top of page

Time Traveller No.5 | สุทธิชัย หยุ่น

Updated: Jan 23, 2020

21.01.2020 สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักข่าวผู้เคยโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งในข่าวทีวีไทยถูกตัดสินจำคุกไปเมื่อเช้านี้จากกรณีทุจริต


จำได้ว่าสมัยเป็นเด็กข่าวทีวีเริ่มเป็นที่นิยมติดตามชมจากคุณสมเกียรติ อ่อนวิมลที่เข้ามาปฎิรูปการนำเสนอข่าวทางช่อง 9 ซึ่งทำได้น่าติดตาม ทันสมัยมากในยุคนั้น นักข่าวทีวีกลายเป็นเซเลบและทำให้วงการข่าวทีวีไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลย


2539 ไอทีวีที่คุณสุทธิชัย หยุ่น นักหนังสือจากเดอะเนชั่นมาเป็นหัวเรือใหญ่ หลังจากนั้นเนชั่นก็เข้าสู่วงการข่าวทีวีจากนั้นเป็นต้นมา แล้วก็เปลี่ยนจากยุคสมเกียรติ อ่อนวิมลเข้าสู่ยุคสุทธิชัย หยุ่น


ต่อมาก็เป็นยุคหนังสือพิมพ์ผู้จัดการของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งมีบทบาทมากให้ช่วงรัฐประหารปี 35 แล้วหลังจากนั้นก็เติบโตอย่างมากด้วย ตอนนั้นผมกำลังเรียนมหาวิทยาลัยได้ตามดูภาพถ่ายข่าวในหนังสือพิมพ์ทุกวัน อ่านผู้จัดการวีคเอนด์ทุกสัปดาห์ ถ้าเรียนจบอยากเป็นช่างภาพข่าวที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการและใฝ่ฝันเป็นช่างภาพ Asia Time แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันไว้



วันเวลาผ่านมาจนกระทั่งบ้านเมืองได้เปลี่ยนไป เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง สึนามิ รัฐประหาร รัฐประหาร รัฐประหาร ...


ในช่วงเวลารุ่งโรจน์ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กนก รัตน์วงศ์สกุล “เล่าข่าว” ทางทีวีเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งสองเป็นคนในรุ่นที่คุณสุทธิชัยมีส่วนในการปั้นบุคคลากรเหล่านี้ขึ้นมา แต่เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนไปเกิดความขัดแย้งในวงกว้าง สื่อมวลชนเคยเป็นหลักให้กับสังคมก็เริ่มเรรวน ไม่เป็นที่เชื่อมั่น ไม่เป็นที่ไว้ใจ และกลายเป็นเป้าให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก


นับเป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้วที่เกิดวิกฤตศรัทธาในแวดวงนักสื่อสารมวลชน ที่ชัดๆ ก็ตั้งแต่การรัฐประหารปี 49 เป็นต้นมา มีการถกเถียงถึงจรรยาบรรณ จุดยืน หลายครั้งหลายหนจนฝุ่นตลบ ถึงตอนนี้ต่างคนก็ต่างมีจุดยืนของตัวเอง มีฝั่งที่อยากเชื่อและไม่อยากเชื่อ ถึงช่วงเวลานี้ผมใช้เวลาดูข่าวทีวีน้อยมาก


เมื่อเริ่มการพัฒนาระลอกใหม่ผ่านความก้าวหน้าทางอินเตอร์เนต สถาบันสื่อฯ ก็พากันล้มละเนละนาดเพราะเทคโนโลยีเหมือนกับแวดวงอื่นๆ ราวกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะล้มหายตายจากไปมาก คนที่เหลืออยู่ก็พยายามหาทางเอาตัวรอดพร้อมๆ กับกำลังหาความสมดุล หาที่ยืนให้ตัวเอง



ในราวๆ ปี 2543 ผมมีโอกาสถ่ายภาพคุณสุทธิชัย หยุ่นไว้ครั้งหนึ่ง คราวนั้นเป็นการแถลงข่าวการเปิดตัวพ็อกเก็ตบุ้คเล่มแรกของปราบดา หยุ่น นักเขียนไฟแรงที่เพิ่งกลับมาจากนิวยอร์คได้ไม่กี่ปี เขามีเรื่องสั้นในนิตยสารหลายเล่ม และรสชาติของเรื่องสั้นแบบปราบดาก็ให้รสแปลกออกไปเป็นที่กล่าวขวัญถึงในหมู่นักเขียนและนักอ่าน ตอนนั้นปราบดาดังมาก และด้วยทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ ต่อมาไม่นานคุณสุทธิชัยก็ตัดผมทรงเดียวกับปราบดา มีการแซวๆกันว่าคุณสุทธิชัยตัดผมเลียนแบบลูกชาย


ในงานนั้นผมตื่นเต้นที่จะได้ถ่ายภาพคุณสุทธิชัยมากกว่า รองลงมาคือการได้ถ่ายภาพคู่ระหว่างคุณสุทธิชัยกับปราบดา เพราะปราบดากับผมรุ่นราวคราวเดียวกัน น่าจะมีโอกาสพบกันอีกหลายหน


ในวันแถลงข่าวผมหิ้วกล้อง Mamiya RB (กล้องมีเดียมฟอร์แมท) ติดเลนส์ 90 f3.5 กับไฟสตูดิโอและร่มสะท้อนไปคันหนึ่ง ก่อนเวลาแถลงข่าวผมเซ็ทกล้องและไฟไว้ที่หลังเวที โดยเอากำแพงขาวๆ มาเป็นฉาก กำหนดให้ตัวแบบอยู่ห่างจากกำแพงพอควรแล้วยกไฟสูงในตำแหน่งเฉียงๆ โดยกะว่าให้แสงสะท้อนร่มไปที่ตัวแบบโดยไม่ให้เงาไปทาบที่ฉากหลังในขณะเดียวกันก็มีแสงไปตกที่ฉากหลังด้วย


จัดเสร็จก็นั่งฟังงานแถลงข่าวพลางนึกถึงภาพที่อยากได้เอาไว้ในใจ จะว่าไปมันก็เป็นการทำงานที่ลงทุนลงแรงใช้ได้ ที่จริงไม่จำเป็นที่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ แต่ก็ด้วยความเป็นช่างภาพไฟแรง


ก่อนหน้านั้นหลายวันผมคิดว่าอยากถ่ายภาพคุณสุทธิชัย หยุ่นแบบไหน ภาพที่เกิดขึ้นมาในหัวฉับพลันคือคุณสุทธิชัยยืนหันหลังให้ผม แล้วหันหน้าไปทางซ้าย หรือขวา เพื่อให้เห็นรูปทรงของศรีษะที่โล่งเตียน ผมแน่ใจว่ามันต้องเป็นรูปทรงที่สวยมากแน่ๆ แถมมีแว่นกรอบทองทรงกลมประดับอยู่บนดั้งจมูก


แต่ภาพคู่ของสองพ่อลูกผมคิดไม่ออก ผมเดินไปที่ร้านหนังสือพลิกดูหน้านิตยสารต่างประเทศว่าเขาถ่ายภาพคู่กันอย่างไรบ้าง ท่าทางเขาวางกันอย่างไร อารมณ์ของภาพเป็นอย่างไร แต่ผมก็ไม่ได้ไอเดียที่ต้องการ มันไม่เข้ากับส่ิงที่ผมคิด


ผมก็นึกถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งจำได้ลางๆ ว่า มีบรรยากาศอยู่บนทิวเขาและมีคนธิเบตสองคนกำลังเอาหน้าผากชนกัน มันมี Sense ของการให้กำลังใจ ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด หรือเป็นการจากลา อารมณ์ประมาณนี้ ทำให้ผมนึกต่อไปถึงภาพปกของนิตยสารสารคดี มันเป็นภาพของคุณสืบ นาคะเสถียรที่ชาวบ้านคนหนึ่งกำลังเจิมที่หน้าผากของเขา และนึกต่อไปถึงภาพยนตร์เรื่อง 7 years in Tibet แสดงโดยแบรด พิทท์ ที่ท่านดาไล ลามะจรดหน้าผากกับเฮนรีช ฮาร์เร่อร์ (Heinrich Harrer) ในยามที่ต้องจากลา


หลังจากแถลงข่าวเสร็จสิ้น ผมเชิญคุณสุทธิชัยมาด้านหลังแล้วถ่ายภาพอย่างที่ตั้งใจไว้ เริ่มด้วยการถ่ายภาพหน้าตรงเพื่อความคุ้นเคย จากนั้นก็ขอให้คุณสุทธิชัยหันหลัง และในที่สุดก็หันหน้าไปทางขวามอย่างที่ผมจินตนาการไว้ ส่วนภาพที่สองนั้นดูเหมือนจะติดขัดนิดหน่อยตรงที่ปราบดาไม่อยากทำท่าอย่างที่ผมอยากได้ เปลี่ยนเป็นกอดคอคุณสุทธิชัยแทน แต่ด้วยการขอเป็นครั้งที่สามหรือสี่ปราบดาคงรู้สึกอยากให้การถ่ายภาพครั้งนี้เสร็จๆ ไปสักทีเลยยอมตามที่ผมร้องขอ หรือไม่เขาก็อาจจะเขิน



ผมรีบกลับมาที่บ้านล้างฟิล์มด้วยความตื่นเต้น เมื่อเห็นเนกาทีฟผมก็ได้แต่อมยิ้ม รอแห้งแล้วพริ้นท์ลงบนกระดาษในห้องมืดเพื่อส่งโรงพิมพ์ พลางนึกถึงภาพคุณสุทธิชัยที่จะถูกใช้เป็นปก และภาพของพ่อลูกวางเต็มหน้าคู่บนหน้านิตยสารเล่มหนึ่ง

.


แม้จะผ่านมาหลายปีคุณสุทธิชัยไม่ได้เป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของเครือเนชั่นแล้ว แต่เขาก็ยังแอ๊คทีฟในฐานะสื่อมวลชนที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอยู่เสมอ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความผันผวนทางการเมือง


หากจะมีใครยืนหยัดในวิชาชีพจนหนึ่งนาทีท้ายๆ หนึ่งในรายชื่อเหล่านั้นก็คงไม่หนีไปจากคุณสุทธิชัย หยุ่น


เมื่อพูดถึงเนชั่นในเวลาที่ไม่มีคนชื่อสุทธิชัย หยุ่น ผมไม่แน่ใจถึงความรู้สึกของเขาและอยากรู้เหมือนกันว่าคุณสุทธิชัยคิดอย่างไรกับเนชั่นในเวลานี้

.


Medium Format 6 x 7

Camera Mamiya RB

Film Kodak TMX

Developer D - 76


สุทธิชัย หยุ่น / ปราบดา หยุ่น

Suthichai Yoon / Prabda Yoon


ภาพพอร์ทเทรท โดย ศุภชัย เกศการุณกุล

Portrait by Supachai Ketkaroonkul

124 views0 comments
bottom of page