top of page

เหมืองทองวังสะพุง

Updated: May 29, 2020



เมื่อเดินเข้าไปในโรงงานถลุงแร่ที่ถูกทิ้งร้าง ผมรู้สึกเหมือนอยู่ใน No Man’s Land


ร่องรอยของกิจกรรมถลุงแร่ทองคำยังคงอยู่ ในรั้วโรงงานมีกองสินแร่ขนาดใหญ่กองไว้เหมือนภูเขาลูกย่อมๆ เครื่องจักรขนาดใหญ่มีสนิมเกรอะกรัง ถังเก็บสารเคมีถูกกองสุมไว้เป็นกองพะเนิน ในถังขนาดมหึมามีใบพัดขนาดใหญ่มีน้ำขุ่นข้นสีดำชวนให้นึกถึงสารพิษที่อาจทำให้ตายได้ในเวลาไม่นานท่วมอยู่เกือบครึ่ง ผมเดินไปตามทางเหล็กสูงราวตึกสามชั้น ไต่ไปตามบันได้มองดูซากของโรงงานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของแหล่งกำเนิดสารพิษหลังจากบดหินจากภูเขาทั้งลูกให้กลายเป็นฝุ่นผงและสกัดเอาแร่ราคาแพงไปแล้ว



ในช่วงปี 2559 ผมเคยมาที่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง เพื่อมาถ่ายภาพนักกิจกรรมและอาสาสมัครที่ต่อสู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านเพื่อรณรงค์ปิดเหมืองฟื้นฟูธรรมชาติ วันนั้นเป็นวันบุญหมู่บ้านที่ชาวบ้านทำเพื่อต่ออายุ “ภู” เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาบางภูถูกระเบิดทำลายและถูกเจาะเป็นหลุมขนาดมหึมาเพื่อหาสายแร่ทองคำ ในขณะที่บริษัทเจ้าของประทานบัตรกำลังขยายงานเหมืองแร่ไปสู่ภูลูกอื่นๆ


ในตอนนั้นชาวบ้านยังต้องแอบพาผมเดินลัดผ่านสวนยางพาราเพื่อไปดูภูที่ถูกตัดและระเบิดเพื่อหาสินแร่ ถนนเวียนลงไปในก้นหลุมเหมือนก้นหอยใหญ่โตมหึมา น้ำฝนที่ขังอยู่ก้นบ่อมีสีน้ำเงินล้ำลึก สีสวยแต่เต็มไปด้วยสารพิษ แอ่งน้ำที่เคลือบไปด้วยผงทองบนน้ำพิษสีดำ ในแหล่งน้ำตรวจพบโลหะหนักและสารพิษที่รั่วไหลมาจากแหล่งบำบัดที่มีกลิ่นสารเคมีที่คละคลุ้ง บรรยากาศดูเศร้าเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก แม้ว่ากำลังใจในการต่อสู้ยังไม่เหือดหายไปไหน แต่แกนนำชาวบ้านหลายคนถูกแจ้งความผิดและอยู่ในระหว่างดำเนินคดี


ต้นปี 2020 ผมได้รับข่าวจากน้องอาสาสมัครบอกว่าการต่อสู้ของชาวบ้านสิ้นสุดแล้วอย่างน้อยก็ในตอนนี้ บริษัทเจ้าของเหมืองถูกฟ้องล้มละลาย ชาวบ้านได้รับการชดเชย ธรรมชาติกำลังจะได้รับการวางแผนฟื้นฟู โรงงานกำลังถูกขายทอดตลาด และชาวบ้านกำลังวางแผนพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้

ไม่กี่วันต่อมาผมนั่งอยู่บนหลังรถกระบะตระเวณดูพื้นที่เหมืองเดิมพร้อมฟังคำบรรยายของ พ่อไม้ (สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์) หนึ่งในแกนนำ “คนรักษ์บ้านเกิด 6หมู่บ้าน” พ่อไม้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการผลิตแร่ พาไปดูขี้หินที่โรงงานทิ้งไว้สูงจนกลายเป็นภูเขาอีกลูก แหล่งน้ำที่มีสารพิษรั่วไหลปะปน บ่อทิ้งของเสียที่เวิ้งว้างไกลสุดลูกหูลูกตา สารไซยาไนด์ สารหนู แคดเมี่ยมถูกทิ้งไว้แทนแร่ทองคำ กลิ่นสารเคมีคละคลุ้งอยู่ในอากาศ บรรยากาศเวิ้งว้างคล้ายฉากในภาพยนตร์ อากาศหนักหน่วงอาจเป็นเพราะความร้อนและบรรยากาศที่ถูกทิ้งร้าง นานๆมีลมพัดมาวูบหนึ่งพักฝุ่นให้ตลบขึ้นมาอีกครั้ง

แม่ไม้ (วิรอน รุจิไชยวัฒน์) แม่รจ (ระนอง กองแสน) แม่ไหม่ (ไหม่ รามศิริ) เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการต่อสู้กับทุนและอำนาจ ราวกับถูกปล้นบ้านโดยอำนาจบาตรใหญ่ แล้วยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพราะพยายามป้องกันทรัพย์สินของตัวเอง

“มันเหมือนไม้ซีกไปงัดไม้ซุง” แม่ไหม่ เล่าให้ฟังถึงเริ่มแรกการต่อสู้ที่ดูเหมือนไม่มีทางที่จะปกป้องชุมชนของตัวเองได้


ชาวบ้านจะไปสู้อะไรกับทุนมหาศาล อำนาจล้นฟ้า มันอาจเป็นการต่อสู้ที่มืดมน มองไปทางไหนก็ตีบตัน สิทธิพื้นฐานก็ต้องสู้ทวงถาม ปากท้องก็ต้องหาเลี้ยง แล้วชาวบ้านธรรมดาจะเอาที่ไหนไปสู้ ?


เสรีภาพ และสิทธิที่ควรมีควรได้ไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอแต่ได้มาด้วยการต่อสู้ เพราะการร้องขอไม่เคยได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านขัดแย้งกับทุนขนาดใหญ่และอำนาจเหลือล้น


“แต่เราต้องสู้ไปเรื่อยๆ เพื่อลูกเพื่อหลานของเรา เผื่อว่าวันหนึ่งเราจะชนะ” แม่ไหม่ยังยืนยันคำเดิม ไม่ใช่เพราะตัวเองแต่เพื่อลูกหลานของเธอในอนาคต เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เห็นพ้องต้องกัน ที่ไม่อยากให้เด็กๆต้องดื่มน้ำที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ต้องการให้พวกเขาใช้ชีวิตกับความหวาดระแวงโรคภัยที่แฝงมากับสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร อากาศที่ใช้หายใจ

การต่อสู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจึงเริ่มต้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งด้วยความช่วยเหลือจากอาสาสมัครและเอ็นจีโอ


บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกฟ้องล้มละลายเมื่อปี 2561 แม้ว่าชาวบ้านวังสะพุงจะชนะในการต่อสู้ครั้งนี้แต่สงครามแย่งชิงทรัพยากรยังไม่จบสิ้น พวกเขายังต้องเฝ้าระวังทุนที่ใหญ่กว่าที่อาจจะมาขุดทองในอนาคต ในระหว่างนี้พวกเขากำลังวางแผนสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อบอกเล่าถึงบทเรียนของการต่อสู้


สารคดี โดย ศุภชัย เกศการุณกุล

117 views0 comments
bottom of page