฝังตัวอยู่ใต้ทรายโผล่ตาโผล่หนวดออกมา พออวนไปโดนเขาก็สะดุ้ง กระโดดเข้าไปในอวน กลางคืนเราก็ฉายไฟดูตา เห็นตากุ้งเเดงเลย ตัวเขียวๆ ตัวใหญ่


“แต่ตอนกลางคืนผมต้องซุกออกนะ ผมแจวเรือออกไป แล้วค่อยไปติดเครื่องเอาข้างนอก ไม่ให้ใครรู้ ช่วงลมว่าวจัดๆ กุ้งเยอะนะ ตัวโคตรใหญ่ ’โลละ 500 ตัวหนึ่งหนัก 2-3 ขีด บางคนออกเรือแล้วขี้เกียจวิ่งเข้าบ้านก็ทอดสมอเอาผ้าห่มไปห่มนอน บางคนฟังเพลง นั่งคุยกันทั้งคืน” อาเล่าจนผมอยากจะลองออกเรือไปจับกุ้งบ้าง คงน่าสนุก ลมเย็น ฟ้ามืดเห็นดาว ยุงก็ไม่มี


ได้ยินอาเล่าว่าของทะเลเยอะ ออกทะเลเมื่อไรก็ได้ของ ฐานะดีขึ้นจากเมื่อ 30 กว่าปีก่อนที่เสื้อผ้าดีๆ ยังไม่มีจะใส่ อาจไม่ใช่ความจริงที่สวยงามเท่าไรนัก เพราะกว่าจะตั้งตัวได้ อาเล็กผ่านคลื่นลมของชีวิตมาหลายต่อหลายครั้ง อาเล็กเคยจับกุ้งได้มากจนมีเงินก้อน เขาตัดสินใจลงทุนเลี้ยงเป็ดเทศ เพื่อหารายได้ให้มากขึ้น เมื่อประสบความสำเร็จจึงตัดสินใจลงทุนซื้อเป็ดบาบารีมาอีก 500 ตัว แต่เลี้ยงได้ไม่นานก็ตายทั้งเล้า อาบอกว่าเป็นอาเพศ เพราะหาสาเหตุไม่ได้ เขาตัดสินใจขายทองที่มีอยู่ เพื่อซื้อเป็ดบาบารีมาอีก 500 ตัว โดยหวังว่าจะถอนทุนคืน แต่เป็ดเจ้ากรรมตายยกเล้าเหมือนเดิม จากคนที่เคยมีเงินก็กลับไปเป็นคนจนเหมือนเดิม แต่ชีวิตก็สอนว่าท้อไม่ได้ อาเลิกอาชีพเลี้ยงเป็ด แล้วตั้งมั่นว่าจะทำอาชีพชาวประมงอย่างเดียว



“ผมเริ่มใหม่ นับ 1-3” อาเล่า


“นับ 1-10 มันไกล มันท้อ เรานับ 1-3 ก่อน” อาเล็กอธิบายเพิ่มเติม


“ยังไงครับ 1-3 อานับยังไง” ผมขอให้อายกตัวอย่าง


“1 ขยัน ออกทะเลหาของ 2 คิดวางแผนว่าจะขายยังไง และทำอะไรต่อ 3 ประหยัด เก็บหอมรอมริบ พอนับถึง 3 ได้ เราก็นับ 4, 5, 6 ต่อไป เดี๋ยวมันก็ถึง 10”


อาบอกว่านอกจากหากุ้งหาปลาแล้ว อายังหาเคยทำกะปิ วันหนึ่งเก็บเคยได้ 30 กิโลฯ เอามาทำกะปิได้ 10 กิโลฯ ขายได้กิโลฯ ละ 200 บาท ทำกุ้งแห้ง ขายได้กิโลฯ ละ 1,700 บาท ถ้าฤดูฝนไม่ออกเรือ อาจะไปรับจ้างออกเฝือก (จับกุ้งในบ่อเลี้ยงกุ้ง)


“ถ้าเราขยัน รู้จักประหยัด อย่างออกทะเล ได้กุ้งตัวใหญ่เราก็ขาย กุ้งเล็กเราก็เก็บไว้กิน ผมไม่เสียค่ากับข้าว” อายืนยันว่า ถ้ารู้จักเดินให้ดี เราจะไม่จน


ก่อนหน้าปี 2560 ประมงชายฝั่งของชาวบ้านปากน้ำแหลมสิงห์ได้ของไม่มากนัก เพราะมีเรืออวนลากคู่ต่างถิ่นเข้ามาใกล้ชายฝั่งซึ่งทำลายระบบนิเวศ อาเล่าว่าจับกุ้งขายได้วันละ 100-200 บาท ซึ่งไม่พอกิน แต่หลังจากปี 2560 มีการบังคับใช้กฎหมายการประมงชายฝั่งเข้มงวดขึ้น ชาวบ้านเริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้าง


ต้นปี 2561 หลังจากธรรมชาติได้พักฟื้นแล้วก็เริ่มให้ของขวัญตอบแทน ชาวประมงที่หมู่บ้านจับกุ้งได้เพิ่มมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอามีเรือเล็กสองลำ ยาว 6 ศอก หนึ่งลำไว้จับกุ้ง อีกหนึ่งลำไว้จับปลาทู ที่ต้องมีเรือไว้สองลำ เพราะใช้อวนต่างชนิดกัน จะได้ไม่ต้องย้ายอวน


“เขาห้ามเรือใหญ่เข้ามาถึงตรงไหน” ผมมองออกไปที่ทะเลกว้างสีขุ่น


“3 ไมล์ทะเล แต่เขานับจากเกาะจุฬานะ ไม่ได้นับจากชายฝั่ง” อาชี้ไปที่เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ห่างจากปากน้ำแหลมสิงห์ไปราว 1 กิโลเมตร


“ตอนนี้ได้กุ้งมาก มีปลาทูด้วย ขาย’โลละ 160 บางวันได้ 40-50 ’โล” อาเล่าถึงทรัพยากรที่กลับมาเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน


“เขาว่าอ่าวไทยไม่มีปลาทูแล้วไม่ใช่หรืออา ที่จันท์มีด้วยเหรอ” ผมถามด้วยความอยากเห็นปลาทูกลับมาที่อ่าวไทย


“มี้” อายืนยันเสียงสูง “ผมอยากให้หัวหน้ากลับมาเดือนธันวาฯ แล้วจะได้เห็นว่าปลาทูบ้านเราน่ะมีอยู่จริง” อายืนยัน


*



เรือเล็กประมงชายฝั่งของชาวบ้านมักจะออกจากฝั่งไม่ไกลนัก สักประมาณ 500 เมตร ทะเลน้ำตื้นฝั่งตะวันออกจะลึกราวๆ 1 วา หากเป็นหน้าฝน ลมแรงคลื่นสูง ชาวบ้านจะออกเรือไปจับกุ้ง จับปลาที่หลังเกาะจุฬาซึ่งห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร น้ำลึกราวๆ 2 วา นอกจากระดับน้ำแล้ว ลมยังเป็นปัจจัยสำคัญในการออกเรือ


อาเล็กบอกว่าตั้งแต่เดือน 11 (พฤศจิกายน) ถึงเดือน 3 (มีนาคม) ช่วงตรุษจีน จะมีลมว่าว (ลมนอก) พัดมาจากทางเหนือ หากุ้งได้มาก จากนั้นจะมีลมตะเภาพัดมาจากเกาะช้าง (ทิศใต้) ลมแรงไม่เกิน 2-3 วัน ถ้าช่วงลมตะเภามา ชาวประมงจะเอาเรือขึ้นฝั่ง เมื่อลมหยุด จะออกเรือหาของเลย “ช่วงนี้อยากได้อะไรได้หมด เอาของไม่หมด เยอะจนไม่อยากเอาแล้ว แต่ลมพัดหลวงนี่ไม่ได้นะ” หมายถึงลมที่พัดมาจากระยอง (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) อาบอกว่า ช่วงไหนมีเคย น้ำกำลังใสๆ แต่พอลมพัดหลวงมา เคยหายไปเลย กุ้งหอยปูปลา หายหมด หาไม่ได้สักตัว


“ออกทะเลมา 40 ปี เคยโดนลมโดนคลื่นตกน้ำบ้างไหมครับอา”


“เคยเจอลม เจอคลื่นนะ แต่ไม่จม เรือจมยากนะ มันชิน พูดถึงลม ลมมีสองแบบ ลมหายใจ นี่ลมดี ลมปีศาจ คือลมพัดลมเพ ลมหมุน ลมงวง(ช้าง) ก่อนออกเรือผมท่องคาถาตัดลม ทุกครั้ง” อาเล่าถึงความเชื่อของชาวประมงแถบนี้


“เป็นยังไงครับ คาถาตัดลม” ผมสนใจ


“ตั้งนะโมถอยหลังสามจบ (สะ ตัส โม นะ) แล้วว่า ขัดทะหยักสามจบ กลั้นหายใจเอามีดตัดขวางเลย หรือให้ดีใส่แหวนทองไปด้วย ลมปีศาจนี่กลัวแหวนนักนะ บนฝั่งมีคนตายบ่อย ถ้ามีเพื่อนนะ หัวหน้าบอกเพื่อนให้เอาใบของต้นนี้สามใบติดไปด้วย จะช่วยไล่ปีศาจ หรือเอาต้นไปทำโขนเรือ ทำหลักแจวก็ได้ แต่ขอให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้นี้อยู่บนเรือ มันช่วยได้” อายืนยันในความเชื่อ พลางชี้ไปที่ต้นไม้ที่เรานั่งอยู่ใต้ร่มเงา อาจำชื่อต้นไม้ไม่ได้ แต่ผมมองเทียบเคียงดอกและใบแล้ว เป็นไปได้ว่าจะเป็นต้นสารภี โดยมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า ช่วยป้องกันเสนียดจัญไร


“แล้วอีกอย่าง จำไว้ เวลาเรือล่ม อย่าว่ายน้ำ ใครว่ายน้ำตายทุกคน มันเหนื่อยไง ว่ายน้ำเข้าฝั่ง ถ้าใกล้ๆ ไม่เป็นไร ว่ายได้ แต่ไกลฝั่ง เหนื่อยตายก่อนเลยนะ ให้ตั้งสติ คว้าถังหรือทุ่นที่ปกติจะมีอยู่บนเรือ ให้เกาะถังลอยคอ ออมแรงเอาไว้” อาแนะนำเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน


เปรี้ยง!!! มะพร้าวลูกหนึ่งตกลงมาบนหลังคาสังกะสีดังสนั่น ใกล้ๆ กับที่เรานั่งอยู่


“มันไม่ตกใส่หัวผมใช่ไหมอา” ผมถามขณะมองขึ้นไปที่ทะลายมะพร้าวหลายต้นที่ล้อมรอบอยู่เต็มบริเวณ


“ไม่มี้ มะพร้าวมันมี 3 ตา (เน้นเสียง) รับรองไม่มีโดน ผมนั่งอยู่ตรงนี้หลายสิบปีไม่เคยโดน” อาเล็กยืนยัน แต่ผมก็อดคิดไม่ได้ว่ามะพร้าวอาจจะมีพลาดบ้างก็ได้ ใครจะไปรู้


*

คุยกับอาเล็กนั้นเพลิดเพลิน ลมพัดเอื่อยๆ อากาศเช้ายังสดชื่น จนลืมเอาน้ำแข็งมาแช่กุ้งแชบ๊วยที่ใส่ถุงไว้ ลูกๆ ของผมเล่นทรายสนุกสนาน หลานวัย 8 ขวบของอาเดินเข้ามานั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน


“อาเคยพาหลานออกทะเลไปหาของไหม” ผมถามถึงอนาคตของชาวประมง


“ไม่เคยเลย ผมไม่อยากให้เขาเดินทางนี้ ถ้าหมดรุ่นผมก็คงไม่มีแล้ว เมื่อก่อนหมู่บ้านนี้มีเรือ 50-60 ลำ วันนี้เหลือ 13 ลำ เขาเลิกทำ หรือไม่ก็เปลี่ยนอาชีพกันหมด ลูกหลานผมก็อยากให้เขาเรียนสูงๆ ทำงานดีๆ อีกอย่างนะหัวหน้า ผมไม่รู้นะว่ากฎหมายนี้ยังจะใช้อยู่อีกนานไหม ถ้ายังใช้ เราก็อยู่ได้ มีกุ้งมีปลาให้เราจับ ถ้ายกเลิก เราก็กลับไปจนเหมือนเดิม”


อาพูดถึงกฎหมายฉบับนี้บ่อยครั้ง ราวกับว่ามันเป็นตัวกำหนดความเป็นความตายของชีวิตชาวประมงชายฝั่ง เป็นความอยู่รอดของคนเล็กคนน้อยที่เพียงหาปลาหากุ้งเลี้ยงชีพ สร้างครอบครัว และมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากบ้าง

เล็ก ชูเวช | ชาวประมงพื้นบ้าน ปากน้ำแหลมสิงห์


FACT BOX


ประมงชายฝั่ง (Inshore Fisheries) หรือประมงพื้นบ้าน (Artisanal Fisheries) คือ การประมงเพื่อยังชีพหรือประมงขนาดเล็ก ประกาศกรมประมง มาตรา 174 พ.ศ. 2561 คือเรือที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส (หน่วยระวางบรรจุเรือ) ปัจจุบันส่วนใหญ่จะติดเครื่องยนต์เข้าไปด้วย ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมง เช่น แห อวน หรือเบ็ดแบบง่ายๆ ประมงพื้นบ้านเป็นการประมงเพื่อยังชีพ หาอาหาร สร้างรายได้ และก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ


มาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีความว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง พื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งออกไปเกิน 3 ไมล์ทะเล


ภาพพอร์ทเทรท และความเรียง : ศุภชัย เกศการุณกุล

เผยแพร่ครั้งแรกที่ the Momentum | เมษายน 2018

32 views0 comments

Comments


bottom of page