ผมเคยอ่านบทความชิ้นหนึ่งบอกว่าผู้ชายมีอาการที่จะรู้สึกว่ารถยนต์หรือเครื่องมือต่างๆที่พวกเขาผูกพันธ์ มีชีวิต ความรู้สึก และบ่อยครั้งที่พูดกับมันเหมือนเป็นเพื่อน
บทความนี้มีเหตุผลและเค้าความจริงอยู่บ้าง เพราะบางครั้งผมรู้สึกว่ากล้องตัวอื่นๆอาจจะมีอาการน้อยใจ ถ้าผมรักกล้องตัวใดตัวหนึ่งมากกว่า
เมื่อย่างเท้าถึงปารีส ผมใช้เพื่อนเก่า FM2 บันทึกภาพวันแรกที่ผมไปถึง และใช้งานต่อๆมา โดยสลับใช้เลนส์ 35mm f/2 กับ 50mm f/1.4 ซึ่งเลือกหยิบเลนส์ก่อนออกจากบ้าน
และพกไปเพียงครั้งละตัว ฟิล์มขาวดำ เมื่อเวลาผ่านไป และวางแผนว่าจะกลับเมืองไทย ผมตัดสินใจซื้อกล้องตัวใหม่ กล้องที่เป็นตำนาน กล้องยี่ห้อเดียวกับที่เคยอยู่ในมือของช่างภาพมาสเตอร์ที่เคยเดินอยู่ในปารีส ช่างภาพคนไหนบ้างไม่เคยที่จะลองหยิบจับ เลื่อนชัตเตอร์ ลองโฟกัส แล้วกดชัตเตอร์บนกล้องไลก้า อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งอยากสัมผัสมัน
Leica M2 + Summicron 50 f/2 เป็นกล้องที่ผมใช้งานมากที่สุดในระยะหลัง และสร้างงานให้ผมมากที่สุด
ผมได้กล้องตัวนี้มาโดยตั้งใจซื้อเพื่อบันทึกความทรงจำไว้เป็นที่ระลึก ซื้อที่ร้านขายกล้องมือสองแถวๆ Chamin Vert ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก เพียงรู้ว่า m2 ราคาเหมาะกับผมที่สุดในตระกูล m ไม่มีระบบวัดแสง และมี frame line สำหรับเลนส์ 35 50 90 เมื่อรู้ว่าคู่มือเราคือกล้องตัวนี้แน่ๆ มีอาการเหมือนเด็กที่อยากได้ของเล่นชิ้นหนึ่งมานานแล้ว แต่เพิ่งเก็บเงินได้ครบจำนวน และรวบรวมความกล้าที่จะทำตามความปรารถนา
ผมกำเงินเดินเข้าไปในร้านที่มาเดินดูวนเวียนอยู่หลายรอบแล้ว เลือกกล้องที่อยู่ในตู้ เลือกมาโดยไม่ได้ตรวจเช็คอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะไม่รู้จักกล้อง ไม่รู้จะตรวจอะไร เมื่อกลับมาบ้านก็เอามาลูบๆคลำๆ ใจเต้นแรง ฟังเสียงชัตเตอร์ที่ความเร็วต่างกันครั้งแล้วครั้งเล่า ฝึกโหลดฟิล์มเข้ากล้องจนคล่องแคล่ว มองเข้าไปในวิวฟายเดอร์เพื่อทำความคุ้นเคยกับเฟรม เพื่อนแนะนำว่าต้องนำกล้องไปตรวจเช็ค ปรับความเร็วชัตเตอร์ และทำความสะอาดกลไก ผมเอาไปส่งที่ร้านซ่อมกล้องมือสองแถวๆร้านที่ซื้อมา รออยู่สองสามอาทิตย์ ในระหว่างนั้นหาซื้อเลนส์ 50 มิลลิเมตร
ผมคิดถึงการใช้เลนส์ตัวเดียวในการทำงาน และพยายามฝึกอยู่เสมอ สมัยเรียนผมเคยใช้เลนส์ 35 mm.ตัวเดียว เพราะมันให้มุมมองที่กว้างดีเมื่อเริ่มจริงจังกับถ่ายภาพ และตั้งเป้าหมายว่าจะทำงานเป็นช่างภาพอาชีพ ผมปรับตัวกับเลนส์ระยะ 35 mm. อยู่พักใหญ่แต่ไม่ถนัด เพราะระยะภาพที่ผมต้องการทำให้ผมต้องเดินเข้าใกล้สิ่งที่ผมต้องการถ่ายภาพจนผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ระยะที่ผมสบายใจ มันใกล้เกินไป หรือไม่ก็กว้างเกินไป
เมื่อรู้จักระยะ และพื้นที่ว่าง คือรู้ระยะการมองของตัวเองทำให้เราปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวด้วยจังหวะแบบหนึ่ง ซึ่งมีวิธีเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพแบบหนึ่ง สำนวนภาพแบบหนึ่ง สอดคล้องไปกับท่วงทำนองของชีวิต และจังหวะก้าวเดินของตัวเอง ระยะที่เลนส์ 50 mm จึงเหมาะสมกับการมองของผมที่สุด
ผมชอบระบบการทำงานของ Leica M มันถูกสร้างขึ้นมาด้วยคอนเซ็ปต์เพื่อให้ใช้ตลอดชีวิต เป็นระบบกลไกทั้งหมด มีความแม่นยำสูง ไม่ต้องใส่แบตเตอรี่ น้ำหนักดี ไม่เบาหรือหนักเกินไป การจับถือขณะถ่ายภาพกระชับ และทำให้มือมีความรื่นรมย์ กลไกลื่น นิ่ม เงียบ และไว้ใจได้ไม่เคยรวนตามสไตล์เยอรมัน
การโหลดฟิล์มต้องโหลดหางฟิล์มเข้าสปูลเปล่าอีกอันหนึ่ง แล้วใส่เข้าไปในกล้อง และปิดฝาโลหะครอบอีกที ค่อนข้างช้า แต่ชัวร์ ฟิล์มไม่เคยหลุด หนามเตยพาฟิล์มผ่านช่องบันทึกภาพอย่างสม่ำเสมอ เมื่อฟิล์มหมดต้องโหลดฟิล์มกลับด้วยการหมุนก้านกรอฟิล์ม ช้า หนืด อยากให้มันเร็วกว่านั้นแต่มันเร็วได้แค่นั้น
กล้องไลก้าเป็นกล้องแบบเรนจ์ฟายเดอร์ โฟกัสด้วยการทำให้ภาพซ้อน ไม่มีกระจกสะท้อนแสง ทำให้กล้องไม่สั่นจากการพลิกกระจกขึ้นเพื่อให้แสงผ่านช่องไปกระทบกับฟิล์มเหมือนกลไกของกล้อง SLR หากมือนิ่ง กลั้นหายใจกดชัตเตอร์อาจได้ภาพที่หวังผลได้ที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/4 วินาที
เลนส์ขนาดเล็ก คมกริบ แต่นุ่มนวล ถ้าเป็นฟิล์มขาวดำไล่น้ำหนักเทาสวยงาม คอนทราสต่ำ ถ้าเป็นฟิล์มสีให้สีหวาน ระยะโฟกัสใกล้สุดคือ 75 cm. มันทำให้เราไม่สามารถเข้าใกล้สิ่งที่เราจะถ่ายภาพเกินมือเอื้อม ทำให้ผมขัดใจอยู่บ้าง แต่เมื่ออยู่กันสักพักก็ชิน
เครื่องมือมีผลต่อวิธีการทำงานอย่างมาก อย่างน้อยก็สำหรับผม จะว่าไป Leica M ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือที่ไว้ใจได้ ผมไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี เพราะมันเป็นประโยชน์และช่วยการถ่ายภาพในบางสถานการณ์ แต่ในงานลักษณะของผม ผมให้ความสำคัญกับช่วงเวลาในการทำงานมากพอๆกับผลของมัน และเครื่องมือที่กระตุ้นให้ช่างภาพพัฒนาทักษะการทำงานโดยพึ่งพาตัวเอง และขณะเดียวกันก็มีความรื่นรมย์ในการถ่ายภาพ
* ขอบคุณ Ernst Leitz
#leica #m2 #ateliersupachai #supachai #ศุภชัย
Comments