top of page

JEANLOUP SIEFF

Updated: May 5, 2020

Jeanloup Sieff (1933 - 2000)


ภาพถ่ายของ Jeanloup Sieff ( JLS ฌองลูป์ ซีฟฟ์ ) ชอบใช้เลนส์มุมกว้าง เดาดูน่าจะประมาณ 21 หรือ 24 mm. ซึ่งผมไม่ค่อยชอบผลที่ได้ของเลนส์มุมกว้างเท่าไหร่ เพราะมันทําให้เกิดมิติมากกว่าที่สายตาปรกติที่คนทั่วไปจะเห็น และระยะระหว่างช่างภาพ และแบบจะค่อนข้างใกล้ แต่ภาพของ JLS ให้ความคมชัด และดีเทลมาก อย่างไรก็ตามผมชอบโทนขาวดําที่เขาพริ้นท์รูปซึ่งมีคอนทราสต์ค่อนข้างมาก ขาวสะอาดๆ ดําลึกๆ พาลให้นึกถึงบุคลิกนิสัยของช่างภาพคนนี้ ผมเดาเอาว่าเขาน่าจะมีอารมณ์ค่อนข้างอ่อนไหว และชอบแสดงอารมณ์อย่างเปิดเผย


เมื่อใช้เวลาดูผลงานรวมภาพถ่ายของเขาในหนังสือเล่มโตตั้งแต่หน้าแรกไปหน้าสุดท้าย พบว่าเขาใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพพอทเทรต และแฟชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังใช้มันถ่ายภาพแลนด์สเคปได้อย่างพอเหมาะพอดี เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะชอบภาพถ่ายมุมกว้างขึ้นมา และยกเขาให้เป็นหนึ่งในช่างภาพที่ผมชื่นชอบ โดยเฉพาะภาพถ่ายสาวๆของเขา



Jeanloup Sieff (1933-2000) เป็นชาวฝรั่งเศส ไม่รู้เหมือนกันว่าทําไมช่างภาพที่ชอบมักจะเป็นชนชาตินี้ จะว่าไปผมเคยเห็นผลงานของช่างภาพเหล่านี้เมื่อเรียนจบใหม่ๆ เมื่อเป็นผู้ช่วยช่างภาพให้น้าพิท (พิทยา นนทเปารยะ) สตูดิโอถ่ายภาพนิ่งโฆษณา ที่สตูดิโอมีหนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายให้ดูมากมาย และหลายภาพติดตาประทับอยู่ในใจตลอดมา แม้จะจําชื่อช่างภาพไม่ได้เพราะตอนนั้นยังสนุกตื่นเต้นกับการได้ดูภาพมากๆ ไม่ได้ลงลึกอ่านประวัติหรือวิธีการทํางานของช่างภาพ เมื่อภายหลังได้ดูภาพมากขึ้นจึงได้จดจําชื่อช่างภาพ และอ่านประวัติของพวกเขาจึงพบว่าเขาเหล่านั้นเป็นชาวฝรั่งเศสเสียส่วนใหญ่


การมองโลกและการมีส่วนร่วมต่อสถานการณ์ตรงหน้าของช่างภาพเหล่านี้เป็นแบบ “บุคคลที่สาม” พวกเขาสังเกตุการณ์อยู่รอบนอก ไม่ได้เข้าไปอย่างมีส่วนร่วมมากนักแต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่อยู่ใกล้ชิดสถานการณ์ เพียงแต่พวกเขาเลือกที่จะสังเกตุเฝ้าติดตามแบบสงวนท่าที เว้นระยะระหว่างตัวเองกับเหตุการณ์พอควร ไม่ได้เน้นภาพที่เสมือนพาคนดูเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ดังนั้นเราจะรู้สึกเหมือนมีช่างภาพอยู่ใกล้ๆเราเสมอและช่างภาพคนนั้นคอยชี้ให้เราดูเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งแตกต่างจากภาพสารคดีระยะหลังๆที่มักจะเน้นการมีอารมณ์ร่วมของคนดูโดยการพาพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์อย่างใกล้ๆ จนคนดูรู้สึกตัวว่าเป็น “บุคคลที่สอง” ที่ร่วมเหตุการณ์ อาจเป็นเรื่องของเทคโนโลยีของกล้อง และเลนส์ถ่ายภาพ


ภาพถ่ายในยุค 50-70 มักใช้เลนส์ 50 เป็นเลนส์นอร์มอล ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนาม และหลังจากนั้นในแวดวงการถ่ายภาพเจอร์นัลลิสท์มักจะเลือกใช้เลนส์ 35 หรือ กว้างกว่านั้นในการทํางาน ปัจจุบันเลนส์ 35มิลลิเมตร คือเลนส์นอร์มอล


Jean-Loup Sieff ร่ำเรียนการถ่ายภาพราวเจ็ดแปดเดือน และเปลี่ยนที่เรียนสองสามครั้งเพราะเขาเบื่อหน่ายกับการเรียน จนเมื่อพบครูที่ถูกกับนิสัยของเขาที่คอยกระตุ้นให้คิด และเป็นแรงบันดาลใจ เขาจึงเรียนจบ และสนุกกับการถ่ายภาพ เมื่อเรียนจบเขาเริ่มต้นด้วยการเป็นช่างภาพเจอร์นัลลิสท์ซึ่งเป็นอาชีพที่เป็นก้าวแรกๆของช่างภาพรุ่นใหม่ๆ




ในสมัยนั้นซึ่งเป็นยุคทองของวารสารข่าว นอกจากจะเป็นการเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้กับช่างภาพใหม่ๆ แล้ว พวกเขายังพบกับการทํางานที่ตื่นเต้น และยังได้เห็นโลกได้กว้างขวางขึ้นอีกด้วย หลังจากทํางานเป็นช่างภาพเจอร์นัลลิสท์ได้ไม่นานบ่ายวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม 1955 เขาได้รับโทรศัพท์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาจากกองบรรณาธิการ Elle นิตยสารแฟชั่นที่มี section หนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานสารคดีภาพถ่าย


บรรณาธิการเสนอให้เขาไปทำงานสารคดีชิ้นหนึ่ง แม้ว่าช่วงนั้น JLSจะมีงานอื่นๆคั่งค้างอยู่แต่เขาก็หาเวลาว่างจนได้ (นี่เป็นเหตุผลที่เขาตอบคนที่ปลายสาย แต่ความจริงแล้วเขาดีใจจนแทบจะกรีดร้องออกมา และอยากจะตอบรับในทันที แต่ช้าก่อนเขาบอกตัวเองว่าควรจะเว้นระยะเวลาเพื่อเพิ่มราคาให้ตัวเอง) เพราะเขาถือว่ามันเป็นโอกาสครั้งสําคัญที่เขาต้องจับเอาไว้ให้ได้ นับจากนั้น JLS ได้ร่วมงานอย่างต่อเนื่องกับนิตยสาร Elle ร่วมสามปี หลังจากนั้นเขาก้าวข้ามไปสู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของการถ่ายภาพแฟชั่น


อย่างไรก็ตามไม่นานหลังจากได้ถ่ายภาพในโลกของความงามและความคิดสร้างสรรค์ เขาก็หวนคืนสู่โลกของความเป็นจริง JLS กลับมาร่วมงานกับ Magnum และได้รับผิดชอบในการทํางานหลายชิ้นส่วนใหญ่กินพื้นที่ในยุโรป ด้วยพรสวรรค์ และความโดดเด่นในมุมมองทางศิลปะ เขาได้รับรางวัง Niépce (เป็นรางวัลที่มอบให้กับช่างภาพชาวฝรั่งเศส โดยพิจารณาจากผลงานโดยรวม รางวัลนี้ตั้งชื่อตาม Nicéphore Niépce ผู้คิดค้นการถ่ายภาพ)


ในระยะเวลาการทํางานที่สั้นมาก แต่ว่ารางวัลไม่สามารถยึดเขาไว้ได้ เพราะการกลับมาสู่โลกของความจริงนี้กินระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเพราะเขาตัดสินใจเดินกลับย้อนกลับทางเก่า คราวนี้เขาตัดขาดตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมของโลกเก่า ข้ามไปอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก เขากลายเป็นช่างภาพที่มีสไตล์โดดเด่นที่นําสุนทรียภาพจากยุโรปไปบ่มเพาะและเติมโตในอเมริกา ช่วงเวลาแห่งการทำงานในดินแดนใหม่กินเวลา 5ปี (1961-1966) เขามีผลงานอย่างต่อเนื่องลงในนิตยสาร Glamour, Show Magazine, Look และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Harper’s Bazaar หลังจากนั้นเขาเดินทางกลับบ้าน เพื่อทํางานให้กับนิตยสารแฟชั่นในฝรั่งเศส และในยุโรป Queen, Vogue, Twen และ Jardin des Modes จวบจนบั้นปลายของชีวิต




ในวัยหนุ่มดูเหมือนเขายังไม่รู้จักตัวเอง หรืออาจเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวตน ในวัยเริ่มหนุ่ม JLS สนใจเรื่องความงามของร่างกายมาตั้งแต่ตอนเรียนศิลปะ สมัยเรียนเขาชอบสังเกตุการเต้นรําแบบคลาสสิคอยู่พักใหญ่ๆเพราะเขาหลงใหล ความงามของสรีระของมนุษย์ในยามที่พวกนักบัลเลต์เต้นรำบนอากาศในระหว่างนั้นเขาได้รับ assignment จากสถาบันบัลเลต์ของโอเปร่า การ์นิเยต์ Opéra Garnier ให้ถ่ายภาพนักบัลเลต์ เขาจึงถ่ายภาพชุดนี้ด้วยความรัก และสนใจ แล้วก็ใช่ว่าจะมีแต่ JLS ที่ก้าวมาสู่โลกแฟชั่น เพราะในช่วงเวลานั้นมีช่างภาพอีกหลายคนที่ก้าวเดินบนถนนเส้นเดียวกัน อาจเป็นเพราะว่านิตยสารแฟชั่นในยุคนั้นเป็นเวทีของการสร้างสรรค์ที่น่าสนใจยิ่ง


ภาพถ่ายเจอร์นัลลิสท์จึงมีให้เห็นไม่มากนักในงานของช่างภาพผู้นี้ แต่ผลงานที่มีอยู่น้อยนั้นบอกบางอย่างถึงการมองโลกในสายตาของกวี ภาพที่ผมชอบเป็นพิเศษคือภาพที่ JSL ถ่ายภาพคนพายเรือบริเวณแหลมโกลเด้นฮอร์น ในทะเลมาร์มารา, ตุรกี (Istanbul, 1959) และ รูปแม่ชีที่กรุงโรม (The Election of the Pope, Rome, 1958) ผมชอบภาพชายพายเรือเพราะผมรู้สึกว่า ภาพนี้น่าจะเกิดขึ้นในความฝันมากกว่าความเป็นจริง ท่าทางของเขา การแต่งตัว บรรยากาศ และเวลา ทําให้เกิดความรู้สึกที่แปลกประหลาด เหมือนจริงและไม่เหมือนจริง เป็นภาวะคล้ายๆครึ่งหลับครึ่งตื่น เหมือนกับว่าเราอยู่บนเรือลํานั้น ขึ้นลงไปตามคลื่นที่หนุนเรือ ขณะเดียวกันก็รู้สึกเหมือนเราเฝ้ามองภาพท่ีเกิดขึ้นในความฝัน อีกภาพหนึ่งเขาบันทึกภาพแม่ชีในอิตาลี เขาเห็นความงาม และความบริสุทธิ์ของหญิงสาวอ่อนเยาว์งดงามราวนางฟ้าในแบบของโลกที่มีเลือดเน้ือ ในขณะที่ความงามของเธอคือผู้ที่อุทิศตนต่อความศรัทธาเปิดเผยตัวอยู่ต่อหน้าเขา เขาเขียนบันทึกไว้ว่า


“ผมไม่รู้ว่าอะไรทําให้หัวใจของเธอแหลกสลาย ที่ผลักไสเธอเข้าสู่ศาสนจักรซึ่งไม่สามารถซ่อนความงาม และความอ่อนเยาว์ของเธอไว้ได้” สองภาพนี้ก็เพียงพอแล้ว ที่จะบอกว่าอารมณ์กวีหล่อเลี้ยงใจของช่างภาพผู้นี้อยู่ทุกห้วงขณะ



“ภาพที่ดีมีองค์ประกอบหลายอย่าง : ชั้นเชิงทางศิลปะ การจัดระเบียบของรูปทรง มิติของแสง การเลือกจังหวะ ภาพที่ดีมีน้อย และไม่สามารถชี้ชัดให้เฉพาะเจาะจงลงไปได้ แต่ทุกๆภาพจะมีส่วนที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ


ภาพถ่ายที่ดีเป็นมากกว่าตัวมันเอง มันนําพาเราให้ไปไกลกว่าสิ่งที่เห็น


จริงอยู่ว่าภาพถ่ายที่ดีมาด้วยความบังเอิญ แต่ไม่ใช่ความบังเอิญดาดๆ ธรรมดาๆ ที่ได้มาง่ายๆ เหมือนที่เห็นกันทั่วไป แต่เกิดจากความบังเอิญอีกแบบหนึ่ง เป็นความบังเอิญที่ปรากฏขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งถูกบันทึกไว้อย่างฉับพลัน แม้แต่ภาพที่ถูกจัดวางไว้แล้วก็ยังต้องการ “บางสิ่งบางอย่าง” นั้น (ผมนึกไปถึงภาพ Kiss ของ Robert Doisneau ที่จัดฉากขึ้น แต่มันมี “บางอย่าง” ในภาพนั้นที่ทําให้เกิดมนต์เสน่ห์บางอย่าง) อาจเป็นแสงบางอย่างที่ทําให้ภาพพอทเทรตบางภาพยากที่จะลืมเลือน หรือเมฆที่ก่อตัวขึ้นโดยบังเอิญขณะที่เราบันทึกภาพภูเขาหนึ่งๆ แล้วเมฆก้อนนั้นก็สลายไปในภาวะแบบนี้มีบางคนเท่านั้นที่เห็น ที่จะเข้าใจ และซาบซึ้งไปกับสิ่งที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า” JLS พูดต่อไปอย่างถ่อมตัวว่า “สําหรับผม ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมก็ได้แต่บันทึกภาพที่ผมพอใจ ซาบซึ้ง และเฝ้ารอที่จะได้ภาพดีๆ อีก”


ในบรรดาภาพพอทเทรตฝีมือ JLS มี “บางสิ่งบางอย่าง” ปรากฏอยู่ในภาพเสมอ เช่นในงานส่วนใหญ่ของผู้กํากับ และนักแสดงฝรั่งเศส กลุ่ม Nouvelle Vague ที่เขาได้รับอิทธิพลของ ความทันสมัย และความเท่ มาด้วยในฐานะคนรุ่นเดียวกันที่หายใจเอาอากาศแห่งการค้นหาตัวตน และท้าทายขนบเก่าๆ ร่วมกัน นักวิจารณ์ศิลปะภาพถ่ายเคยบอกไว้ว่างานของ JLS นั้นเรียบง่าย เท่ มักใช้ฉากหลังเรียบๆ ในแสงธรรมชาติปล่อยให้เห็นร่องรอยของอารมณ์บางคร้ังอ่อนไหวบาง บางครั้งบอบบาง


ในวัยหนุ่ม JLS หัดถ่ายภาพพอทเทรตของเพื่อนคนหนึ่ง โดยให้เธอยืนอยู่หลังกระจกโมเสกใส ทําให้เกิดภาพที่มีลักษณะแปลกๆ เพื่อนของเขาผิดหวังกับภาพถ่ายรูปนี้ ทําให้ JLS รู้สึกไม่ดีที่ทําให้เพื่อนผิดหวัง แต่เขาเขียนในสมุดบันทึกไว้ว่า “...บางครั้งภาพที่ไม่ดีก็จําเป็นที่จะต้องถูกถ่าย เพื่อที่เราจะเรียนรู้ที่จะไม่ทําซ้ำอีก...” ทัศนะการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกทําให้เกิด ชิ้นงานใหม่ๆอยู่เสมอ แน่นอนมันก็มีสําเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง และคงไม่ต่างอะไรไปจากการเรียนรู้ชีวิต


งานแฟชั่นเป็นงานที่ JLS ใช้เวลาคลุกคลีอยู่ด้วยในระยะเวลาที่ยาวนาน สิ่งที่เราเห็นเป็นเอกลักษณ์ในภาพขาวดําของเขาก็คือ ภาพมุมกว้าง ความเรียบง่าย สง่างาม สีขาวสะอาดตา สีดําที่มีน้ําหนักลึกล้ำ คอนทราสเด็ดขาดหนักแน่น หญิงสาวของเขา งาม สง่า สะอาด สรีระของเธอถูกถ่ายทอดออกมาอย่างหมดจด เต็มไปด้วยอารมณ์ เส้น แสงและเงา ยังไม่นับถึงรสนิยมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในคุณสมบัติ ของช่างภาพ



คําถามคลาสสิกคําถามหนึ่งที่นักสัมภาษณ์ถาม JLS ว่าเขามาเป็นช่างภาพได้อย่างไร JLS บอกว่าเขาไม่รู้เหมือนกัน คงเป็นความบังเอิญมั้งที่พ่อเขาให้กล้องเป็นของขวัญตอนเขาเป็นเด็ก เขาเลยถ่ายรูปตั้งแต่นั้นมาแล้วแถมท้ายว่าหากวันนั้นมีพู่กันเป็นของขวัญแทนกล้องถ่ายรูปเขาก็คงเป็นจิตรกรไปแล้ว หรือถ้าพาเขาเข้าไปในตลาดหุ้นเขาก็คงเป็นนักลงทุน เขาบอกต่อไปว่า “ความจริงแล้วมันมีหลายเหตุผลที่เขามาทํางานช่างภาพ หนึ่งในเหตุผลสําคัญๆก็คือรายได้ แต่ที่ พิเศษคือเขาได้รับเงินจากการที่เขาได้ทําในสิ่งที่เขาพอใจที่จะทํา เขาทํางานอยู่ในห้วงเวลาที่ commercial work กับ personal work ยังไม่แยกออกจากกัน ดังนั้นงานของเขาและเพื่อนจึง แสดงออกถึงตัวตนออกมาในงาน commercial สมัยนั้นช่างภาพมีเสรีภาพในการคิด และ แสดงออก...”


JLS ทํางานมาตลอดชีวิต เกือบจะทุกรูปแบบ และทะลุปรุโปร่งในศิลปะแขนงนี้ การถ่ายภาพของเขาไม่ได้ถูกแบ่งแยกเป็นแขนงต่างๆ สำหรับ JLS การถ่ายภาพก็คือการถ่ายภาพ เรียบง่าย ตรงไปตรงมาแบบนี้ ไม่มีซ้ายไม่มีขวา JLS บอกว่า “โลกของการถ่ายภาพมันไม่ได้แบ่งแยกเป็น แฟชั่น เจอร์นัลลิสท์ สารคดี หรือแนวทางศิลปะใดๆ” สําหรับเขาโดยไม่หวังให้ใครมาเห็นด้วยหรือไม่ เขาแบ่งภาพถ่ายออกเป็นสองพวก คือ “ภาพถ่ายที่ดี และภาพถ่ายที่ห่วย”


... ก็เท่านั้นเอง


*ภาพถ่าย | Jeanloup Sieff : jeanloupsieff.com


*ความเรียงสนับสนุนโดย MOMOEST

@supachai2020

117 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page