top of page

RAYMOND DEPARDON - photographer / film maker



ผมรู้จักงานของเรย์มงด์ เดอปาร์ดง (Raymond Depardon, 1942) ครั้งแรกในโรงภาพยนตร์ ในฐานะผู้กํากับภาพยนตร์ มันเป็นภาพยนตร์ขาวดํา ถ่ายทําในทะเลทรายซาฮารา ที่ว่าด้วยเรื่องชาวเบดูอินในอาฟริกาเหนือ การเล่าเรื่องของเดอปาร์ดงเรียบง่าย ช้า เนิบนาบ ทิ้งเฟรมนิ่งนาน ปราศจากบทสนทนา และถ้าจําไม่ผิด หนังยาวร้อยกว่านาทีเรื่องนี้ไม่มีเพลงประกอบ เราได้ยินเพียงเสียงหวีดหวิวของลมทะเลทราย ทําให้ผมหลับไปหลายรอบ แต่ทุกครั้งที่ลืมตาตื่นและมองไปที่จอภาพยนตร์ ผมรู้สึกถึงความงามและความทุรกันดารไปพร้อมๆ กัน เขาทำให้ภาพเคลื่อนไหวเป็นเฟรมที่นิ่งสนิท อย่างไรก็ตามผมคิดว่า Un homme sans l’Occident เป็นภาพยนตร์สารคดีขาวดําที่สวยงามมากเรื่องหนึ่ง

นอกจากเป็นผู้กํากับภาพยนตร์แล้ว เดอปาร์ดงยังเป็นช่างภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส บนชั้นวางในร้านหนังสือมีผลงานของเขาเรียงรายกันอยู่เต็มไปหมด บางเล่มหนาห้าร้อยกว่าหน้าจนยืนเปิดอ่านไม่ไหวเพราะหนักมาก ไปจนถึงพ๊อคเก็ตบุ๊คขนาดไม่กี่สิบหน้า แต่เราจะจํากัดความให้เดอปาร์ดงเป็นช่างภาพแนวไหนคงยากน่าดู จะบอกว่าเขาเป็นสารพัดช่างภาพก็คงไม่ผิดนัก เพราะเขาเป็นตั้งแต่ช่างภาพปาปารัสซีในวัยหนุ่มที่ไล่ตามถ่ายรูปดารานางแบบ ในเวลาต่อมาเขาก้าวไปสู่การเป็นช่างภาพข่าวที่เดินทางไปทั่วโลก และมีผลงานเป็นปกมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 50-60 ในช่วงนี้เขาบอกว่าเขาล่าภาพเหมือนกับฉลามล่าเหยื่อ ต่อมาเขาเป็นช่างภาพกีฬาเพื่อไปถ่ายภาพในกีฬาโอลิมปิกสามครั้ง โตเกียว 1964, เม็กซิโก 1968, มิวนิค 1972

ในปี 1966 เขาก่อตั้งเอเจนซี่ช่างภาพ Gamma ร่วมกับเพื่อนอีกสามคน ในขณะเดียวกันเขาแปรเปลี่ยนจากช่างภาพข่าวธรรมดากลายมาเป็นช่างภาพเจอร์นัลลิสท์ที่ทํางานเป็นซีรีย์แทนที่จะเป็นแบบวันช็อต (one shot) สิบปีต่อมาเขาลาออกจากการกุมบังเหียนเอเจนซี่ที่ก่อตั้งขึ้นเองมาเป็นผู้ร่วมงานกับเอเจนซี่ Magnum ในช่วงเวลานี้เองที่เขาเริ่มค้นหาเส้นทางของตัวเองและพบมันลางๆ เพราะไม่ช้าไม่นานหลังจากร่วมงานกับ Magnum เอเจนซี่ระดับตํานานแห่งนี้ส่งเขาไปถ่ายภาพสงครามกลางเมืองในประเทศเลบานอน และอัฟกานิสถาน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ เขาได้พิมพ์ผลงานรวมเล่มออกมาเล่มหนึ่งชื่อเรียบง่าย Notes ซึ่งทําให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในทางดี และไม่ดี แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของภาพถ่ายแบบเดอปาร์ดง



สิ่งที่เดอปาร์ดงรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนั้นก็คือภาพที่เล่าเรื่องสงครามประกอบไปกับงานเขียนถึงความคิด ความรู้สึก และเกี่ยวโยงไปกับประวัติของเขาเอง นักวิจารณ์บางคนหลงรักงานของเขา และชื่นชมว่ามันเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการถ่ายภาพ และยกย่องว่าเดอปาร์ดงสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการถ่ายภาพเจอร์นัลลิสท์ อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า เดอปาร์ดงหลง และหมกมุ่นกับตัวเองเหมือนนาซีซัสในเทพปกรณัม โดยพูดถึงแต่เรื่องตัวเองวนเวียนและซ้ำซาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เดอปาร์ดงเริ่มทํากับ Notes เป็นสิ่งที่คลี่คลายในเวลาต่อมา และกลายเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวของเขา นักวิจารณ์บางคนบอกว่ามัน เป็นการผสมผสานระหว่าง information + autobiography ภาพถ่ายที่บอกข้อมูล และงานเขียนที่เล่าชีวิต และเขียนถึงสิ่งที่เขาคิด ฟังดูคล้ายๆงานแบบ Auteur หรืออาจารย์บุญรักษ์ บุญญเขตมาลา ถอดความเป็นไทยว่า “ประพันธกร” ในแนวทางของผู้กำกับภาพยนตร์ฝรั่งเศสในนามของ Nouvelle Vague


ผมชอบตอนหนึ่งที่นักวิจารณ์ตัดตอนสิ่งที่เดอปาร์ดงเขียนมาให้อ่านว่า “วันนี้ผมพลาดช็อตเด็ด เพราะผมไม่กล้า” มันทําให้ผมอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ช่างภาพคนหนึ่งต้องเผชิญบ้างในสถานการณ์เช่นนั้น เขาคิด และเขารู้สึกอย่างไร หนังสือเล่มนี้ผมหาไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นหนังสือหายากไปแล้ว



ผมได้อ่านสิ่งที่เดอปาร์ดงเขียนไว้เล่มหนึ่งชื่อ Errance (พเนจร) เป็นหนังสือภาพและงานเขียนอย่างละครึ่ง หน้าซ้ายเป็นงานเขียน หน้าขวาเป็นภาพประกอบ คอนเซ็ปต์ของหนังสือคิดไว้อย่างดีตั้งแต่แรก โดยเฉพาะเรื่องภาพ เดอปาร์ดงตั้งใจไว้ว่าจะถ่ายรูปโดยใช้เลนส์ตัวเดียว และถ่ายภาพเป็นแนวตั้งเท่านั้น โดยจะจัดเส้นขอบฟ้าให้อยู่ประมาณกลางภาพ ไม่ทิ้งสเปซท้องฟ้าเยอะเกินไป หรือพื้นดินมากเกินไป แต่เนื้อหาเป็นการบันทึกส่ิงที่เขาคิด นั่นหมายความว่ามันจะค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ตามเส้นทาง ส่วนพื้นที่ที่เขาเลือกคือทะเลทรายที่เขาคุ้นชิน แต่ในประเทศที่เขาไม่รู้จักมากนัก-อเมริกา- ส่วนท้ายๆ เล่มมีภาพประกอบในสถานที่อื่นด้วย เช่นอาฟริกาและญี่ปุ่น เริ่มแรกเขาตั้งใจไว้ว่าจะปล่อยให้ตัวเองเดินทางไปอย่างไร้จุดหมายปลายทาง เพื่อที่จะค้นหาบางอย่างในการถ่ายภาพที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ก่อนเดินทางเขาจึงตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า Errance ซึ่งมันบอกเรื่องราวทั้งหมดของการทดลองครั้งนี้ โดยการพาตัวเองเข้าไปในพรมแดนสองแห่งที่ไม่รู้จักพร้อมๆ กัน หนึ่งในสภาพแวดล้อมที่แปลกตา หนึ่งภายในใจของตัวเอง

เสียดายที่ผมอ่านไม่จบ เพราะผมรู้สึกเหมือนคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาพูดแต่เรื่องตัวเอง วนเวียน และย้ำคิดย้ำทํา คนอะไรช่างน่าเบื่อปานนั้น แต่เมื่อมาคิดอีกทีหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ช่างภาพคนหนึ่งพยายามบันทึก สิ่งที่อยู่ในหัวของตัวเองในห้วงเวลาแห่งการค้นหาเส้นทางของตัวเองในฐานะช่างภาพ ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาก็ทําได้อย่างซื่อสัตย์และเคารพต่อตัวเองอย่างยิ่ง แม้ว่าจะน่าเบื่อ โมโนโทน (monotone) แต่หากเราแกะรอยตามความคิดเขาไปเรื่อยๆ เราจะพบความคิดดีๆ หลายอย่างว่าด้วยชีวิตและการถ่ายภาพ


บรรณาธิการภาพบางคนบอกว่าเดอปาร์ดงเป็นช่างภาพฝรั่งเศสที่มีสไตล์อเมริกันอย่างเด่นชัด เพราะภาพถ่ายของเขาดิบ ตรงไปตรงมา ไม่มีลีลามากนัก อาจจะเป็นอย่างนั้น ผมไม่รู้เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือ เขาชอบใช้เลนส์มุมกว้าง 21 หรือ 35 มิลลิเมตร และช่างภาพคนนี้เป็นฝรั่งเศสมากตรงที่เขาหมกมุ่นอยู่กับคําถามที่ว่า “อะไรคือความจริง?” เพราะหากย้อนกลับช่วงระหว่างที่เขาถ่ายภาพสงครามกลางเมืองอยู่ในตะวันออกกลาง เขาสงสัยเกี่ยวกับความจริงและวิชาชีพการเป็นช่างภาพ จนทําให้เขาเปลี่ยนสไตล์การทํางาน จากรายงานเหตุการณ์ด้วยภาพถ่ายอย่างเดียวมาเป็นการผสมผสานระหว่างภาพถ่าย และงานเขียนเชิงบันทึกอย่างที่เห็นใน Notes, Errance และผลงานชิ้นต่อๆ มา


ผลงานเล่มหนึ่งหนาห้าร้อยกว่าหน้าชื่อว่า Paris Journal เป็นผลงานที่รวมภาพถ่ายในปารีสตั้งแต่ปี 1980 ถึงปัจจุบัน หนังสือภาพเล่มนี้เป็นเหมือนกับสมุดบันทึกส่วนตัวที่รวบรวมภาพถ่ายของเพื่อน ครอบครัว และความทรงจําส่วนตัว มันเป็นเศษเสี้ยวของชีวิตประจําวันของเขาที่ผ่านไป และบทบันทึกความทรงจําในวันต่างๆ รวมถึงการครุ่นคิด (หมกมุ่น) ถึงการถ่ายภาพของเขา

หากจะเปรียบเทียบกับแนวทางภาพยนตร์ฝรั่งเศสท่ีมีความโดดเด่นเฉพาะตัวก็อาจจะได้ ผมมองและคิดเอาเองว่า ภาพยนตร์ฝรั่งเศสโดยรวมๆ มุ่งหมายที่จะเข้าไปสํารวจวิถีชีวิตของคนธรรมดาสามัญ และปัญหาในชีวิตประจําวันมากกว่าจะสร้างมายาภาพเพื่อความบันเทิง ดูอย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มภาพยนตร์สารคดีซีนีมา เวรีเต้ (Cinéma Vérité) ซึ่งมีนักมานุษยวิทยา ฌอง รูช (Jean Rouch) เป็นเสาหลัก และสืบทอดต่อกันมา ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1950 ได้มีการก่อตัวของคลื่นใหม่แห่งภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กํากับทั่วโลก โดยกลุ่มผู้กํากับภาพยนตร์ที่ได้รับการขนานนามว่านูเวล วาค (Nouvelle Vague หรือคลื่นลูกใหม่) ซึ่งมี ฌอง ลุค โกดาร์ (Jean-Luc Godard), ฟรองค์ซัว ทรุฟโฟต์ (François Truffaut), เอริค โรห์แมร์ (Eric Rohmer) และ โคลด ชาโบรล (Claude Chabrol) ซึ่งเป็นตํานานที่ผู้กํากับฝรั่งเศสรุ่นใหม่ๆ ได้รับมรดกตกทอดของความลุ่มหลงที่จะเข้าใกล้ความเป็นจริงของชีวิตโดยมีภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ แม้ว่าในเชิงความงาม และเทคนิคขอเดอปาร์ดงจะ เป็นสไตล์อเมริกันอย่างที่นักวิจารณ์บางคนบอกเอาไว้ แต่ในแง่ของวิธีคิดของเขาแล้ว ผมคิดว่าเขาเป็นฝรั่งเศสที่หมกมุ่น อยู่คําถามที่ว่า-อะไรคือความจริง-และพยายามเข้าไปใกล้สิ่งนั้นโดยมีกล้องภาพนิ่งเป็นเครื่องมือในงานของเขาตลอดมา


เดอปาร์ดงก้าวต่อไปในแนวทางของเขา และได้ตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย Libération ได้ส่งเขาไปเป็นช่างภาพประจําที่นิวยอร์คเป็นเวลาหนึ่งเดีอน และให้เดอปาร์ดงส่งภาพถ่ายมาลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกวันภายใต้ชื่อคอลัมน์ – Correspondance NewYorkaise – นี่เป็นครั้งแรกที่คอลัมนิสต์เป็นช่างภาพและถ่ายภาพมาลงทุกวันพร้อมๆ กับข้อเขียนสั้นๆ จะว่าไปมันก็เหมือนกับส่งโปสการ์ดมาลงพิมพ์ หรือบล็อกในอินเทอร์เน็ตที่อัพเดททุกวัน เดอร์ปาดงทํางานในสไตล์เฉพาะตัวของเขา และงานที่ออกมาเป็นงานถ่ายภาพแบบสตรีทโฟโต้กราฟฟี่ (street photography) และบันทึกสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เขาคิด และรู้สึก ภาพถ่ายไม่มีอะไรพิเศษ ไม่ได้โดดเด่น มันเป็นภาพถ่ายแบบบันทึกสิ่งที่เห็นมากกว่าการรายงานเหตุการณ์ สําคัญๆ หรือความแปลกใหม่ในสิ่งที่เขาเห็น ไม่มีแรงดึงดูด จะว่าไปมันเป็นภาพถ่ายที่แสนธรรมดา บางคนเรียกสไตล์ของเดอปาร์ดงว่า Temps Faible


ผมไม่รู้จะใช้คําแทนเป็นภาษาไทยอย่างไรกระทั่งคําภาษาอังกฤษ ในภาษาฝรั่งเศส temps แปลว่าเวลา faible แปลว่า อ่อนแอ เบาบาง ทํานองนี้ แต่ temps faible ไม่ได้เป็นสํานวนที่คนฝรั่งเศสใช้กัน มันเป็นศัพท์ที่เดอปาร์ดงเล่นกับคำและความหมาย ในภาษาฝรั่งเศสมีคําว่า temps fort (fort แปลว่าเข้มข้น แข็ง มีความหมายทํานองเดียวกับ คําว่า hard ในภาษาอังกฤษ) ดังนั้น temps fort ก็อาจแปลได้ว่าเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่บีบอารมณ์ ทําให้ตื่นเต้น สนใจ หรือเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่เป็นข่าว ส่วน temp faible เดอปาร์ดงอธิบายว่ามันเป็นภาพถ่ายที่บันทึกความจริงที่ธรรมดาสามัญ เป็นภาพถ่ายที่บันทึกช่วงเวลาระหว่างเหตุการณ์สําคัญๆ สองเหตุการณ์ ฟังดูแล้วงงๆ


ถ้าอธิบายว่าสมมติมียอดคลื่นอยู่สองลูก ส่วนที่เป็น temps faible ก็คือช่วงน้ํานิ่ง ส่วนยอดคลื่นทั้งสองลูกคือ temps fort


ถ้าเป็นอย่างนั้นผมก็มั่วตีความว่าเดอปาร์ดงเลือกที่จะบันทึกชีวิตอันเป็นปรกติของมนุษย์มากกว่าที่จะให้ความสนใจกับเหตุการณ์อันไม่ปรกติ เช่นสงคราม น้ําท่วม แผ่นดินไหว อุบัติเหตุ เพราะช่วงชีวิตของคนเรามีช่วงน้ํา นิ่งมากกว่ายอดคลื่น เป็นไปได้ไหมว่าตลอดช่วงวัยหนุ่มเขาพอแล้วที่จะโต้คลื่นไปกับมายาแห่งแวดวงบันเทิง พอแล้วที่จะวิ่งไล่ตามเหตุการณ์ที่จะเป็นข่าว พอแล้วที่จะเจ็บปวดไปกับความตายและความโหดร้ายในสงครามที่เขาได้พบเผชิญ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจบไปในช่วงเวลาสั้นๆ หนึ่งวัน สองวัน ห้าสัปดาห์ หรือสองปี แน่ล่ะชีวิตก็ ไม่ได้ยืนยาวอะไรนัก แต่ช่วงเวลาปรกติที่ปลอดเหตุการณ์บีบอารมณ์นั้นยาวนานกว่าและสําคัญกว่า เขาเลือกที่จะดิ่งลึกไปกับการทําความเข้าใจตัวเอง และแสวงหาความปกติสุขของชีวิตธรรมดาสามัญ? หรือลองอีกสักหนึ่งตัวอย่าง เช่น ในชีวิตของหนุ่มสาวคู่หนึ่งมีวันสำคัญๆเช่น วันแต่งงาน และวันที่มีลูก เดอปาดงจะบันทึกช่วงเวลาระหว่างสองเหตุการณ์นี้มาเล่าให้เราฟังว่าชีวิตของหนุ่มสาวคู่นี้ในระหว่างเหตุการณ์ทั้ง ทั้งคู่มีชีวิตผ่านวันเวลาเหล่านั้นมาอย่างไร และให้ความสำคัญกับงานแต่งงาน และวันเกิดของลูกเฉกเช่นเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง



ผมชอบงานที่ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ Paris Journal และ Voyage ของเขา แนวทางของทั้งสองเล่มคือการคัดภาพถ่ายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่เดอปาร์ดงทำงานอย่างต่อเนื่อง เกือบจะทุกวันที่เขาสะพายกล้องเดินบนถนนในกรุงปารีส (Paris Journal) เดินทางบนผืนแผ่นดินอาฟริกาอันเก่าแก่ (Voyage) เรารู้สึกได้ถึงความฉับพลัน เห็นสิ่งเดียวกับที่เขาเห็นโดยไม่ปรุงแต่ง เรายืนอยู่ในความสูงเดียวกัน ไม่มีมุมมองอันแปลกพิศดาร หรือความพยายามอื่นใดที่นอกเหนือไปจากจะบอกว่า - ผมเห็นอะไร และในขณะเดียวกันเราได้ยินเสียงความคิดของเขาผ่านข้อความสั้นๆที่ผุดขึ้นมาในขณะที่เขาถ่ายภาพนั้นๆ หรือภาพนั้นสะกิด และนำเขากลับไปสู่ห้วงความคิดคำนึงบางเรื่อง บางครั้งเราพินิจพิจารณาถึงวิชาชีพ บางครั้งถึงเรื่องราวประสบการณ์ในอดีต ซึ่งทำให้เรารู้จักเดอปาร์ดงมากขึ้นทีละเล็กละน้อย


เดอปาร์ดงเป็นช่างภาพที่ผ่านการถ่ายภาพมาแล้วเกือบทุกแบบทั้งปาปารัสซี่จนถึงช่างภาพศิลปิน ผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง เมื่อเวลาผ่านไปเขาค่อยๆละทิ้งบางสิ่งไปเรื่อยๆตามรายทางคงเหลือไว้เพียงบางสิ่งที่ไม่อาจปล่อยมือ หรือว่าในที่สุดเขาก็พบว่าไม่มีอะไรสำคัญ และน่าสนใจไปกว่าชีวิตที่ดําเนินไปวันต่อวัน คิดแบบจอมยุทธ์ก็ต้องบอกว่าเดอปาดงบรรลุเคล็ดวิชาของเขาแล้ว จากสูงสุดคืนสู่สามัญ จากความเป็นความตายในสมรภูมิรบเป็นชาวไร่ ไม่มีอะไรต้องค้นหาอีก ตลอดเวลาที่เขาท่องไปในบู้ลิ้มเพื่อพิสูจน์ตัวเองได้บรรลุผลแล้ว เขาถอนตัวออกจากยุทธภพ ออกนอกกำแพงใหญ่ และกลับหวนคืนไปสู่วิถีชาวไร่เหมือนกับพ่อแม่และญาติๆของเขา เพียงแต่เขายังไม่หยุดบันทึกชีวิตของเขาผ่านฟิล์ม งานเขียนสั้นๆ และสมุดภาพที่ชื่อ La Terre des Paysans เป็นผลงานภาพถ่ายที่เขาบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 จนถึง ทศวรรษที่ 1980 เป็นภาพชุดเล่าเรื่องบ้านไร่ของครอบครัว คนใกล้ชิด และความทรงจำ

จะบอกว่าเดอปาดงน่าเบื่อหรือก็ใช่ จะบอกว่าเขาบรรลุ และค้นพบตัวเองแล้วก็ไม่ผิด เหมือนรูปวาดของเด็กที่วาดบ้านหลังหนึ่ง มีเส้นทางคดเคี้ยว มีทุ่งนา บึงน้ำ พระอาทิตย์ขึ้น และนกบินผ่าน มันเป็นความธรรมดาที่เรียบง่าย ลุ่มลึก และเหมือนจะไม่มีอะไรเลย ผมรู้สึกระคนทั้งสองอย่างเมื่อดูงานของเขาอย่างต่อเนื่อง และเขาอาจเป็นครูช่างภาพที่ผมชื่นชมผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง สิ่งที่เป็นประจักษ์พยานอย่างหนึ่งคือในตู้หนังสือของผมมีหนังสือรวมผลงานของ Raymond Depardon มากที่สุด

*ความเรียงสนับสนุนโดย CAFE BRIGHT SIDE of the MOON

สั่งซื้อเมล็ดกาแฟได้ที่นี่ order Coffee Bean


@supachai 2020

333 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page