ไพโรจน์ สิงห์อุสาหะ เริ่มว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ จากนั้นก็ติดทีมชาติเมื่ออายุ 16 ปี เขาเป็นหนึ่งในนักว่ายน้ำที่เคยสร้างสถิติประเทศไทยไว้ในท่ากบ 100 เมตร และ 200 เมตร เมื่อเลิกว่ายน้ำโค้ชโรจน์ผันตัวมาเป็นครูสอนว่ายน้ำ นับแต่วันที่มาเป็นโค้ชถึงวันนี้ก็ราวๆ 30 กว่าปี
โค้ชโรจน์เรียนรู้การฝึกนักกีฬาจากประสบการณ์ของตัวเอง และจากการเฝ้าสังเกตโค้ช ชินอิจิ ทากากุ ชาวญี่ปุ่นที่เขาเคยเป็นผู้ช่วยราวๆ 1 ปี เทคนิควิธีต่างๆ เมื่อได้รู้แล้วก็นำมาปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะนิสัยของคนไทยเล็กน้อย เพื่อให้ทุกอย่างไปได้อย่างราบรื่น ประเด็นหลักคือลดระเบียบวินัยที่เข้มข้นแบบญี่ปุ่นให้ดีกรีเบาบางลง
โค้ชโรจน์วางการฝึกสอนที่สโมสรวิชั่น (Vision Swimming Academy) ไว้เป็นขั้นบันได โค้ชบอกว่านักว่ายน้ำวัยเด็กเราสอนให้เขาสนุกกับการว่ายน้ำ แล้วหลังจากที่ร่างกายเขาได้ พื้นฐานจิตใจเข้าที่เข้าทาง เราก็ค่อยๆ เพิ่มความเข้มงวดไปทีละน้อย และแต่ละขั้นมีการสอบวัดความสามารถ โดยใช้ท่าว่ายน้ำ เวลา และระยะทางการว่ายน้ำ เป็นบททดสอบ ซึ่งการที่เราจะฝึกนักว่ายน้ำให้เป็นนักกีฬาได้เราต้องมีโค้ชที่ดี โค้ชต้องผ่านการฝึกมาพอสมควร
ในช่วงเช้าผมเห็นโค้ชยืนอยู่บนขอบสระฝึกสอนนักกีฬาที่ว่ายอยู่ในน้ำเรียงแถวกันไป ว่ายกันไม่หยุดอย่างไม่รู้เหนื่อยหน่าย จับเวลา ปรับท่าทางให้สมบูรณ์แบบ ให้คำแนะนำ แต่ในช่วงบ่ายจะลงน้ำสอนเด็กๆ เป็นแบบนี้เกือบทุกวัน
ผมสงสัยว่าโค้ชระดับนักกีฬาทีมชาติยังต้องลงไปสอนเด็กด้วยหรือ ทำไมไม่ให้สตาฟช่วยฝึก มันน่าจะเป็นการส่งต่อเป็นขั้นเป็นตอน
โค้ชโรจน์บอกว่าเขาชอบคำแนะนำของนักฝึกสอนชาวอเมริกันที่บอกว่า โค้ชไม่ควรละเลยในการฝึกนักว่ายน้ำวัยเด็กตั้งแต่พื้นฐาน เพราะมันเป็นส่วนสำคัญทั้งของนักกีฬา และที่สำคัญมันทำให้โค้ชได้ทบทวนพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา และการที่เราจะฝึกนักว่ายน้ำให้เป็นนักกีฬา เราจำเป็นต้องมีนักว่ายน้ำมากพอควร เพื่อที่จะคัดกรองให้บางคนเป็นนักกีฬา ที่สโมสรจึงทุ่มเวลากับนักว่ายน้ำรุ่นเด็กๆ เพื่อสร้างฐานของเราเอง
.
โค้ชโรจน์เป็นคนพูดน้อย ผมมีเวลาช่วงต้นบ่ายในการสัมภาษณ์ราวๆ 45 นาทีก่อนที่โค้ชต้อง “ลงน้ำ”
ในช่วงแรกโค้ชตอบคำถามสั้นๆ ผมต้องถามรายละเอียดเพิ่มเติม และมีเดดแอร์เป็นช่วงๆ ซึ่งถูกเติมให้เต็มด้วยรอยยิ้มเขินๆ ของอดีตนักว่ายน้ำ ต่อเมื่อถึงช่วงท้ายเราพูดคุยถึงความชอบอะไรที่ทำให้โค้ชทำงานรูทีนแบบนี้ทุกวันได้ หรือคิดว่าในอาชีพสร้างนักกีฬาเขามีวิธีคิดอย่างไร คำตอบจึงได้พรั่งพรูออกมา
ที่โค้ชโรจน์เป็นครูสอนว่ายน้ำมา 30 กว่าปีอย่างไม่เหนื่อยหน่าย เพราะเขามีความหวังและเห็นปาฏิหารย์อยู่เสมอ จากนักว่ายน้ำที่ไม่มีวี่แววอะไรกลับกลายเป็นนักกีฬาที่สามารถสร้างสถิติใหม่ๆ และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอ
.
ไพโรจน์ สิงห์อุสาหะ | ผู้ฝึกสอนนักกีฬาว่ายน้ำ
สถาบันว่ายน้ำ วิชั่น อะคาเดมี Vision Swimming Academy
Comentarios