top of page

Les Parisiens - photobook | Interview | Video

'ปารีส' ภาพถ่ายและการผจญภัยครั้งสุดท้ายในวัยหนุ่ม

'ศุภชัย เกศการุณกุล'

บทสัมภาษณ์โดย อุศนา สุวรรณวงค์

วีดีโอ โดย ตะวัน พงศ์แพทย์

สำนักพิมพ์สมมติ


ที่จริงอาจเป็น 'บาร์เซโลนา' ไม่ใช่ 'ปารีส'

แต่รู้อีกที เขาและเธอกำลังนั่งรถคนแปลกหน้าที่มารับ รถกำลังเคลื่อนออกจากสนามบินชาร์ล เดอ โกล ฟ้ายังมืด ร่างกายยังอ่อนเพลียจากชั่วโมงบนเครื่องบินที่ยาวนาน

จนจวนหกโมงเช้า ฟ้าค่อยๆ สว่างขึ้น ภาพเช้าแรกที่ปารีสคือหอไอเฟลปรากฏอยู่เล็กๆ ลิบๆ ไกลๆ ในความหนาวเย็นของเดือนมกราคม



19 มกราคม 2002 ศุภชัย เกศการุณกุล และหญิงสาวข้างกายเดินทางถึงปารีส ในปีนั้น เขาเดินจากอาชีพช่างภาพที่กำลังเริ่มเข้าที่เข้าทางในไทย งานภาพถ่ายขาวดำประกอบบทสัมภาษณ์ของเขาได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารโอเพ่นต่อเนื่อง งานบางชุดตีพิมพ์กับนิตยสารจีเอ็ม ชีวิตการงานกำลังสนุก ท้าทาย และน่าทดลอง แต่โลกช่างภาพของเขาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสถานที่แห่งเดียว แสงในเย็นวันเดียว หรือแววตาใครคนเดียว การเดินทางพาภาพใหม่ๆ เข้ามาในวิวไฟเดอร์เสมอ ยากจะปฏิเสธความจริงนี้


วันนั้น ในกระเป๋าสู่ปารีสมีฟิล์มขาวดำกว่าร้อยม้วน เจ้าของกระเป๋าออกเดินทางด้วยความกระหายแบบช่างภาพหนุ่ม พร้อมความฝันในการทดลองใช้ชีวิตในเมืองที่เขาไม่รู้จัก และแทบไม่ได้ทำความรู้จักใดๆ มาก่อนเลย


ใจความภาพถ่ายปารีสที่ร่างไว้ในจินตนาการยังคงคลุมเครือ เบลอๆ ยังไม่เจอจุดโฟกัส




ทำความรู้จัก 'ปารีส'


เล่าถึงวันแรกที่ไปถึงปารีสให้ฟังหน่อย คุณไปกับใคร ?


ผมเดินทางไปกับภรรยา (ปริม) วันแรกพอเราออกจากสนามบินชาร์ล เดอ โกล์ ก็นั่งรถที่มีคนมารับเข้าเมือง ถนนวิ่งผ่านปารีสแค่นิดเดียว ที่อยู่ของเราอยู่ทางใต้ของปารีส ชื่อย่าน เมซง อัลฟอร์ วิลล์ ชานเมืองปารีส มาถึงที่พักผมก็โทร.หาพี่วิสุทธิ์ ( วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ เจ้าของธุรกิจนำเข้าสินค้าของตกแต่งบ้านจากเอเชียมาปารีส) ตอนนั้นออฟฟิศพี่เขาอยู่ในปารีสเขต 19 เขาบอกให้นั่งรถไฟเข้าเมืองไปหา ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย จากหอพักจะไปรถไฟฟ้ายังไม่รู้ทางเลย ภาษาฝรั่งเศสก็พูดไม่ได้ โชคดีที่แถวนั้นมีนักศึกษาที่พอพูดอังกฤษ ผมก็มั่วไป ตามที่พี่วิสุทธิ์บอกเส้นทางเราก็ทำตาม หลงนิดหน่อยแต่ก็ไปถึงจนได้


พี่วิสุทธิ์พาผมเดินดูออฟฟิศที่เป็นโชว์รูมและโกดังเก็บสินค้า แล้วก็แนะนำเพื่อนของเขาให้รู้จัก แถวนั้นเป็นชานเมืองผมยังไม่ได้เข้าไปในปารีสจริงๆ หรอก ตอนนั้น ผมคิดว่า ทำไมปารีสมันเป็นอย่างนี้วะ เพราะที่เราเห็นมันก็เป็นตึกที่ไม่ได้วิจิตรบรรจงมาก เรียบๆง่ายๆ


รุ่งขึ้น ผมไปหาพี่วิสุทธิ์อีกครั้ง เขาพาไปกินข้าวแถวบ้านซึ่งอยู่ใจกลางปารีส วันนั้นพอขึ้นจากรถไฟใต้ดินมา ผมก็ หูยยย นี่เหรอ ปารีส คือเพิ่งเห็นน่ะ มาสองสามวันถึงได้เห็นปารีสตรงที่เป็นไข่แดง

โผล่มาเห็น โอยยย สวย เหมือนกับที่เราเห็นในภาพยนตร์ จำได้เลยว่าเวลานั้นกำลังโพล้เพล้ สี่ห้าโมงในหน้าหนาว โห นี่ล่ะปารีส


ถัดไปอีกวัน ผมไปสมัครเรียนที่มหา'ลัยซอร์บอนน์ ต้องถามทางวุ่นวายไปหมด หาทางเข้ามหา'ลัยยังไม่เจอเลย เพราะที่นั่นมีหลายส่วนที่แยกเป็นแผนกธุรการ มีหลายประตู เจอรปภ.ก็บอกไปเข้าอีกประตู เดินไปอีกประตู รปภ.อีกคนก็บอกไปอีกประตู เดินวนอยู่รอบนึง สุดท้ายก็เข้าไปข้างในก่อนเลย ค่อยไปหาเอาทีหลัง ภาษาก็ไม่รู้สักคำเลย ดิ้นรน มั่วไปจนสมัครได้ อย่างว่าแหละเราไม่ได้เตรียมตัวเรียนภาษาอะไรไป แต่ก็โชคดีมีเจ้าหน้าที่ของซอร์บอร์นคอยช่วยเหลือ เรายังจำได้เลย เธอเป็นผู้หญิงผมแดงใส่แว่น ชื่อ Mme. Rougé แล้วก็มีรปภ.คนหนึ่งท่าทางเฮี้ยบๆคอยช่วยเหลือบอกทางเรา เราเรียกพี่เขาว่าพี่ยักษ์ ไปทีไรก็ยิ้มสวัสดีเขาทุกที


ทำไมตอนนั้นต้องเป็น 'ปารีส' ?


ผมอยากเดินทาง วันหนึ่ง ผมไปปรึกษาพี่สุวรรณ (สุวรรณ คงขุนเทียน เจ้าของบริษัทโยธกา) พี่ดีไซน์เนอร์ที่เป็นเหมือนเมนเทอร์ผมว่า อยากไปบาร์เซโลนา ประเทศสเปน แต่มีปัญหาที่หาข้อมูลไม่ได้ สมัยนั้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตยังไม่ค่อยมี เขาก็บอกว่า ไปปารีสสิ เหมาะกับคุณนะ ซึ่งผมก็นึกไม่ออกว่าเหมาะกับผมนี่เป็นยังไง บางทีเรายังไม่รู้จักตัวเอง เห็นโลกมาน้อย แต่เชื่อคำแนะนำของเขา จากนั้นพี่สุวรรณก็แนะนำให้รู้จักพี่วิสุทธิ์ ผมเคยได้เจอกันและแนะนำตัวกับพี่วิสุทธิ์ครั้งเดียวที่กรุงเทพฯ จากนั้นเจอครั้งที่สองก็คือที่ปารีสเลย เขาช่วยผมกับปริมตลอดเวลาที่อยู่โน่น จะพูดว่าเป็นผู้ปกครองเลยก็ได้ วันที่เราไปถึงปารีสพี่วิสุทธิ์อยู่ปารีสนานยี่สิบปีแล้ว จำได้ว่าวันที่เจอกันเขาพาไปร้านหนังสือ และซื้อหนังสือให้สองเล่ม หนึ่ง คือสมุดผันคำศัพท์ฝรั่งเศส สอง คือแผนที่ปารีส หนังสือสองเล่มนี้ทำให้ผมใช้ชีวิตง่ายไปไหนมาไหนได้คล่องขึ้น


เตรียมตัวยังไงบ้างก่อนไปที่นั่น ?


ไปปารีสนี่ ผมไปแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่ได้ทำการบ้านมาก่อนเลยนะว่า ปารีสเป็นยังไง ข้อมูลก็ไม่ได้เตรียม ไปสมัครกับเอดูฟรองซ์ หน่วยงานของสถานทูตฝรั่งเศสในไทย ไปถึงก็ได้ผจญภัยเลยจริงๆ ปีนั้นเป็นปี 2002 ยุโรปเพิ่งรวมกันเป็นสหภาพยุโรปได้ปีนิดๆ คนฝรั่งเศสก็ไม่พูดภาษาอังกฤษ แล้วเราก็พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ ก่อนไปผมเรียนภาษาที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ แต่เรียนไม่รู้เรื่องหรอก อาทิตย์เดียวก่อนไปท่องได้แค่ A B C D E F G เอง ไม่เคยมีพื้นฐานอะไร ไม่เตรียมตัวเลย เหมือนไปเรียนรู้ชีวิตใหม่ตั้งแต่แรก คล้ายๆ เด็กเข้าโรงเรียนประจำที่พ่อแม่ส่งไป แล้วไปเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่หมดเลย


ไม่ได้เตรียมตัวจริงๆ หรือว่าตั้งใจไม่เตรียม ?


ความตั้งใจคือผมไม่ได้ตั้งใจไปเรียนอยู่แล้ว ตั้งใจไปผจญภัยใช้ชีวิตแบบหนุ่มสาวโรแมนติกสมัยนั้นน่ะ มีภาพว่าเราไปเรียนภาษา และทำงานไปด้วย แล้วเราก็เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆเพื่อหาประสบการณ์ และถ่ายภาพ นี่คือความหมายของการผจญภัยแบบที่เราได้ดูหนังมา


ไม่ได้คิดว่าจะไปเรียนจริงจัง แต่ความจริงไม่ใช่เลย ทุกครั้งที่จะต่อวีซ่า ผมต้องเอาผลการเรียนมาให้เจ้าหน้าที่ที่ Préfecture de Police ดูก่อนว่าการเรียนเทอมที่แล้วกับเทอมนี้เทียบกันเป็นยังไง ถ้าไม่ดีก็ไม่ต่อให้นะ โชคดีว่าเป็นคนหัวดี (หัวเราะ) เรียนได้ปีกว่าก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ที่ Paris I Panthéon-Sorbonne แต่เข้าไปแล้วเรียนไม่ได้เรื่อง เพราะใจมันไม่เอา ตอนนั้นอยากถ่ายรูป และอยากใช้ชีวิต เราก็ไม่ได้คร่ำเคร่งในการเรียนอะไรมาก ก็ถูไถจบมาจนได้


ย่านที่พักแรกในปารีสเป็นยังไง ที่พักเป็นแบบไหน ?


5เดือนแรก เป็นที่พักที่ทาง Edufrance จัดไว้ให้ อะไรๆ ก็อยู่ไกลๆ กัน ต้องเดินเยอะ เวลากลับดึกๆ ก็จะกลัว เพราะว่าต้องเดินจากสถานีรถไฟกลับบ้านประมาณสิบนาที กลัวว่าใครจะเดินมาข้างหลัง ระหว่างทางมันมืด เงียบ แล้วเวลาเราเดินอยู่หลังใคร เขาก็กลัวเราด้วย เพราะอย่างนั้น เวลาเราเดินตามหลังใคร เราจะข้ามไปเดินอีกฟากถนน หรือใครเดินตามหลังเราก็เหมือนกัน ต้องเดินเร็วๆ เพราะช่วงนั้นฤดูหนาว มันทรมาน ร้านขนมปังก็จะอยู่ห่างๆ กัน ไม่ค่อยมีของกิน ทุ่มสองทุ่มก็เงียบแล้ว มีคาเฟ่ไม่กี่ร้านในบริเวณนั้น

ที่นั่นเป็นหอพักเอกชน เราอยู่ชั้นล่างสุด มีวันนึงไปใหม่ๆ จู่ๆ ท่อน้ำในห้องน้ำมันก็เอ่อขึ้นมา ท่วมออกมาจากห้องน้ำ เหมือนท่อมันตัน เหม็นก็เหม็น ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมาท่วมตอนกลางคืน เราก็ได้แต่นั่งอยู่บนเตียง ทั้งเพลีย ทั้งหนาว น้ำก็เอ่อ ท่วมจนลามออกไปนอกห้อง ฉิบหายละ คนเฝ้าหอก็ไม่อยู่ เราเลยไปเคาะห้องข้างๆ บอกเขาว่า น้ำท่วมๆ เขาเป็นนักศึกษา เขาก็พยายามช่วยเรา บอกว่า อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง นายต้องแจ้งคนที่ดูแลหอพัก เขาโทรศัพท์ไปแจ้งให้ แต่คนดูแลหอพักกลับไปแล้ว ต้องรอให้มาดูตอนเช้า เขาหาช่างประปามาซ่อมและทำความสะอาดให้ เราก็เออ โอเค แล้วก็เป็นอีก เอ่ออีก ท่วมอีก ก็ต้องทนให้ครบ 5เดือนตามสัญญา


จัดการกับหอพักที่ว่านี้ยังไง ?


ก็ปรึกษากับปริม ปริมบอกไม่อยากอยู่ที่นี่ต่อแล้ว อยากเข้าไปอยู่ในเมืองเพราะโรงเรียนเราก็อยู่ในเมือง ยอมจ่ายแพง ประหยัดอย่างอื่นแทน แต่การหาอพาร์ตเมนต์ในปารีสเป็นเรื่องยากมาก

เราเริ่มจากดูตามหนังสือพิมพ์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับการขายบ้าน เช่าบ้าน ที่นั่นจะไปดูบ้าน เราก็ต้องโทร.ไปนัดเขาก่อน แต่ก็พูดฝรั่งเศสไม่เป็นไง ต้องให้เพื่อนคนไทยที่รู้จักโทร.นัดให้ และไปก็ไม่เคยได้หรอก เพราะว่าหนึ่งคือเราเป็นต่างชาติ เขาไม่ไว้ใจ สองต้องมีคนค้ำประกัน จะให้ดีก็ต้องเป็นชาวฝรั่งเศส สาม ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ ไปดูบ้านทีไร ก็ไม่เคยได้ เพราะนักเรียนนักศึกษาชาวฝรั่งเศสก็ไปต่อคิวดูเหมือนกัน บางแห่งอยู่ย่านดีหน่อยมีคนมาต่อคิวดูเป็นร้อย เวลาก็งวดเข้ามาทุกที ที่ใหม่ยังหาไม่ได้ ที่เก่าถ้าจะอยู่ต่อก็ใกล้เวลาที่จะต่อสัญญา


เราเปลี่ยนวิธีมาเป็นเดินหาเอง ตามเอเจนซี่ต่างๆที่เขาติดประกาศไว้ที่หน้าร้าน จากนั้นชีวิตผมและปริมพอเรียนเต็มวันจบ ก่อนมืดเราก็พากันเดิน อยากอยู่เขตไหนก็ไปเดินดู ใช้หนังสือแผนที่ที่พี่วิสุทธิ์ซื้อให้นั่นล่ะ เดินทุกถนน หลายเดือน เดินจนส้นรองเท้าสึกพังไปเลย เดินตลอด หนาวก็เดิน ฝนตกก็เดิน จนวันนึง พี่วิสุทธิ์เขานัดกินข้าว เขาถามเรื่องที่พัก เราบอกยังไม่ได้เลยพี่ เริ่มกลุ้มใจ เขาก็บอก เดี๋ยวกินข้าวเสร็จแล้วไปดูกัน แถวนี้มีเอเยนต์อยู่ ไปดูแล้วเห็นประกาศบอกว่า ห้องนี้ราคา 800 กว่ายูโร ขนาด 35-36 ตารางเมตร เขาก็บอกเนี่ยน่าสนใจ อยู่ใกล้บ้านเขาด้วย ผมก็จดเบอร์โทร. และนัดมาดู


บ้านหลังนั้นเป็นตึกโบราณแบบที่เรียกว่า Hôtel Particulier ประมาณว่าบ้านขุนนาง หรือคหบดีสมัยก่อน ทางเข้าเป็นประตูไม้บานคู่หนามากสูงสักสี่ห้าเมตร บานนึงมันหนาๆ ขนาดนี้น่ะ (ทำมือ) เปิดเข้าไปก็เป็นคอร์ทยาร์ด แล้วมีตึกสามสี่ชั้น พื้นเป็นหินอ่อน บันไดขั้นแรกที่เป็นหินอ่อนนี่เว้าลงไปเลย เหมือนมันถูกเหยียบมาไม่รู้กี่ร้อยปีแล้ว ห้องที่เรามาดูเป็นห้องที่อยู่ด้านหลังมีบันไดรองแยกออกไปจากบันไดหลัก เดินขึ้นบันไดวนแคบๆขึ้นไปชั้นสาม เปิดเข้าไปเป็นห้องพื้นไม้ มีโต๊ะไม้กลมๆ ตั้งอยู่ตัวนึง กำแพงเป็นสีขาว แต่มีกำแพงฝั่งนึงเป็นสีเหลืองไข่ไก่ จำได้ติดตา มีห้องครัวเล็กๆ ถัดไปเป็นห้องนอนเล็กๆ ราคา 800 ยูโร คือค่าเงินตอนนั้น 50 บาท ห้องนี้เดือนละ 40,000 บาท เอเจนซี่บอกเราว่า เช่าได้ แต่มีเงื่อนไข ต้องจ่ายล่วงหน้า ต้องมีเงินค้ำและคนค้ำประกันด้วย ซึ่งคนค้ำประกันต้องมีเงินเดือน เท่านี้ๆๆ เราก็บอกพี่วิสุทธิ์ว่าเขาให้เช่าแต่ต้องมีคนค้ำประกัน พี่วิสุทธิ์บอก ไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่ค้ำให้ ในที่สุด เราก็ได้อยู่บ้านหลังใหม่นี้

ชีวิตที่นั่นก็ดิ้นรนไปน่ะ ต้องทำประกันสุขภาพ เปิดบัญชีธนาคาร หาบ้านเช่า พยายามเข้าใจเรื่องการเรียน หกเจ็ดเดือนแรก ชีวิตก็วนเวียนกับเรื่องพวกนี้ ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่


ผจญภัยในรายละเอียด 'ปารีส'


ชีวิตกลางเมืองปารีสในบ้านหลังใหม่เป็นยังไงบ้าง ?


บ้านใหม่เหมือนเป็นสะดือของปารีสเลย ติดกับชาตเตอร์เล่ต์ - เลส์อาลส์ (Châtelet – Les Halles) สถานที่ที่เป็นเหมือนหัวลำโพง คือมีรถไฟหลายสายมาจอด เป็นตลาดสดใหญ่แต่ตอนนี้ตลาดเลส์อาลส์ไม่มีแล้ว

จากบ้านเราเดินไปพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) เดินไปศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม จอร์จ ปอมปิดู (Le Centre Pompidou) และไปแซงต์ มิเชล (Place Saint-Michel) ไม่ถึงสิบนาที ข้างบ้านมีร้านขนมที่ขายมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีเซ็กซ์ชอปก็ยังอยู่แถวนั้น คือเหมือนเราอยู่สีลม ไปไหนมาไหนก็สะดวก ถนนเส้นนั้นเป็นตลาด ขายปลา ขายขนมปัง ขายไวน์ ขายดอกไม้ ขายโน่นนี่ ผมมีความสุขมาก ตื่นเช้ามาก็เดินลงไปซื้อขนมปังขึ้นไปกิน เสร็จแล้วก็ไปเรียน ชีวิตที่ทุกข์ระทมมาหกเจ็ดเดือนกลายเป็นฝันร้าย แต่การได้ใช้ชีวิตในบ้านใหม่คือความจริง เรารู้สึกเหมือนตื่นมาเจออากาศสดชื่น คือกูรอดแล้ว


พอได้เข้าอยู่บ้านหลังที่สองทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เริ่มมีชีวิตที่นิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องวิ่งหาที่พักแล้ว ไม่ร้อนรน เราเริ่มรู้ว่าใช้ชีวิตยังไง รู้เบื้องต้นว่าเดินทางยังไง ซื้อของยังไง ทำอาหารได้ มีบัญชีธนาคาร มีประกันสุขภาพ ทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย อยู่บ้านหลังนี้ ชีวิตเริ่มดี สุขภาพจิตดี นี่แหละ ได้อยู่ปารีสจริงๆ หลายภาพในหนังสือเล่มนี้ก็ถ่ายแถวๆบ้านนี่แหละ


แต่เราก็อยู่บ้านหลังนั้นประมาณสองปีกว่า ก่อนย้ายมาบ้านหลังที่สามซึ่งเป็นหลังสุดท้ายที่เราอยู่ที่นั่น เพราะเราได้บ้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม บ้านหลังที่สามของเราเป็นเหมือนเป็นบ้านในฝัน ที่ได้มาอยู่เพราะเพื่อนชาวฝรั่งเศสของพี่วิสุทธิ์เสนอให้เราอยู่โดยจ่ายค่าเช่าเท่าที่เดิม อพาร์ทเมนท์ใหม่อยู่ชั้นสองของตึก ซึ่งเป็นชั้นที่คนมีอันจะกินมักจะอยู่กัน เพราะเป็นชั้นที่มีเพดานสูง มีบานหน้าต่างกระจกจากพื้นถึงเพดาน และมีระเบียง พื้นที่ห้อง 70ตารางเมตร พอย้ายมาที่นี่ ชีวิตดีขึ้นอีก เพราะเรามีสเปซมากขึ้น แล้วเราก็เริ่มคุ้นเคยกับชีวิตที่นั่นแล้ว เราพูดฝรั่งเศสได้แล้ว ชีวิตลงตัวมาก การงานก็มี ได้เงินช่วยจากรัฐสวัสดิการเวลาใบอนุญาตทำงานหมด พี่ชายหรือเพื่อนๆมาเที่ยวก็มานอนที่นี่ ทุกอย่างมันเหมือนอยู่ตัว มั่นคง เรื่องต่อเอกสารก็ทำได้หมด ตอนนั้นเริ่มซึมซับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนที่นั่น ส่วนการไปเรียน เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมาก เหมือนเราไปผจญภัยครั้งสุดท้ายของวัยหนุ่ม


การผจญภัยครั้งสุดท้ายของวัยหนุ่มของคุณคืออะไร ?


การผจญภัยที่ผมหมายถึงคือการเดินทาง เพราะผมเป็นคนที่เดินทางน้อยมากตั้งแต่เด็ก และชอบเลือกอยู่แต่ละที่นานๆ ตอนที่ตัดสินใจไปปารีสคืออายุ 28 ผมรู้สึกว่าถ้าอายุ 30 ก็ไม่น่าจะได้เดินทางไปต่างประเทศหรือไปเรียนนานๆ เพราะว่าด้วยภาวะไม่น่าจะทำงานได้ ถ้าอายุเกิน 30 คงต้องรับผิดชอบตัวเองมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นความเป็นหนุ่มก็คือช่วงนี้แหละ คือเอาตัวเองไปทิ้งไว้ในที่ที่ไม่เคยไป ที่เราไม่รู้จัก ไม่รู้จักภาษา ไม่รู้จักอะไรเลย


ถ้าอย่างนั้นการผจญภัยของคุณคืออะไร หลังจากคุณย้ายเข้าบ้านที่ดีและชีวิตคุณเริ่มนิ่งขึ้น ?


มันมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาตลอด เพราะว่าผมกับปริมไม่ได้มีญาติพี่น้อง มีแต่พี่วิสุทธิ์ และพี่ๆคนไทยที่คอยช่วยเหลือดูแลอยู่ การผจญภัยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการผจญภัยแบบแบ็คแพคเกอร์ มันเป็นการผจญภัยแบบเรียนรู้สิ่งใหม่ เห็นโลกกว้าง ได้ยินเสียงใหม่ ได้กินของใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ มันคือการเก็บประสบการณ์แบบรายละเอียด ไม่ได้นับสเกลเป็นเมตรหรือกิโลเมตรนะ แต่เป็นเซนติเมตร

ยิ่งกว่านั้น มันคือการใช้ชีวิตคู่ด้วย เพราะเราไปกันสองคน ใช้ชีวิตคู่ในสถานการณ์ที่ยาก คือถ้าอยู่ในเมืองไทย เราก็ได้เรียนรู้ชีวิตคู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย แต่พอเราไปอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่ใช่ของเรา มันก็เริ่มเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้คนรัก เรียนรู้ชีวิตแบบทุกอย่างมันประดังเข้ามา ค่อนข้างยาก โหด

เราก็อยากใช้ชีวิตที่ดี ดีในความหมายว่าดีพอกับการใช้ชีวิต วัฒนธรรม ศิลปะ

มันคือช่วงเวลาที่เราได้เฝ้ามองชีวิตของเราที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แบบค่อยๆเติบโตไป


ที่ว่าทำงาน คุณทำงานอะไรในปารีส ?


หลังผมเรียนได้หกเดือน ช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ ผมลงเรียนภาษาเพื่อให้จ่ายเงินถูกๆ ต้องเรียนเพื่อต่อวีซ่า ช่วงนี้ ผมเข้าไปของานพี่วิสุทธิ์ทำและขอไม่เอาตังค์ เพราะผมอยากเข้าไปในแวดวงคนฝรั่งเศส เขาก็บอกไม่ได้ ทำงานฟรีไม่เอาตังค์ไม่ได้ มันผิดกฎหมาย เขาก็ให้เราไปทำใบอนุญาตทำงาน เข้าระบบประกันสังคม เสียภาษี ซึ่งทำใบอนุญาตค่อนข้างยากสำหรับคนที่เพิ่งไปเริ่มเรียนภาษาที่โน่น เพราะต้องรู้ภาษาในระดับกลาง ผมสอบมาจนได้


ผมเห็นพี่วิสุทธิ์ทำบริษัทนำเข้าและขายส่งสินค้าที่มาจากเอเชีย ทำมาแล้วสิบปี และแต่ละปีจะมีสินค้าเข้ามาสองครั้ง แต่ละครั้งมีสินค้าเข้ามาเป็นพันรายการ ผมเลยเข้าไปถ่ายภาพสินค้าเป็นแคตตาล็อกให้ เขาก็ตกลง


เขามีลิสต์สินค้ามาให้ประมาณสองหมื่นรายการ ผมนั่งไล่ถ่ายสินค้าขายดีก่อน มีตั้งแต่เครื่องประดับเล็กๆ แก้วน้ำ กระถางต้นไม้ ไปจนถึงตู้ใหญ่ๆ ผมจะไปหาของในโกดัง ถ้าไม่เจออะไร ผมก็ต้องไปหาคนดูแลสต๊อกว่า ชิ้นนี้อยู่ที่ไหน แล้วเอาไปถ่ายตรงมุมข้างหน้าต่างที่ผมจัดฉากหลังสีขาวไว้ ผมทำงานอยู่สามเดือน พี่วิสุทธิ์มาบอกว่า งานยูดีมาก มันช่วยการขายและช่วยดูเรื่องสต๊อกได้ เขาแฮปปี้มากที่ได้เรามาทำงาน


ที่จริงก่อนนั้น ช่วงเดือนที่สี่ ผมเคยทำงานร้านอาหารด้วยนะ ทำอยู่ประมาณสามอาทิตย์ แต่เขาไม่ให้ทำต่อ เพราะบอกว่าผมไม่เรียบร้อย ผมโกนหนวดเช้า ตกเย็นหนวดมันก็ขึ้น เขาหาว่าผมไม่โกนหนวด ไม่เรียบร้อย เปิดไวน์ ไวน์ก็หก เพราะไม่เคยทำ และเขาไม่มีการเทรนนิ่งเลย พอเสิร์ฟไม่ได้ เขาเห็นหน้าตาสะอาดสะอ้านดีก็เลยให้ไปยืนรับแขก ผมต้องคอยพูดว่า สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับดังๆ แล้วผมไม่ชอบพูดดังๆ ก็พูดเบาๆ ผมคิดว่า ลูกค้าอยู่แค่นี้ ใกล้ๆเองทำไมต้องพูดดังด้วย ก็เลยถูกเพ่งเล็ง พอประเมินก็ไม่ผ่าน ตอนนั้นทำงานกะหกโมงถึงเที่ยงคืน ต้องเดินกลับบ้านสี่กิโล เพราะเมโทรหมด ไม่อยากรอรถเมล์ที่นานๆ มาที


อยู่ที่นั่นได้ทดลองใช้ชีวิต ตั้งใจมีลูกคนแรกที่ฝรั่งเศส เพราะอะไร ?


คิดว่าจังหวะชีวิตมันพอดี ชีวิตมันค่อนข้างอยู่ตัว และเพราะอายุของเราด้วย ผู้หญิงจะต้องดูเรื่องอายุถ้าจะมีลูกช้าอาจจะมีปัญหาสุขภาพทั้งแม่ทั้งลูก


ชีวิตสองคนที่โน่นลำบากถ้าไม่มีคนช่วย ต้องขอบคุณพี่สาวคนหนึ่งที่ช่วยติดต่อโรงพยาบาลให้ ปกติคนฝรั่งเศสจะวางแผนล่วงหน้าก่อนเป็นปีเลย พอรู้ว่าท้องปุ๊บ เขาก็จะเลือกโรงพยาบาลฝากครรภ์ไว้เลย ถ้ามีชื่อเสียงก็เต็มเร็ว แต่เราไปกรอกเอกสารและทำเรื่องต่างๆ หลังปริมท้องได้สองเดือน มันก็ยากแล้ว หลังฝากครรภ์ทางโรงพยาบาลจะให้เข้าคอร์สสอนคนตั้งครรภ์ว่าเวลาคลอดลูกว่าทำยังไง ต้องหายใจแบบไหน ส่วนพ่อถ้าเจอลูกแล้วต้องอุ้มแบบไหน แต่เราไม่ได้ทำอะไรอย่างนั้นเลย เพราะเราไม่รู้ว่าเขามีสิ่งนี้ เราเรียนรู้ชีวิตผจญภัยที่นั่นกันแบบเป็นรายละเอียดมากๆ โอ้โห คลอดลูกที่โน่น ทั้งฝากท้อง ติดต่อหมอ อัลตร้าซาวนด์ ตรวจน้ำคร่ำ ผมต้องโทร.ไปนัดคลินิก เขารับนัดทางโทรศัพท์เท่านั้น ต้องคุยศัพท์เทคนิคทางโทรศัพท์ ซึ่งยากมากๆ ขนาดอยู่มาห้าปีก็คุยกันลำบาก


ก่อนหน้าวันปริมคลอด ผมซ้อมเรียกแท็กซี่ แต่เราไม่รู้ว่าแท็กซี่ไม่รับคนท้องคลอดลูก เนื่องจากถ้าคลอดขึ้นมาก็อาจจะไม่ปลอดภัย ปกติที่นั่นจะมีหน่วยบรรเทาสาธารณภัยที่เราสามารถโทร.เรียกได้ทั้งเวลาเกิดเพลิงไหม้ คนบาดเจ็บสาหัส และคนท้องคลอดลูก คืนที่คลอด ผมนอนอยู่ได้ยินเสียงดังเหมือนอะไรเหนียวๆขาด ปริมบอกว่าเหมือนถุงน้ำคร่ำแตก ผมรีบเรียกแท็กซี่ นั่งไปสักพักคนขับถามว่าจะไปทำงานกันเหรอ เราบอก เปล่า จะไปคลอดลูก ดีที่คนขับเป็นเอเชีย เขาเลยพาไปส่ง ซึ่งปกติแท็กซี่จะไม่รับต้องเรียกรถฉุกเฉิน


คลอดลูกที่นั่น รัฐจ่ายให้ร้อยเปอร์เซนต์เพราะผมทำงานเสียภาษี และรัฐอุดหนุนเงินรายเดือนซึ่งก็พอดีๆ กับค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กทารก ไม่ว่าใครที่เสียภาษี ถ้ามีลูกก็จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐแล้ว พอสองสามเดือนเขาจะส่งเจ้าหน้าที่พยาบาลมาตรวจที่บ้านว่า คุณเลี้ยงเด็กยังไง เลี้ยงเด็กในห้องไหน สภาพความเป็นอยู่คุณดีพอที่จะเลี้ยงเด็กมั้ย


จากที่ต้องขอแค่วีซ่านักเรียน อยู่ๆ ไปก็ต้องทำเรื่องขอเงินช่วยของรัฐ ขอใบทำงาน ขอใบทำเรื่องภาษี โดยรวบยอดแล้ว เราไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นนักเรียนที่นั่นอย่างเดียว แต่เราใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองด้วย ไม่ใช่แบบพลเมืองชาวฝรั่งเศสหรอก เป็นพลเมืองที่อยู่ในฝรั่งเศส เพราะเราได้เข้าไปอยู่ในระบบของเขา


ภาพถ่ายในทรงจำ 'ปารีส'


คุณใช้เวลาไหนถ่ายภาพ คุณดูยุ่งๆ ทำหลายๆ อย่าง ?


ไปใหม่ๆ ถ่ายภาพตลอด เอากล้องติดตัวไว้ ถ่ายเพราะตื่นเต้น ช่วงหกเดือนแรก เห่อตึก เห่อหอไอเฟล วันหนึ่งเรากลับมาดูรูปที่เราถ่ายมาทั้งหมด รู้สึกไม่พอใจเลยทำไมกูถ่ายได้เท่านี้วะ ที่จริงเราเห็นมากกว่านั้นและคาดหวังมากกว่านั้น แต่เรายังถ่ายภาพเหล่านั้นไม่ได้ ส่วนหนึ่งไม่มีกะจิตกะใจทำเพราะตอนนั้นมันมีภาระพะวักพะวงกับการดำเนินชีวิต อารมณ์สุนทรีย์มันไม่มี อารมณ์ทำงานแบบสัญชาตญาณมันไม่มี เหมือนเราฝืนทำอะไรบางอย่างผมตัดสินใจหยุดถ่ายภาพ เอากล้องเก็บไว้ในตู้ สองสามปีต่อมา พอทุกอย่างเริ่มลงตัวก็มาถ่ายรูปบ้าง แต่ก็ไม่เยอะ มาเริ่มถ่ายภาพอีกทีตอนมีลูก แล้วก็ถึงเวลาที่วางแผนกลับบ้าน


ก่อนไปปารีสเป็นช่างภาพแล้ว คุณไม่ได้ตั้งเป้าหรอกเหรอว่าต้องไปถ่ายรูปให้ได้ ?


อยากถ่ายรูปมาก เตรียมฟิล์มไปเพียบเลย เอาไปแต่ขาวดำทั้งนั้น เป็นร้อยๆ ม้วนเลย แล้วก็หมดอายุ ทุกวันนี้ยังอยู่ที่บ้านอยู่เลย ไปแรกๆ ถ่ายเพราะเจอสถานที่ใหม่ๆ เลยมีแต่รูปสถานที่ มาดูรูปอีกทีมีแต่ความผิวเผิน เพราะเราคาดหวังกับตัวเองมาก อยากได้ภาพที่ดี เมื่อตั้งใจมากเลยไม่สนุก ผมกลับมาถ่ายภาพจริงๆอีกครั้ง ช่วงหลังที่ตัวเองเลยจุดที่ให้ความสำคัญกับสถานที่ไปแล้ว เป็นการถ่ายภาพชุดไว้เพื่อเป็นที่ระลึกก่อนกลับบ้าน ว่าเราเคยมาอยู่ตรงนี้ นี่คือร้านกาแฟที่เราชอบ ที่ที่เราชอบไป


และช่วงปี 2006 ที่ปารีสนี่ล่ะ ที่ถ่ายฟิล์มสีอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเคยลองถ่ายสีบ้าง ลองฟิล์มสไลด์บ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่จริงจัง จนมาทำงานจีเอ็ม โอเพ่นก็ยังทำงานขาวดำ ล้างเองปริ๊นท์เอง จนกระทั่งปอดรั่ว เลยเลิกล้างเองให้คนอื่นล้างให้


ตอนปอดรั่วนี่คือปอดไม่ทำงานข้างนึง เดินสองก้าวหายใจไม่ทัน เพราะสารเคมี ไอระเหยจากการล้างฟิล์มไปกัดปอด ปอดข้างนึงไม่ทำงาน หมอต้องทิ่มสายยางเข้าไปเพื่อไล่อากาศออกมา วันที่แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ขับรถไปหาหมอเอง หมอบอกคุณมาได้ไงเนี่ย ปอดคุณไม่ทำงาน เหลือปอดอยู่ข้างเดียว พอหมอบอก ผมบอกหมอว่า เนี่ยหมอผมเอาฟิล์มมา ต้องไปล้างที่ไอคิว แล็บ ขอเอาฟิล์มไปล้างก่อนได้มั้ย หมอบอกว่า ถ้าคุณเดินไหว คุณก็เดินไปดิ่ แล้วผมเดินแบบ สองก้าวนี่หายใจไม่ทัน (เฮ้ย บ้าจริง ยังจะไปอีกเหรอ – เสียงปริมแทรก หัวเราะลั่น) เออ ไม่รู้ไงว่ามันร้ายแรงขนาดไหน คือไม่ใช่หายใจไม่ออกนะ แต่หายใจไม่เข้า คือหายใจแล้วอากาศมันไม่เข้าตัวน่ะ หน้าเขียว นั่นล่ะปอดผม ทุกวันนี้ก็ไม่อัดรูปแล้ว ล้างอย่างเดียว ช่างภาพหลายคนนะที่ปอดรั่ว ว่าจะรวมกลุ่มคนปอดรั่วอยู่ (หัวเราะ)


นอกจากปอดรั่ว ทำไมถึงอยากถ่ายภาพสี ทั้งที่ทำงานภาพขาวดำมาตลอด ?


ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ (หัวเราะ) ตอนที่ผมให้พี่ชายส่งฟิล์มมาจากกรุงเทพมีฟิล์มสีติดมาจำนวนหนึ่ง ก็เลยลองใช้ ที่ผ่านมาถ่ายภาพสีน้อยมากเพราะไม่มีรสนิยมเรื่องสีเลย ไม่เคยมองสีเลย เพราะเรามองแต่ฉาก ชีวิต แสง น้ำหนัก อยู่ที่ปารีสสีมันสวย ทั้งสีของแสง และสีของบ้านเมืองของเขา ก็เลยเริ่มต้นถ่ายด้วยฟิล์มสีที่นี่


คุณค้นพบอะไรจากการถ่ายภาพสี มันต่างกันยังไงกับโลกของการถ่ายภาพขาวดำ ?


สมัยหัดถ่ายภาพแรกๆ จนถึงวัยทำงานผมคุมสีไม่ได้ เพราะต้องส่งแล็บล้างฟิล์ม ปริ้นท์รูป ซึ่งช่างเขาก็จะปรับสีตามมาตรฐานของเขา ซึ่งผมไม่เข้าใจเรื่องนี้ มันคงมีมาตรฐานของฟิล์ม ของเครื่องบางอย่างอยู่ เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มันดีขึ้นมันก็มีเครื่องแสกนเนอร์ มีโปรแกรม Photoshop ช่างภาพสามารถควบคุมสีของภาพได้เองผ่านเครื่องมือเหล่านี้ ผมซื้อสแกนเนอร์ที่สแกนฟิล์มได้ด้วยมาใช้ ผมคุมสีภาพถ่ายได้เพราะสแกนรูปเองและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ Photoshop ผมสนุกกับการถ่ายภาพสีมากขึ้น เพราะเราได้สีที่ตรงกับความต้องการของเรา สแกนเนอร์ตัวแรกที่ผมใช้ให้สีเพี้ยน แต่ดันเป็นโทนสีที่ผมชอบนะ เวลาผมแก้โทนสีของภาพจะยึดเอาสีที่ผมจำได้เป็นหลัก แล้วบิดนิดบิดหน่อยตามรสนิยม มันก็เหมือนกับศิลปินแต่ละคน ใช้สียี่ห้อเดียวกันแต่ผสมสีไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีไวยากรณ์ของสีของตัวเอง มีสำเนียงไม่เหมือนกัน ผมว่าตรงนั้นน่ะคือซิกเนเจอร์อย่างหนึ่ง


ที่เขาบอกว่า โกดัก โกลด์ สองร้อย สีจะต้องออกมาเป็นโทนนี้ โกดัก ซูพรีเรียร์ต้องแบบนี้ ผมคิดว่านั่นคือเบสิก มันคือมาตรฐานของสีฟิล์มแต่ละชนิด แต่เมื่อเราทำงานแล้ว เราต้องเอาสีของตัวเองเป็นหลัก แน่นอนมันยึดตามสิ่งที่เราเห็นมานั่นล่ะ แต่ผมคิดว่ามาตรฐานของสีฟิล์มแต่ละชนิดไม่ใช่สิ่งที่เราจะคำนึงถึง แต่สีที่เราใส่มันลงไปต่างหาก ที่ผมคิดว่ามันสามารถบอกได้ว่านี่แหละสีแบบไอ้นิว


ภาพชุดนี้เป็นงานปนกันทั้งภาพฟิล์มสีและขาวดำ และใช้เลนส์ 50 มิลลิเมตร ตัวเดียวเกือบทั้งหมด ทุกวันนี้ก็ยังใช้เลนส์ตัวนี้ตัวเดียวอยู่ ผมใช้จนรู้เลยว่าต้องยืนตรงไหนและภูมิใจตัวเองมากเวลาผมอยากได้เฟรมระยะไหน แล้วผมรู้ว่าต้องถอยกี่ก้าวแล้วจะได้มันมา


กลับมาถ่ายภาพปีหลังๆ ที่อยู่ปารีส หลังจากที่วางกล้องไปนาน เป็นอย่างไรบ้าง ?


ผมสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น สิ่งที่ผมบันทึกคือ ภาพที่มันเป็นที่ระลึกของผมเอง ฉะนั้น ภาพมันจะรับใช้ชีวิตและความทรงจำ ผมไม่ได้ถ่ายเพื่อเล่าเรื่องปารีสให้คนอื่นฟังในฐานะที่มันเป็นปารีส แต่ผมเล่าผ่านภาพให้คนอื่นฟังในฐานะที่ปารีสเป็นปารีสที่ผมใช้ชีวิตของผมส่วนหนึ่งที่นั่น ผมก็จะมีมุมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผม มากกว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่แน่นอน ถ้าผมพาใครไปปารีส ผมก็คำนึงถึงที่อย่างหอไอเฟลด้วย แต่ผมจะพาคนๆ นั้นไปดูหอไอเฟลในมุมที่ผมอยากให้เขาเห็น


การถ่ายภาพในปีแรกๆเหมือนกับการเขียนโปสการ์ด มันเป็นความสดใหม่ ความแปลกตา แต่มันก็ได้ภาพที่เห็นได้ด้วยสายตาของคนผ่านทาง จะว่าไปก็ไม่ต่างกับภาพของคนอื่นๆมากเท่าไหร่ แต่ในปีหลังๆการถ่ายภาพ และสิ่งที่เรามองมันต่างออกไป เหมือนกับการเขียนจดหมาย มันมีแง่มุมอื่นๆนอกจากความตื่นตาตื่นใจของสถานที่ มันมีความผูกพันที่มากขึ้น มีรายละเอียดขึ้นมาก


ตอนที่คุณถ่ายภาพชุดปารีสนี้ คุณยังนึกถึงการถ่ายภาพพอร์ทเทรทให้นิตยสารต่างๆ ในไทยอยู่มั้ย ทำไม ?


อืม ผมนึกถึงงานพอร์ทเทรทบ้างบางครั้งในลักษณะที่มันเป็นสิ่งที่เคยทำ และจะกลับไปทำ การทำงานถ่ายภาพบุคคลคือความตั้งใจในการเล่าชีวิตของคนอื่นผ่านทัศนะของเรา และมันค่อนข้างไกลต่อความสนใจเพราะไม่ได้อยู่ในปัจจุบันในขณะนั้น งานชุดปารีสมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คือเล่าชีวิตของตัวเองผ่านปารีสเหมือนการเขียนบันทึก เป็นที่ระลึกของชีวิต เก็บรายละเอียดของสิ่งที่ผูกพันกับเรา ถนนหนทางที่เราเดินทุกวัน ไม่มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อเป็นหนังสือภาพท่องเที่ยวปารีส


คุณอยู่ที่นั่นนานพอสมควร คุณเห็นปารีสเป็นเมืองยังไง ?


ปารีสเป็นเมืองโรแมนติก รุ่มรวยด้วยศิลปะวัฒนธรรม แต่ปารีสก็เป็นเมืองที่มีด้านที่เป็นชีวิตจริง มีคนจรจัด มีการประท้วงหยุดงาน มีชีวิตที่ต้องดิ้นรน หากเราดูภาพยนตร์ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์อย่าง Les Miserables หรือเรื่องแต่งที่มีแบ๊คกราวนด์เป็นปารีสเช่น Le Parfum (งานเขียน Patrick Süskind ) เราจะเห็นภาพฉากและชีวิตที่มีทั้งเลิศหรูของชนชั้นนำ กับการต่อสู้ดิ้นรนของคนชั้นกลาง และคนชั้นแรงงาน ความเป็นเมืองก็ต่างกันลิบ ปารีสเป็นเมืองที่สกปรกเหมือนเมืองอื่นๆ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปเกิดอาการผิดหวังที่เขาเรียก Paris Syndrome เพราะได้รับข้อมูลไปอีกแบบว่าเป็นเมืองโรแมนติก พอไปเจอปารีสจริงๆซึ่งไม่เหมือนกับที่เขาคาดหวัง สกปรก เหม็น ไม่มีระเบียบ สมัยที่ไปยังสูบบุหรี่ได้ ก็สูบบุหรี่กันทั่วทุกหัวระแหง นั่งในร้านอาหารก็สูบกัน พบเจอบางคนคนที่พูดจาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เหมือนทุกที่แหละที่เป็นเมืองใหญ่


แล้วปารีสเป็นเมืองน่าหลงใหลตรงไหน ?


มันจริงดี แต่ไม่จริงขนาดอินเดียซึ่งผมไม่เคยไปนะ แต่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง ก็คิดว่าใครอยู่อินเดียได้นี่เก่งมาก ปารีสไม่ต้องมีความเก่งขนาดนั้น เพราะเป็นเมืองที่พัฒนาให้สะดวกต่อการดำรงชีพถ้าเรามีปัจจัยเรื่องทุนพอควร หรือมีงานทำแบบพาร์ทไทม์ เขาให้ความสำคัญกับศิลปะ รสนิยม มีศิลปะในการใช้ชีวิต เป็นประเทศที่รณรงค์ให้การทำงานน้อยลง เพื่อได้ใช้ชีวิตที่รื่นรมย์ขึ้น ใช้ชีวิตกับโรงหนัง พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด อยู่กับครอบครัวมากขึ้น อยู่ในสวนสาธารณะ มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอในปารีส

คนที่นั่นเข้าแถวเพื่อเข้าพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และโรงหนัง ผมสนใจภาพยนตร์จึงชอบเพราะปารีสเป็นเมืองที่มีหนังให้ดูจากทั่วทุกหัวระแหง มีบัตรดูหนังสำหรับคนทั่วไปจ่ายค่าสมาชิกต่อเดือน ดูหนังได้ทุกเรื่อง และดูกี่เรื่องก็ได้ จำได้ว่ามีช่วงที่ปารีสมีคลื่นความร้อนมา เราอยู่บ้านกันไม่ได้ ก็หลบไปดูหนังวันละสี่ห้าเรื่อง เพราะโรงหนังมีแอร์


ปารีสก็เป็นเมืองที่อำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิต เพราะเมโทรไปถึงทั่วทุกหัวระแหง แผนที่อย่างดี ละเอียดน่ะ มีฟุตบาธให้เดิน สบายมาก และมีที่นั่งเป็นระยะๆ ปารีสไม่ได้มีผังเมืองแบบเป็นตาราง แต่เป็นเมืองที่มีหัวมุมถนนเยอะมาก มีแยกต่างๆ เยอะมาก คำแนะนำเดียวสำหรับคนไปปารีส คือเมื่อคุณจะหลง คุณต้องเดินย้อนกลับมาเท่านั้น และผังเมืองแบบนี้ล่ะ มันทำให้คุณเจอของใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ถ้าคุณสนุกกับการเดินหลง คุณจะสนุกมาก แค่เดินกลับบ้านทุกวันเนี่ย แค่เลี้ยวไปอีกนิดเดียวก็เจอของใหม่ แลัวมันก็มีร้านเก๋ๆ ใหม่ๆ ซุกอยู่ตลอด และมันกลายเป็นการเดินที่เรายินดีที่จะหลงเพื่อจะไปเจอของใหม่อยู่ตลอดเวลา ผมเดินเยอะมากตอนอยู่ที่นั่น ก็ตั้งแต่หาอพาร์ตเมนต์จนปีสุดท้ายที่ถ่ายรูปก็คือเดินตลอด รู้สึกมีความสุขมาก


แล้วผู้คนที่นั่นล่ะ คุณคิดว่าคนฝรั่งเศสเป็นคนยังไง ?


ก็ปนๆ กันนะ มีทั้งดี ไม่ดี คนที่เหยียดเราก็มี แต่ก็เจอแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อนนิสัยดีๆก็มีหลายคน คนฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นคนชอบวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ค่อยพอใจกับอะไร ติหมดทุกอย่าง ชอบต่อรอง ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ มันต้องต่อสู้เพื่อที่จะได้มาใช่ไหม เพราะสังคมเขาพัฒนาไปแล้ว อำนาจขึ้นอยู่กับการต่อรอง กูไม่ชอบนโยบายนี้ กูก็ออกไปบนถนน ประท้วง ตอนที่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ เราก็เห็นการประท้วงบนถนน รู้สึกชอบ แบบเอาเลย ทำเลย ก็ถ้าประชาชนไม่ออกมาบนถนน จะบอกจากอะไรเวลาไม่พอใจ บอกกับตัวแทนเหรอ ตัวแทนก็คงไม่ได้ทำหรือเปล่า เพราะตัวแทนก็ต้องไปต่อรองทางอำนาจอีกทีนึง แต่การออกไปบนถนนของคนฝรั่งเศสคือออกทุกอย่าง สนับสนุนก็ออก ประท้วงก็ออก คือแสดงพลังบนท้องถนน ยืดอายุของการเกษียณก็ออกมาประท้วง เปลี่ยนนโยบายการศึกษาก็ออกไปประท้วง ไม่เห็นด้วยกับการบุกอิรักก็ออกมาประท้วง ซึ่งการออกไปประท้วงแต่ละหนจะมีการแจ้งล่วงหน้า คนรู้จะได้หลีกเลี่ยงได้ จะประท้วงหยุดงานก็บอกล่วงหน้า ทุกคนก็ลำบากแหละ แต่เขาก็รับได้


ฝรั่งเศสคำนึงถึงสามอย่างเสมอ คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ ผมรู้สึกถึงภารดรภาพ และความเป็นพี่เป็นน้องได้ตอนไปอยู่ปารีส เวลาเกิดเหตุการณ์อะไร เขาช่วยเหลือกันจริงๆ แบบเป็นพี่เป็นน้อง เขามีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เข้าใจว่าเราต้องออกไปแสดงความเห็นเมื่อเห็นด้วยหรือไม่ ใครจะมาบอกว่าการเมืองบนท้องถนนทำให้วุ่นวาย ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย มึงจะบ้าเหรอ การเมืองบนท้องถนนเนี่ยเป็นประชาธิปไตยที่สุดแล้ว ออกไปบนถนนน่ะมันจะผิดตรงไหน แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการปิดถนนข้ามคืนนะ ประท้วงจากเวลานี้ถึงเวลานี้ จบ ไม่มีข้ามคืน


ทุกๆ วันเสาร์ วันอาทิตย์จะเจอบ่อย การประท้วงที่นั่นจะมีกติกาคือ อย่างเมโทรนัดหยุดงาน ก็จะยังมีการกำหนดจำนวนรถไฟอย่างน้อยที่ยังต้องวิ่งอยู่ อีกอย่างคือจะไม่มีการประท้วงหยุดงานในฤดูหนาว เพราะมันจะสร้างความยากลำบากให้พลเมืองเป็นอย่างมาก


การเมืองมันอยู่ในชีวิตประจำวันทำให้เราติดตามข่าวสารบ้าง ผมเคยออกไปบนถนน คัดค้านการบุกอิรัก ไปเดินกับเขา ไปนั่งดู ผมไปคนเดียว เห็นจังหวะคนปีนขึ้นไปบนเสาไฟฟ้าแถวอนุสาวรีย์มารีอาน ขึ้นไปโบกธง เท่มาก มันมีซีนแบบฮีโร่น่ะ นึกออกมั้ย คนเยอะมากๆ บนถนนสี่ห้าเลน ยกป้ายค้าน กูไม่เอา ไม่ให้มึงไป ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่ไป


ในรายการทีวีจะให้สองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมาถกเถียงกัน พิธีกรนี่อย่างกับกรรมการห้ามมวย เพราะคนจะแย่งไมค์กัน แบบมึงหยุดๆๆๆๆ อย่าเพิ่งพูดได้มั้ย กำลังถามคนนี้อยู่ ขอร้องล่ะ เหมือนกับแบบจะทะเลาะกัน มีเรื่องให้เถียงกันทุกวัน ตอนที่ผมอยู่ปารีส เขาถกเถียงกันเรื่องประธานาธิบดีคนใหม่ คือนิโกลาร์ ซาร์โกซี


การเป็นช่างภาพ สำคัญยังไงต่อการมองโลก เมื่อคุณได้ไปพบเจอสถานที่ใหม่ๆ ?


การมองโลกของช่างภาพก็เป็นทัศนะแบบหนึ่ง เหมือนศิลปิน นักดนตรี นักเขียน สถาปนิกที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงแต่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน การไปพบเจอสถานที่ใหม่ๆ ในขั้นแรกก็เป็น first impression ภาพที่ได้ก็จะเป็นลักษณะหนึ่ง อาจจะอยู่บนพื้นผิวของสิ่งที่เห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจจะเห็นลึกลงไปของปรากฏการณ์ที่แวดล้อมเราอยู่ คราวนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการบอกกล่าวทัศนะของคุณแบบไหน การอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานหรืออยู่ในเวลาสั้นๆ มันได้สิ่งที่ดีในระดับที่ต่างกัน มันมีความสดใหม่ กับมีความลึกต่างกัน มันดีคนละอย่าง


คุณได้เก็บภาพทุกอย่างในปารีสที่อยากเล่าอย่างใจมั้ย ?


มันก็ไม่เชิง จะพูดว่าทั้งหมดคงไม่ใช่ เพราะถ้าผมมีเวลามากกว่านั้น ผมก็ทำมากกว่านี้ แต่โดยเวลาที่มีอยู่ โดยคุณภาพภาพที่ได้มา โดยอารมณ์ในการทำงานแต่ละวัน มันพอดี ผมพอใจมาก

ช่างภาพในแบบคุณจับภาพอารมณ์ของเมืองปารีสอย่างที่มันเป็น หรือคุณเลือกถ่ายทอดเฉพาะที่คุณคิดว่าน่าสนใจเท่านั้น ?


การทำงานของช่างภาพคือการเลือก เลือกที่จะถ่ายภาพในจังหวะใดจังหวะหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ก่อน ระหว่าง หรือหลังเหตุการณ์ เราเลือกตลอดเวลา และแน่นอนในเวลา ในจังหวะ ในสถานที่ ที่เราสนใจ ที่ผูกพันกับเรา


คุณวางแผนการทำงานยังไง ตอนถ่ายภาพชุดนี้ ?


ผมวางแผนอย่างดีเลย อยากถ่ายให้ครบยี่สิบเขตในปารีสเลยนะ แยกไปตามสถานที่ แยกหมวดหมู่ คือวางไว้ว่าจะไปที่ไหนบ้างเพื่อให้ได้ภาพถ่ายความเป็นปารีสที่ครบทุกมุม แต่พอถึงที่สุดผมก็ทำตามใจตัวเองอย่างเดียว ไม่ได้ทำตามแผนที่วางไว้เท่าไหร่ ผมก็คิดว่า เฮ้ย บางที่ผมไม่รู้จัก ไม่เคยได้ไปเลย ผมจะไปเดินถ่ายภาพที่นั่นทำไม ถึงที่สุดแล้วผมก็ไปซ้ำๆ ในที่ที่ผมชอบนั่นแหละ เพราะผมอยากทำงานในที่ที่ผมผูกพัน ผมไปร้านกาแฟซ้ำๆ กันตั้งหลายรอบ เพราะผมใช้ชีวิตที่นั่น ถนนมองตอร์เกยนี่ไปทุกวันเพราะอยู่แถวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นย่านกลางเมือง มิวเซียมลูฟวร์ ย่านมาเรย์ ที่มีชาวเกย์อยู่มาก แม่น้ำแซน โรงหนัง มหาลัยซอร์บอนน์ สวนสาธารณะลุกซอมบูร์ค (Jardin du Luxembourg) สวนสาธารณะปาเร โรยัล (Jardin du Palais Royal) ที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน สมมติบ้านอยู่เยาวราชนี่ จะให้ไปลาดพร้าว ไม่ไปหรอก ผมเป็นคนตามใจตัวเอง แผนวางไว้ก็ล้มทุกครั้ง แต่ก็ต้องวางไว้ให้รู้ว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้


มีช่างภาพเป็นหมื่นเป็นแสนคนเคยไปปารีส แน่นอนมีช่างภาพระดับโลกด้วย คุณคิดหรือไม่ว่าภาพถ่ายของคุณต้องแตกต่างจากช่างภาพเหล่านั้น และคุณทำอย่างไรหรือเปล่าให้มันไม่เหมือนภาพถ่ายของช่างภาพคนอื่นๆ ?


ไม่ได้คิดเรื่องนี้ เหมือนก็ดี ไม่เหมือนก็ดี ผมเรียนรู้จากช่างภาพที่ผมชอบ ผมเห็นในสิ่งที่เขาเห็นจากงานของเขา แต่นั่นมันก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง และช่างภาพที่ผมชอบมีมากมาย เป็นสิบเป็นร้อย เศษเสี้ยวของพวกเขาก็มารวมกันในตัวผมพร้อมๆ กับชีวิตของผม สิ่งที่ใช่จากคนอื่นมันคงยังอยู่ ส่วนที่ไม่ใช่ก็หล่นไปตามเวลา ที่เหลือมันก็เป็นผลึกหนึ่งซึ่งมาจากชีวิตของเราบวกรวมกับเสี้ยวชีวิตของคนอื่นๆ มันอาจจัดอยู่ในหมวดที่คล้ายกัน แต่มันก็ไม่เหมือนกัน ผมจึงไม่ได้คิดอะไรเรื่องนี้


ผมเห็นภาพ อิลล์ เดอ ลา ซิเต้ (Ile de la Cité ชื่อภาพถ่ายของ Henri Cartier-Bresson ช่างภาพชาวฝรั่งเศส, 1908-2004) ถ่ายจาก สะพานเดส์ซาส์ (Pont des Arts) ของ เบรสซง แล้วผมก็ไปยืนตรงนั้น ใช้เลนส์ระยะเดียวกัน ถ่ายในมุมใกล้เคียงกัน มันไม่เหมือนกันหรอก วันที่เบรสซง (Henri Cartier-Bresson) ถ่ายภาพ กับวันที่ผมถ่าย สิ่งที่เบรสซงผ่านมาในชีวิต กับสิ่งที่ผมผ่านมามันต่างกัน ผมไม่ได้เปรียบตัวผมกับเบรสซงนะ แต่กำลังจะบอกถึงสิ่งที่เราเห็น และตัดสินใจกดชัตเตอร์ มันมีมากกว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้า เราเห็นก้อนน้ำแข็งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำแต่สิ่งที่อยู่ใต้น้ำมันใหญ่กว่านั้นมาก มันอาจจะมีที่ไป หรืออาจบางทีเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกในเวลานั้น ซึ่งทั้งหมดนั้นมันผ่านมาจากชีวิตก่อนหน้านั้นด้วย หรือภาพ Le Biser de l’Hôtel de Ville และภาพอื่นๆ ของ Robert Doisneau มันก็เป็นภาพชุดที่ผมชอบ ผมเห็นคนจูบกันในปารีสผมก็นึกถึงภาพชุดนี้


ภาพถ่ายชุดปารีสได้อย่างใจคุณมั้ย ?


ได้สิ ผมออกไปถ่ายทุกวัน ฝนตก แดดออก หิมะตกแค่ไหนก็ไป ผมมีภาพ สะพานเดส์ซาส์ (Pont des Arts) ตอนที่สะพานยังไม่มีกุญแจแห่งความรักมาคล้องไว้ ผมจำได้ วันนั้นผมออกจากบ้านในฤดูหนาว เจ็ดโมงเช้า มือผมสั่น หนาวอยู่ริมแม่น้ำ ยืนขี้มูกไหล ยืนรอให้ได้รูปนั้นนานมาก


ผมพอใจในงานภาพถ่ายชุดปารีสจนไม่คิดว่าจะทำงานแบบนี้ได้อีก เพราะผมได้ทำงานในพื้นที่ที่รัก ผูกพัน รู้จักมัน ในวัยที่เรามีทั้งความฝัน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่รวมกับสิ่งที่เรามีอยู่เดิม มันลงตัวมากในวัยนั้น ลุงเส (เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียน, 1918-2014) บอกว่า การทำงานขึ้นอยู่กับวัยและเวลาด้วย ซึ่งถ้าผ่านไปแล้วบางอย่างมันก็ทำไม่ได้ คำพูดนี้จริงนะ


ผมเดินทางไปอิสตันบูลสิบวันและถ่ายภาพ มันก็เป็นอารมณ์ของสิบวันน่ะ ได้ความพอดีแบบหนึ่ง คุณจะไปอยู่ที่ไหนอีก นาน 6 ปี ในวัยขณะนี้ มันทำไม่ได้แล้ว หรือให้ผมเขียนหนังสือเล่ม ครั้งหนึ่งในเวลาหนึ่ง Portrait in our time ผมทำไม่ได้แล้ว เพราะสิ่งที่ผมเขียนมันบ่มจากการทำงานพอร์ทเทรทมายี่สิบปี แล้วผมปล่อยออกไป ได้แบบนั้นน่ะ ซึ่งผมทำงานแบบนี้ไม่ได้บ่อยๆ


หรืออย่างงานภาพถ่ายแอบสแตรกที่ผมทำต่อเนื่องเกือบสิบปี เริ่มตั้งแต่ปี 2007 ที่เพิ่งกลับมาจากปารีส หลังจากนี้ สำหรับผม งานภาพถ่ายแอบสแตรกก็ไม่ใช่ใจความสำคัญแล้ว ผมเติบโตเรียนรู้ไปสู่สิ่งอื่น ฉะนั้น งานมียุคสมัยของมัน ผมกลับไปถ่ายพอร์ทเทรทในยุคแบบที่ถ่ายให้นิตยสารโอเพ่นไม่ได้แล้ว ผมไม่ได้ห่าม ไม่ได้ท้าทายอะไรแบบนั้นแล้วไง ผมเห็นงานตัวเองค่อยๆ เคลื่อนไป มันยังมีสิ่งเดิมอยู่ แต่มันไม่อยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และในงานที่ต่อเนื่องมาก็มีสิ่งใหม่ๆ เติบโตแทรกเข้ามาด้วย


สิ่งใหม่ที่ปรากฏในงานคุณคืออะไร ?


ผมเองก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันค่อยๆ เปิดเผยออกมา เหมือนต้นปีบที่บ้านผม ถ้าคุณเฝ้ามองดูมันทุกวันคงจะไม่เห็นความแตกต่างของมันเท่าไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะเห็นความเติบโต และความเปลี่ยนแปลงของมัน ทั้งเส้นรอบวงของลำต้น ลีลาของกิ่งก้าน และกลิ่นหอมของดอกไม้


หากคุณต้องมองย้อนกลับไปในงานปารีสของคุณ คุณเห็นอารมณ์ตัวเองในเมืองนี้เป็นแบบไหน ?


พี่สิเหร่เคยบอกว่าอ่านหนังสือ in Paris ของผมแล้ว และถ้าจะให้เลือกเพลงที่เหมาะกับอารมณ์ก็ต้องเป็น Alone Together ของ Chet Baker ผมชอบเพลงนี้นะและคิดว่ามันก็เข้ากันดีกับอารมณ์และบรรยากาศของการเล่าด้วยเรื่องบวกกับภาพ ส่วนโฟโต้บุ๊ค Les Parisiens เล่มนี้เป็นภาพทั้งหมด ไม่มีงานเขียน ผมก็อยากเห็นอารมณ์ตัวเองเหมือนกัน


...

70 views0 comments
bottom of page