ปีศาจและลูกสาวปีศาจ
Updated: Nov 15, 2019
เสนีย์ เสาวพงศ์ | ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ และ ศราพัส บำรุงพงศ์
“หวังว่าจะไม่ได้พบกันอีก...” คำที่ลุงเสนีย์พูดกับเราด้วยรอยยิ้มที่ริมฝีปาก และในดวงตาอย่างอารมณ์ดีที่สำนักงานมติชน หลังจากที่ผม และเพื่อนนักเขียนแวะเวียนไปสัมภาษณ์ลุงสองครั้งในปี 2555
เป็นประโยคที่ติดค้างอยู่ในความคิดของผมตลอดมาว่าลุงกำลังจะหมายถึงอะไร
การไปสัมภาษณ์คราวนั้นเพื่อตีพิมพ์ลงในนิตยสารไรท์เตอร์ และเพื่อทำปฏิทินนักเขียน 2556 ในวาระที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก แต่ด้วยจังหวะเวลาทำให้บทสัมภาษณ์และภาพถ่ายยังไม่ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารไรท์เตอร์ในเวลานั้น แต่ในปฏิทินนักเขียน มีภาพลุงเสนีย์ปราฏอยู่ในเดือนมกราคม
ภาพลุงเสนีย์บนปฏิทินที่ผมเลือกไม่ใช่ภาพที่ไปถ่ายในปี ’55 แต่เป็นภาพที่ผมถ่ายลุงเมื่อปี 3 ปีที่แล้ว
ภาพขาวดำของลุงนั่งหลับตาอยู่ในภวังค์ ด้านหลังเป็นภาพเขียนของลุงในวัยหนุ่มที่บ้านพักย่านคลองตัน
ปี 2552 ผมไปพบลุงเสนีย์ตามคำชักชวนของพี่ปริม พี่สาวที่รู้จักขณะที่ผมไปใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีส พี่ปริมกลับมาเยี่ยมเมืองไทยและมีโครงการที่จะทำหนังสือ เธอนัดสัมภาษณ์ลุงเสนีย์ซึ่งเธอรู้จักเป็นการส่วนตัว พี่ปริมรู้มาก่อนว่าผมอยากถ่ายภาพนักเขียนผู้นี้ เธอจึงโทรมาชักชวนให้ผมไปด้วย ผมตอบตกลงอย่างไม่รอช้า

บ่าย, ที่บ้านพักย่านคลองตัน เมื่อเปิดประตูเข้าไปในบ้านยุค ‘70s ในห้องมืดสลัวมีแสงเข้ามาทางหน้าต่าง เครื่องเรือนและชุดรับแขกเรียบง่ายจัดวางเป็นระเบียบเรียบร้อย ถัดไปเป็นโต๊ะตัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยหนังสือ ไกลออกไปภายในบ้านเป็นห้องกินข้าว ความสว่างภายในบ้านมาจากแหล่งแสงเดียวคือแสงอาทิตย์ที่สาดเข้ามาผ่านม่านสีขาวนวลทำให้สายตานักสำรวจของผมมองไปได้เท่านั้น กำแพงด้านหนึ่งแขวนภาพเขียนของลุงในวัยหนุ่มอยู่เหนือเก้าอี้ โต๊ะข้างมีชุดน้ำชาอยู่บนนั้นซึ่งเป็นที่ประจำของเจ้าของบ้าน คนรับใช้นำน้ำเย็นมาเสิร์ฟ ขณะรอผมพยายามปรับตัวให้เข้าไปในบรรยากาศของความเงียบขรึม เรียบง่าย และสง่าผ่าเผย
ภายใต้แสงสลัวราวกับฉากในภาพยนตร์ ผมนึกถึงแสงและบรรยากาศในหนังของผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนสองคน : Beyond the Clouds (Michelangelo Antonioni, Wim Wenders, 1995), Stealing Beauty (Bernardo Bertolucci, 1996) ภาพยนตร์ทั้งสองเล่าเรื่องของความรักในเมืองเล็กๆ และชนบท ในบรรยากาศของหมอกในตอนเช้า แสงแดดอุ่นในตอนบ่าย
ในบ้านของลุงเสนีย์แสงค่อนข้างน้อย ผมจำไม่ได้แน่ชัดว่าวันนั้นมีไฟในบ้านเปิดอยู่หรือเปล่า ทำให้การทำงานครั้งนี้น่ากังวลโดยเฉพาะเรื่องความนิ่งของช่างภาพ ไม่ใช่ความนิ่งของมือ แต่เป็นความนิ่งของใจ
ผมนั่งรอนักเขียนอาวุโสอย่างสงบแต่ใจสั่นไหว
บรรยากาศในห้องชวนให้ความคิดผมย้อนกลับไปกลับมาระหว่างปัจจุบันกับเรื่องราว และตัวละครในหนังสือบางเล่มที่ผมเคยอ่าน ในขณะที่ชายวัยเก้าสิบเดินออกมาอย่างช้าๆโดยมีภรรยาอยู่เคียงข้าง
รูปร่างสูงโปร่ง หลังค้อมลงเล็กน้อยด้วยวัยชรา บนใบหน้ามีรอยยิ้มน้อยๆประดับบนริมฝีปาก ผมสีขาวปนเทา ใส่แว่นกรอบสีทอง
สง่างาม
ลุงเสนีย์ทักทายพี่สาวที่พาผมมาด้วยความคุ้นเคย
พี่ปริมแนะนำผมให้ลุงรู้จัก
ลุงพยักหน้าและถามชื่อผมอีกครั้ง ผมนั่งลงฟังบทสนทนาที่เป็นกันเอง เริ่มจากถามไถ่เรื่องสุขภาพ ความหลังครั้งก่อน และชื่อบุคคลต่างๆที่ผมไม่รู้จัก ผมพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวย้อนอดีต พี่ปริมหันมาอธิบายบางครั้งบางคราวเพื่อไม่ให้ผมหลุดขบวนซึ่งไม่ค่อยเป็นผลนัก
ผมไม่รู้เรื่องอะไรอยู่ดี แต่การนั่งฟังทำให้สมองทำงาน และพาตัวเองเข้าไปสู่บรรยากาศ ยิ่งเมื่อได้ฟังน้ำเสียงของลุงที่เล่าเรื่องราวให้ลูกหลานฟัง บางคราวลุงมองมาที่ผมพร้อมด้วยรอยยิ้ม ผมรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ทั้งรู้สึกร่มเย็น และปลอดภัย
เมื่อรู้สึกว่าเริ่มคุ้นเคยกัน ผมหยิบกล้องออกมาจากกระเป๋า วัดแสงด้วยมิตเตอร์วัดแสง ปรับความเร็วชัตเตอร์ f.stop กะระยะโฟกัส เตรียมตัวถ่ายภาพ
“กล้องสวยดี กล้องฟิล์มหรือเปล่า” ลุงทักหลังจากบนสนทนาผ่านไปพักใหญ่
“นิวไปเรียนอะไรที่ปารีส” คำถามต่อมาด้วยความเมตตาต่อช่างภาพ ไม่กี่ครั้งที่คู่สนทนาจะเรียกชื่อผม โดยเฉพาะเมื่อเป็นนักเขียนใหญ่เหมือนลุง ผมรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก
“ไม่คิดจะถ่ายภาพยนตร์บ้างหรือ” เราคุยกันต่อไปอย่างต่อเนื่องเรื่องภาพยนตร์
บางครั้งผมยกกล้องขึ้นเล็ง และกดชัทเตอร์บ้างเพื่อความเคยชินของแบบ และตัวผมเองเพื่อที่จะเห็นกรอบภาพอยู่ในอากาศ
ผมคิดว่าลุงเสนีย์คงสนใจภาพยนตร์ และสนใจศิลปะแขนงนี้อยู่มิใช่น้อย ลุงพูดถึงทฤษฏีภาพยนตร์ของเบล่า บาราส (Bela Balazs) และการตัดต่อภาพยนตร์สกุลรัสเซียนของ เซอร์ไก ไอเซนสไตน์ Sergei Eisenstein รวมไปถึงภาพยนตร์รัสเซียที่นักศึกษาภาพยนตร์ต้องเรียนรู้อย่าง Battleship Potemkin ซึ่งนักศึกษาภาพยนตร์อย่างผมเกือบจะลืมไปแล้วหากไม่ได้รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา
อาจเป็นเพราะลุงเสนีย์เคยทำงานเป็นผู้ช่วยทูตอยู่มอสโก อาร์เจนตินา เคยพักอยู่ปารีสช่วงระยะเวลาหนึ่ง ภาพยนตร์สกุลรัสเซียน และยุโรปจึงอยู่ในความสนใจ
“เธอควรจะถ่ายภาพยนตร์” ลุงยุ
“ความจริงผมก็อยากถ่ายนะครับ แต่ยังไม่มีใครชวน...” ผมตอบไปด้วยรอยยิ้ม และลุงหัวเราะกลับมาอย่างอารมณ์ดี
การทำงานภาพยนตร์เป็นเรื่องยากสำหรับผม เพราะต้องการทีมงาน และเรื่องที่น่าสนใจ
ในบางขณะผมรู้สึกว่าลุงพูดเรื่องนี้เพราะอยากแนะนำให้ผมทำงานศิลปะเพื่อศิลปะโดยไม่ต้องคิดเรื่องการงานและวิชาชีพ แต่ทำเพราะรัก ผมเห็นด้วยว่าคนเราควรมีอีกด้านหนึ่งที่เล่นและเรียนรู้ในบางสิ่งที่เราสนใจ แม้จะไม่ถนัด มันเป็นการเพิ่มทักษะ และมุมมองต่อการทำงาน ในอีกด้านหนึ่ง
แสงที่สาดเข้ามาทางหน้าต่างเริ่มอ่อนแสงลง ความกังวลของผมเพิ่มขึ้น
แม้ว่าเฟรมที่อยู่ในอากาศของผมถูกกำหนดไว้แล้ว ผมรอเพียงจังหวะเวลาที่เหมาะสม
บทสนทนาที่ลื่นไหล มีจังหวะหยุดเพื่อระลึกรื้อฟื้นความทรงจำของลุงอณุญาตให้ผมทำงานได้บ้าง
ผมรอจังหวะที่ลุงเป็นธรรมชาติ
รอจังหวะที่องค์ประกอบจะสมบูรณ์โดยมีภาพเขียนด้านหลังเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าในภาพถ่าย
รอที่ผมจะได้ภาพบนฟีล์มเหมือนที่ผมเห็นด้วยตาเปล่า
รอให้ทุกอย่างนิ่ง
มีบางจังหวะผมชอบเวลาลุงยิ้ม ยิ้มเมื่อนึกถึงความหลัง ยิ้มในเรื่องที่เล่า
ผมบันทึกภาพประมาณครึ่งม้วน น้อยกว่าที่ควรจะเป็นแต่ผมคิดว่ามันเหมาสมกับกาลเทศะแล้ว
เราคุยกันจนเมื่อแสงจากหน้าต่างอ่อนแสงลง ไม่พอสำหรับฟิล์มที่จะบันทึกภาพ และถึงเวลาที่เราต้องลา
ก่อนลากลับผมขอลุงถ่ายภาพอีกหนึ่งภาพ ตอนที่ลุงยืนและเดินมาส่งเราที่ประตูบ้าน
เป็นครั้งเดียวที่ผมขอ และบ่ายวันนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับลุงเสนีย์
หลายเดือนต่อมา ในวันแถลงข่าวเปิดตัวปฏิทินที่ลุงเสนีย์เป็นนักเขียนคนแรกของปี
บนเวทีพี่ต้อ-บินหลาถามผมว่า ปกติแล้วช่างภาพจะหลีกเลี่ยงตัวแบบที่หลับตา แต่ทำไมผมถึงเลือกเฟรมนี้ เป็นการเลือกที่ผิดหรือเปล่า
จำได้ว่าตอนคัดเลือกรูปสำหรับตีพิมพ์ พี่ต้อเองถามผมอยู่ครั้งสองครั้งเหมือนกันว่าใช่ภาพนี้ที่ถูกต้อง?
ผมบอกว่าไม่ผิดหรอกผมตั้งใจเลือกเฟรมนี้ และในขณะที่ถ่ายผมก็รอจังหวะนี้
ในเฟรมมีเสนีย์ เสาวพงศ์ 3 คน มีอยู่คนหนึ่งมองกล้อง อีกคนทอดสายตามองไปที่ใดที่หนึ่งด้านข้างซึ่งอยู่นอกเฟรม อีกคนในปัจจุบัน
มันเปิดโอกาสให้ผมนึกคิดต่อไปว่า ลุงเสนีย์กำลังคิดถึงอะไรอยู่ บนใบหน้าที่แฝงรอยยิ้มอยู่จางๆนั้นลุงกำลังคิดหรือระลึกถึงอะไร

บ่าย, ชั้น 8 สำนักงานมติชน, 2555
ที่ชั้น 8 สำนักงานมติชน ห้องทำงานโอ่อ่า ทว่าเรียบง่าย คล้ายกับบ้านของลุงที่ผมเคยไปเมื่อ 3ปีก่อน คนเป็นอย่างไรเขาก็สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับบุคลิกภาพของเขา เป็นคำยืนยันอีกครั้ง
ห้องทำงานเพดานสูงค่อนข้างโปร่งโล่ง ประดับด้วยไม้สีน้ำตาล แสงทอดมาทางหน้าต่างกว้างตลอดแนวกำแพง กรองแสงให้นุ่มสลัวด้วยม่านสีครีม โต๊ะไม้ขนาดกำลังดีวางถัดไปทางท้ายห้อง ดวงไฟเพดานถูกปิด ในห้องสว่างด้วยโคมไฟตั้งโต๊ะและแสงนุ่มๆจากหน้าต่าง บนกำแพงด้านหลังประดับรูปถ่าย และหนังสือ อีกด้านหนึ่งเป็นชุดรับแขกออกสีแดงเบอร์กันดี ถ้าผมจำไม่ผิด วางตัวอยู่อย่างสำรวม โดยมีรูปลุงเสนีย์ (หนุ่ม) ประดับอยู่ข้างหลัง รูปนั้นถ่ายที่ปารีส
นักเขียนอาวุโสนั่งหันหน้าสนทนากับพี่ต้อ-บินหลา สันกาลาคีรี และพี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์อยู่ก่อนแล้ว
ผมเข้าไปขัดจังหวะสนทนาชั่วขณะ พี่ต้อขอตัวไปนั่งรอด้านหน้า และปล่อยให้ผมนั่งแทน บทสนทนาเริ่มขึ้นอีกครั้ง
"ลุงคงจำผมไม่ได้" ผมคิดในใจ
ลุงเสนีย์ที่นั่งอยู่หน้าผมตอนนี้ ชราภาพกว่าเดิมเล็กน้อย ทว่าดูอิ่มเอิบ และยิ้มบ่อยกว่าเมื่อพบกันครั้งที่แล้ว ตอนนี้ลุงเดินได้น้อยลงเพราะเหนื่อยง่าย
บทสนทนาว่าด้วยเรื่องประวัติ และงานเขียน เพราะตั้งใจจะตีพิมพ์ลงนิตยสารไรท์เตอร์ บรรยากาศการสนทนาคราวนี้ค่อนข้างจริงจังในฐานะนักเขียนอาชีพ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมือง เชิดชูเสรีภาพ และความเท่าเทียม คำถามจึงย้อนกลับไปสมัยเมื่อลุงยังเด็ก และการเดินทางผ่านวิกฤตทางการเมืองด้วยสายตาของนักเขียนหนุ่ม ลุงเล่าด้วยความแม่นยำ อารมณ์ดี บางคราวตอบคำถามจริงจังของนักเขียนรุ่นหลานด้วยรอยยิ้ม อาจจะเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่เราจะได้ฟังทัศนะอันสุขุมลุ่มลึกของผู้อาวุโส คุณูปการที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าเหตุแบบนี้เป็นทุกวงการ คิดเพียงว่าการเติบโตจะมีแต่การต่อยอด แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบำรุงราก ต้นไม้ที่ควรจะมั่นคงแข็งแรงเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา และที่พักพิงจึงไม่แข็งแรงนัก สูงชลูดแต่ไม่แข็งแรง เมื่อโดนลมแรงจึงหักโค่นล้มลงง่ายๆ
"เราเคยพบกันมาก่อนใช่ไหม" ลุงทัก เมื่อบทสนทนาเว้นช่วง
ผมจึงเท้าความให้ลุงฟัง ว่าเราเคยพบกันเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว และผมดีใจที่ลุงยังจำผมได้
"คราวที่แล้วยังไม่เห็นได้ดูรูปเลย"
"แล้วได้ถ่ายภาพยนตร์หรือยัง"
ผมตอบกลับไปด้วยรอยยิ้มเขินๆ
เมื่อการนัดหมายได้รับการตอบรับ เราได้รับการขอความร่วมมือจากเลขาฯว่า เราไม่ควรคุยนานเกินไป ลุงควรได้พักผ่อน
ก่อนแดดบ่ายจะหมด บทสนทนาชะลอความเข้มข้นลง และถึงคราวของผมที่ต้องทำงาน
ผมบรรจุฟิล์มสีใส่กล้อง 120 วัดแสงที่ริมหน้าต่าง ตั้งขาตั้งกล้อง ผมชอบแสงหน้าต่างที่มาจากด้านข้าง เพราะให้น้ำหนักของแสงและเงาได้ดี เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมผมยกเก้าอี้ที่ผมนั่งมาตั้งรอไว้ หันหน้า 45องศาให้กับหน้าต่าง
เดินไปประคองลุงจากโต๊ะทำงาน เดินขยับทีละนิดอย่างใจเย็น มานั่งบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้
ผมชอบถ่ายภาพคนเวลายิ้ม แม้ว่าลุงจะเขินกล้องบ้าง เพราะมันคงดูจริงจังนิดหน่อยเมื่อใช้กล้องมีเดียมฟอร์แมท บนขาตั้งกล้อง
ผมรู้สึกอุ่นในใจที่ได้มีโอกาสมาถ่ายภาพลุงเป็นครั้งที่สอง
ผมรอจังหวะกดชัทเตอร์ตอนที่ลุงยิ้ม
หากจะมีใครสังเกตช่างภาพที่ทำงานอยู่ในขณะนั้น เขาจะเห็นว่าผมยิ้มมากกว่าที่ลุงยิ้ม
ฟิล์มหมดไปม้วนกว่าๆ ประมาณ 14-16 ภาพ ผมถ่ายลุงไว้มุมเดียว และคิดว่าน่าจะพอ
เรากลับไปนั่งคุยสัพเพเหระกันอีกพักจากนั้นจึงขอตัวกลับ เพื่อที่ลุงจะได้พักผ่อน ลุงจับมือและตบไหล่คนรุ่นหลาน
"หวังว่าเราจะไม่ได้พบกันอีก" พร้อมรอยยิ้ม
ผมคิดว่าลุงคงหมายถึงการพบปะพูดคุยกันคราวนี้น่าจะทำให้งานเสร็จลุล่วง
- 6 ปี ต่อมา -
ผมมาก่อนเวลานัด 1 ชั่วโมง แต่แม่บ้านก็ยังเปิดประตูต้อนรับและให้ผมนั่งพักรอที่ห้องรับแขก แสงบ่ายสาดเข้ามาทางประตูและอิฐใส บรรยากาศเงียบสงบในซอยที่ห่างจากถนนใหญ่ไม่มาก ผมเคยมาที่นี่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ครานั้นเจ้าของบ้านซึ่งเป็นนักเขียนนักการทูตยังมีชีวิตอยู่ ในความทรงจำ—ห้องรับแขกเคยกว้างกว่าวันนี้ ภาพเขียน ‘ลุงเส’ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิชัย บำรุงพงศ์ 2461-2557) ยังโดดเด่นอยู่บนกำแพงหลังเก้าอี้รับแขกที่ลุงนั่งในวันนั้น ผมโชคดีที่ได้นั่งฟังลุงเสเล่าถึงชีวิตในวัยหนุ่มและได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก หากมีชีวิตถึงวันนี้ เสนีย์ เสาวพงศ์ จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี
“บ้านหลังนี้สร้างเมื่อปี 1965 แต่สร้างเสร็จแล้วเว้นว่างไว้ 10 กว่าปี ไม่มีคนอยู่ เพราะคุณพ่อถูกส่งไปประจำที่เวียนนาแล้วระหกระเหินไปเป็นนักการทูตหลายประเทศก่อนจะเกษียณแล้วกลับมาอยู่เมืองไทย”
พี่จอย — ศราพัศ บำรุงพงศ์ ลูกสาวของลุงเสเล่าให้ฟัง เมื่อเธอมาถึงห้องรับแขก เธอนั่งอยู่ที่โซฟาอีกด้านหนึ่งซึ่งเมื่อ 8 ปีที่แล้วมันไม่ได้ตั้งอยู่ตรงนี้ ทำให้ภาพที่ผมจำได้ไม่ทาบทับกันพอดี แต่เหลื่อมซ้อนกัน ในขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองให้กว้างออกไป
“สมัยวัยหนุ่มคุณพ่อสอบเข้าคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ แต่คุณปู่สิ้นเสียก่อนจึงไม่มีเงินส่งเสีย คุณพ่อจึงเข้าเรียนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย” พี่จอยเท้าความไปถึงวัยหนุ่มของลุงเส ก่อนที่จะบอกว่ามันอาจจะเป็นอุบัติเหตุของชีวิตซึ่งกลายเป็นชะตากรรม ทำให้คุณพ่อของเธอกลายเป็นนักเขียน ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากลุงเสเป็นสถาปนิก เมืองไทยจะมีตึกที่สวยงามอีกกี่แห่ง และบางทีเส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ อาจไม่เหมือนวันนี้

อุบัติเหตุอีกครั้งของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อลุงเสได้รับทุนไปเรียนที่เบอร์ลิน ขณะเดินทางโดยรถไฟสายทรานไซบีเรียผ่านสหภาพโซเวียตเพื่อไปเยอรมนี แต่เกิดปัญหาวีซ่าเข้าสหภาพโซเวียต ลุงเสจึงรออยู่ที่เมืองฮาร์บิน แมนจูเรียราว 3 เดือนก่อนจะตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย แต่การเดินทางครั้งนั้นไม่สูญเปล่า เพราะสิ่งที่เห็นและเรียนรู้จากการเดินทางได้กลายมาเป็นฉากของเรื่องสั้นหลายเรื่อง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 2485 เสนีย์ เสาวพงศ์กลับไปสหภาพโซเวียตอีกครั้งในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเริ่มเป็นนักการทูตโพสท์แรกที่กรุงมอสโก (2490-2497) ในช่วงที่ยากลำบากขัดสนอันเป็นผลจากไฟสงคราม
เป็นไปได้ว่าเมล็ดพันธุ์ความคิดเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอาจจะถูกทำให้เติบโตขึ้นจากความคิดแนวใหม่ที่บ่มเพาะในโลกตะวันตก และอาจจะเป็นที่กรุงมอสโกนี้ที่จุดประกายในใจของลุงเส ก่อนจะถูกกลั่นกรองเป็นบทประพันธ์ต่อมาในครรลองชีวิตนักเขียน ‘ปีศาจ’ (2496) เขียนขึ้นในวัย 35 ปี ขณะที่ความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าคุกรุ่นอยู่ในสำนึก ต่อมาภายหลัง หนังสือเล่มนี้มีชีวิตของตัวเอง กลายเป็นคู่มือทางความคิดของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเท่าเทียมของพลเมือง
“แล้วพี่จอยเกิดที่ไหนครับ” ผมเข้าเรื่อง ความจริงวันนี้ผมขอนัดเธอเพราะอยากรู้จักผู้หญิงคนนี้ที่ผมเคยพบครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน เธอเป็นผู้หญิงผมสั้นสีทองสะดุดตา ใส่แว่นกระทรงกลมรับกับใบหน้า
“พี่เกิดที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ตอนนั้นพ่อกลับจากมอสโกมาเมืองไทยเพื่อแต่งงานแล้วเดินทางไปประจำสถานทูตที่อาร์เจนตินา วัยเด็กพี่ก็ติดสอยห้อยตามพ่อไปที่ต่างๆ จำได้ว่ามี นิวยอร์ก อินเดีย ตอนพ่อไปประจำที่สถานทูต ประเทศอินเดีย พี่อายุ 7 ขวบแล้ว ถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน พ่อเลยทิ้งพี่กับน้องชายไว้ที่เมืองไทย”
“ชีวิตที่เมืองไทยตอนที่พ่อแม่ไม่อยู่เป็นยังไงบ้าง”
“พี่ถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำที่วัฒนาวิทยาลัย มียายและญาติฝั่งแม่คอยดูแล ตอนนั้นชีวิตรันทด (หัวเราะ) จำได้วันเสาร์อาทิตย์เพื่อนๆ กลับบ้าน แต่ละคนมีรถหรูหรามารับ ส่วนเรา—ยายให้ลุงนั่งตุ๊กๆ มารับ ไอ้เราก็อ๊ายอาย โดนล้อด้วย พอกลับมาอยู่ประจำ เพื่อนๆ ก็เอาชุดนักเรียน รองเท้า ชุดนอนหรูๆ จากห้างฯ ไดมารู มาอวดโชว์กัน ของเราก็ชุดนอนจากประตูน้ำ แต่ก็นั่นแหละในวัยเด็ก ก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะเหยียดอะไรกันจริงๆ จังๆ ล้อเอาสนุกเท่านั้นเอง” ผมฟังพี่จอยเล่าต่อไปโดยไม่ขัดจังหวะ เพราะเรื่องราวชีวิตบางส่วนของเธอที่ดำเนินคู่ไปกับบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ค่อยๆ เผยตัวออกมา
“พี่อยู่โรงเรียนวัฒนาฯ ได้ 3-4 ปี พ่อก็ถูกย้ายไปประจำที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย (2511-2515) คราวนี้พ่อพาเราไปด้วย เข้าโรงเรียนที่โน่น พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ก็พอเขียนได้ เขาให้แนะนำตัว เราก็เขียนชื่อบนกระดานดำ เขียนปีเกิด แต่เขียนเป็นปี พ.ศ.นะ เพื่อนในห้องหัวเราะกันใหญ่บอกว่า ‘เธอมาจากอนาคต’ ขำกันมาก พี่อยู่ที่เวียนนา 4 ปี พูดภาษาเยอรมันได้คล่องเลย”
“ชีวิตลูกสาวนักการทูตตอนนั้นเป็นยังไงบ้างครับ”
“ก็ปกตินะ เพื่อนๆ ก็เป็นลูกข้าราชการ นักการทูตกันหมด บ่อยครั้งที่เรานัดกันในวันที่มี reception ของแต่ละประเทศ วันนี้ที่สถานทูตนี้ วันพรุ่งนี้ที่สถานทูตนั้น พ่อๆ ก็คุยกัน เด็กๆ อย่างเราก็สนุกสนานของเราไป จากนั้นก็ไปลอนดอน ไปเรียนแล้วก็มีกลุ่มเพื่อน เราก็สนุกสนานตามวัย เที่ยวเล่น เป็นสาวเปรี้ยว ย้อมผม ทาเล็บดำ แต่งตัวเป็นพังค์เลย ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่
“มีอยู่ปีหนึ่ง พ่อแม่ก็ส่งเราไปเรียนภาษาที่ฝรั่งเศส เป็นอุบาย เพราะเราเริ่มไม่ค่อยเรียนแล้ว เอาแต่เที่ยว เป็นช่วงวัยรุ่นอายุ 17-18 พี่ไปอยู่กับคุณตาปรีดี (ปรีดี พนมยงค์) คุณตาปรีดีเรียกให้พี่มาช่วยอ่าน ช่วยเขียน พี่ไม่เอา อยากแต่จะไปเที่ยว นึกแล้วก็เสียดายช่วงเวลานั้นมาก คิดไปถึงตอนนั้นแล้วอยากจะเอาหัวโขกกำแพง”
“แล้วกับคุณพ่อ พี่ได้ช่วยงานท่านบ้างไหม”
“มีคนชอบถามว่าเป็นยังไง เกิดมาเป็นลูกเสนีย์ เสาวพงศ์ มันก็ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ถ้านิวเกิดเป็นลูกปิกัสโซก็คงไม่ได้ตื่นเต้นอะไรใช่ไหม เพราะบทบาทของเขาก็คือพ่อ ตอนเขาอยู่บ้านเขาก็เป็นพ่อ แต่ออกไปทำงานเขาก็มีอีกบทบาทหนึ่ง พี่มาซึมซาบตอนพ่อเกษียณ กลับมาอยู่เมืองไทย พี่ขับรถให้พ่อ พาไปโน่นมานี่ อยู่บ้านพ่อก็เขียนหนังสือที่โต๊ะนั้น (ชี้ไปที่ห้องด้านใน) พิมพ์ดีดอยู่ตรงนั้น แม่เป็นคนอ่านปรู๊ฟให้พ่อ เราก็เริ่มสนิทกัน ตอนพี่เป็นเด็กเราไม่ได้คุยกับพ่อมาก ครอบครัวเราเป็นครอบครัวโบราณ มีระยะห่าง พ่อเป็นคนที่ลูกๆ เกรงใจ วันไหนอารมณ์ไม่ดีเราจะรู้เลย ปกติพ่อเป็นคนเงียบขรึม จะมาผ่อนคลายก็ตอนเกษียณเเล้ว อาจจะเป็นเพราะพ่อแม่แต่งงานช้า ช่วงที่พ่อทำงานเราก็ยังอายุน้อย ไม่กล้าคุยกล้าเล่น ตอนนี้เจ็บใจ ทำไมเราไม่ถามโน่นถามนี่ให้มากกว่านี้”
“พี่เพิ่งมาได้อ่าน ‘ปีศาจ’ ก็ช่วงที่พ่อถูกย้ายมาประจำอยู่สถานทูตที่ลอนดอน ตอนนั้นปี 2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ‘ปีศาจ’ ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว และดูเหมือนมีอิทธิพลต่อความคิดของปัญญาชนพอสมควร มีคนมาหาพ่อที่สถานทูตมากมายเพราะได้อ่าน ‘ปีศาจ’ ตอนนั้นเราก็เริ่มรู้แล้ว”
มาถึงจุดหนึ่ง ชีวิตของพี่จอยก็ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากความสนใจของเธอคือภาษาและประวัติศาสตร์ ในวัยเรียนเธอบอกว่าหากต้องให้อ่านประวัติศาสตร์ยุโรป เธอสามารถอ่านรวดเดียวจนจบ เพราะสนุกไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนวิชาคณิตศาสตร์นั้นเธอไม่เอาเลยถึงขนาดขัดแย้งกับอาจารย์เรื่องความสำคัญของคณิตศาสตร์ในชีวิตจริง อย่างไรก็ตาม การเรียนปริญญาตรีด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยเมืองก็องต์ ประเทศฝรั่งเศส ที่เธอเริ่มเรียนต้องสิ้นสุดก่อนเวลาอันควร และช่วงเวลาของวัยรุ่นก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ใหญ่ฉับพลัน เพราะเมื่อพ่อป่วยและล้มลงต่อหน้าต่อตาเธอขณะเป็นเอกอัครราชทูตที่เมืองแอดดิส อาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย (2518-2521) ทำให้เธอได้คิดว่าควรทำอย่างไรถึงจะเรียนจบให้เร็วที่สุดเพื่อเริ่มรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง เพราะขณะนั้นมีน้องอีก 3 คนที่ยังเรียนอยู่ เธอจึงเบนเข็มมาเรียนวิชาบริหารธุรกิจที่ลอนดอน เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว
ภาพของเสนีย์ เสาวพงศ์ที่วาดไว้เมื่อปี 2548 แขวนเด่นสง่าอยู่กลางห้อง เล่าเรื่องราวของลุงเสไว้อย่างรวบรัดและครบถ้วน รายชื่อหนังสือและนามปากกาอยู่ที่ฉากหลัง ภาพเหมือนของวัยหนุ่มประดับด้วยรอยยิ้ม ถัดมาเป็นภาพเหมือนในวัยกลางคนท่วงทีครุ่นคิด ทอดสายตาออกไปไกล กรอบไม้สีน้ำตาลเข้มที่ทาประดับด้วยสีทองบางส่วน ส่องประกายกับแดดที่ทอสายเข้ามาในห้อง
“ทำไมพี่ถึงให้ความสำคัญและแสดงตัวเพื่อเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำของสังคม ทั้งๆ ที่พี่อยู่ในฐานะที่ไม่ต้องสนใจก็ได้ ชีวิตพี่ก็ดีอยู่แล้ว” ผมตั้งคำถามถึงบทบาทในระยะหลังของเธอที่มีต่อสังคม
“จุดหนึ่งเป็นเพราะพ่อ พ่อไม่ใช่เพียงแค่เขียนเพื่อพูดถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรจะมีเท่ากัน แต่ในชีวิตจริง พ่อเป็นคนมีเมตตาต่อคนที่อ่อนด้อยน้อยศักดิ์มาก พ่อไม่เคยดูถูกหรือเหยียดคน แต่จะอ่อนโยนและเมตตา พ่อจะให้เกียรติเสมอ ไม่ว่าแม่บ้าน เด็กเสิร์ฟ หรือคนที่อ่อนอาวุโสกว่า และให้เกียรติผู้หญิงมาก พี่ถูกปลูกฝังมาแบบนี้ จากการเห็นสิ่งที่พ่อทำให้เห็นมาตั้งแต่เด็ก เราโชคดีที่เกิดมาไม่ลำบากขัดสน เราควรมีน้ำใจมองเห็นคนอื่นด้วย โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ หากไม่ช่วยประชาชนนี่ ผิดพลาดมากนะ เป็นอีลีทแล้วไม่เดือนร้อนยิ่งต้องช่วยสังคม คนที่ปากกัดตีนถีบต้องหาเงิน พวกเขาไม่มีเวลามาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง อย่ามาพูดว่าคนจนงอมืองอเท้า เป็นกรรมเป็นเวร อย่ามาพูดนะ มันไม่มีใครอยากงอมืองอเท้าหรอก เพียงแต่เขาไม่มีโอกาส”
“แล้วสิ่งที่พี่แสดงออกหรือเรียกร้อง มันกระทบกับสถานะทางสังคมของพี่ไหม”
“ถ้าเราเห็นกำแพงก็อย่าวิ่งเอาหัวไปชนสิ หัวแตกบาดเจ็บแล้วได้อะไรขึ้นมา หากพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม หากเชื่อว่าเมื่อเกิดมาคนเท่ากัน ทำไมประเทศอื่นคนเขาถึงคิดเรื่องความเท่าเทียมได้ ใครจะดีกว่าใครก็เป็นการขวนขวายส่วนตัว แต่ทุกคนควรจะได้รับสิทธิเท่ากันก่อน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่ประเทศไทยนี่ปี 2561 แล้ว ยังไม่มีการคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง น่าเสียดาย สงสัยว่าทำไมเรื่องแค่นี้เราทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรากับเขาก็คนเหมือนๆ กัน เราไม่ได้ยับเยินจากสงครามเหมือนญี่ปุ่นหรือเยอรมัน แต่ทำไมเราไม่ขยับไปข้างหน้า เพิ่มมาตรฐานของชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พี่คิดว่าทำไมเราต้องทน ทำงานมากเท่าไหร่ก็ไม่มีเงินเก็บ มีแต่หนี้ คนรุ่นพ่อแม่เราถึงแม้จะไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ถ้าขยันทำงานเก็บหอมรอมริบ ก็สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ ส่งลูกเรียนหนังสือได้ แต่สมัยนี้ทำงานทั้งผัวทั้งเมียยังจนอยู่ มันต้องมีอะไรผิดปกติ”
“ไม่กลัวถูกเพ่งเล็งหรือ”
“พี่เห็นว่ามันไม่ถูกต้องตั้งแต่มีรัฐประหาร แต่เราก็เกรงใจญาติผู้ใหญ่ ตอนที่พวกเขามีชีวิตอยู่ เราก็ไม่แสดงตัว พูดมากไม่ได้ แต่พอพ่อแม่เสีย ลุงซึ่งเคยเป็นผบ.ทบ.และป้าก็สิ้นแล้ว เราก็สามารถเป็นตัวของตัวเอง แสดงความคิดเห็นได้อย่างที่เราต้องการ”
บ่ายคล้อยใกล้เย็น ผมนั่งฟังพี่จอยเล่าจนเกือบลืมเวลา ฟ้าปลายฝนต้นหนาวเริ่มครึ้มเพราะเมฆฉ่ำสีเทาเข้มบดบังแดดสีส้มเหลืองไว้ไม่ให้ผ่านลงมา ฝนปลายฤดูกำลังจะสั่งลาฟ้า ผมถ่ายภาพพี่จอยในมุมที่เคยถ่ายภาพลุงเส เพียงแต่ต่างวาระ

“นิวรู้ไหม ทำไม ‘ปีศาจ’ ถึงยังถูกอ่าน ทำไมยังเป็นคู่มือของนักกิจกรรม เพราะตราบใดที่ความเท่าเทียมไม่มี ‘ปีศาจ’ ก็จะถูกอ่านอยู่เสมอ แต่ถ้ามีความเท่าเทียม ‘ปีศาจ’ ก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย”
“ทุกคนมี ‘ปีศาจ’ อยู่ในตัว ทุกคนก็เห็นอย่างที่พ่อพี่เห็น เห็นว่ามีความไม่ถูกต้อง เห็นว่ามีการเอารัดเอาเปรียบ เห็นว่ามีความไม่ยุติธรรม อยากให้เขียนออกมา แสดงมันออกมา นิวลองคิดดูนะ ถ้าพ่อคิดว่าไม่รู้จะเขียนอะไรหรือไม่ได้เขียนสิ่งเหล่านี้ออกมา ก็คงไม่มี ‘ปีศาจ’ เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ ‘ปีศาจ’ ตัวนี้ออกมา”
เสียงของ ‘ลูกสาวปีศาจ’ ฉะฉานชัดเจน แทรกเข้ามาดังก้องอยู่ในหัวของผมเหมือนแสงแดดส่องทะลุเมฆเทอะทะสีเทาทึบ
*
*ความเรียงเรื่อง เสนีย์ เสาวพงศ์ | ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เผยแพร่ครั้งแรกที่นิตยสารไรท์เตอร์
*ความเรียงเรื่อง ศราพัส บำรุงพงศ์ เผยแพร่ครั้งแรกที่ The Momentum
ภาพพอร์ทเทรทและความเรียง | ศุภชัย เกศการุณกุล