top of page

ในปี 2005-2006 เทศบาลกรุงปารีสได้จัดงานแสดงเพื่อให้เกียรติกับ Willy Ronis (วิลลี่ โรนีส์) ซึ่งขณะนั้นมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษ ภาพถ่ายของวิลลี่ โรนีส์ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายขาวดําที่บันทึกภาพเมืองและชีวิตของชาวปารีเซียงในช่วงปี 1930-1980 ช่างภาพที่เป็นที่รู้จักในรุ่นราวคราวเดียวกับ Willy Ronis เห็นจะเป็น Henri Cartier Bresson (HCB) เจ้าของ l’Instant décisif หรือ moment decisive อันลือลั่น HCB เป็นช่างภาพ journaliste ไม่กี่คนที่ได้เดินทางบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสําคัญๆของโลกกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ยังไม่นับว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเอเจนซี่ช่างภาพ Magnum ที่ทําให้ภาพถ่ายแบบ journaliste มีคุณค่าทางศิลปะ และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก


วิลลี่ โรนิส ไม่ได้มีชีวิตช่างภาพที่โลดโผนอย่างอองรี การ์ติเยร์-เบรซงเพื่อนร่วมชาติ และร่วมอาชีพของเขาแต่อย่างใด แต่ทํางานส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส แคบเข้ามาหน่อย เขาทํางานส่วนใหญ่ในการบันทึกภาพชีวิตชาวปารีเซียง ถ้าจะให้คํานิยามที่ตรงที่สุดก็น่าจะบอกว่าเขาบันทึกภาพชีวิตคนปารีเซียงชั้นกลางและชนชั้นทํางานในเขตคนหาเช้ากินค่ำทางตอนเหนือของกรุงปารีส (Belleville-Ménilmontant) เพราะผลงานชุดนี้ถือเป็นงานส่วนตัวที่ทำงานสะสมรวบรวมยาวนานกว่า 40 ปี



แม่น้ำแซนที่ไหลผ่านกลางกรุงปารีสเป็นเส้นแบ่งทางกายภาพ ฝั่งขวา (Rive Droite ตอนบนของกรุงปารีส) และฝั่งซ้าย (Rive Gauche ตอนล่างของกรุงปารีส) ฝั่งขวาจะเป็นพื้นที่ที่พลุกพล่านด้วยธุรกิจการค้า และเป็นเขตของชนชั้นกลางคนทำงาน ย่านมงมาร์ตยังเป็นที่รวมของศิลปินที่ทำงานไขว่คว้าหาโอกาสอันมีสีสัน ส่วนฝั่งซ้ายซึ่งเป็นฝั่งที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย และมิวเซียมหลายแห่ง เป็นย่านที่ค่อนข้างเรียบง่าย เงียบสงบ เหมาะแก่การครุ่นคิดนิ่งๆ พื้นที่ทำงานของวิลลี่ โรนีส์อยู่ในเขต 19, 20 ทางตอนบนเยื้องไปทางขวาของกรุงปารีส


หากจะบอกว่าภาพถ่ายของวิลลี่ โรนีส์ ไม่น่าสนใจ ใครคนนั้นอาจพลาดที่จะเห็นความมหัศจรรย์ของชีวิตประจําวันธรรมดาๆ ในสถานที่ธรรมดา แต่อ่อนละมุน เป็นฉากของชีวิตที่เจือปนไปด้วยความสุข และความเศร้า เมื่อมองผ่านภาพถ่ายแบบมนุษยนิยมของเขา เราจะเห็นความงามและความโดดเดี่ยวของชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา


วิลลี่ โรนีส์เป็นลูกของพ่อแม่ชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรปตะวันออกและรัสเซีย แม่เป็นลิธัวเนี่ยน (Lituanie) พ่อ อพยพมาจากเมืองออเดสซา (Odessa) ประเทศรัสเซีย เมื่อมาถึงปารีสพ่อของเขาพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้แม้แต่คําเดียว ชีวิตยากลำบากและดิ้นรน อย่างไรก็ตามครอบครัวผู้อพยพต้องทํางานหนักเพื่อเอาตัวรอดโดยต้องทํางานหลายอย่างโชคดีที่ทั้งคู่มีฝีมือในงานอาชีพอยู่บ้าง พ่อของเขาเป็นช่างภาพและช่างตัดเย็บเสื้อผ้าส่วนแม่ทํางานบ้าน และรับสอนเปียโน วิลลี่ โรนีส์ผูกพันกับพ่อมากกว่าแม่ แต่นั่นแหละเขาได้ส่วนดีจากการอบรมเอาใจใส่จากทั้งสอง เขาได้เรียนดนตรีจากแม่และเรียนถ่ายรูปจากพ่อ ช่างเป็นองค์ประกอบของศาสตร์และศิลป์ที่น่าสนใจยิ่ง




ตอนเป็นเด็กเขามีความสามารถด้านดนตรีมาก เพราะบรรยากาศในบ้านคงคลอเคลียไปด้วยเสียงเปียนโน และเขาเริ่มเรียนเปียโนอย่างจริงจังตั้งแต่อายุเจ็ดขวบจากแม่ของเขาเองซึ่งเป็นครูเปียโน วิลลี่ โรนีส์จึงมีความสามารถถึงขนาดแยกแยะเสียงโน๊ตได้อย่างแม่นยํา เขาเล่าว่าสมัยเป็นเด็กเขาฟังแต่เพลงคลาสสิคและใฝ่ฝันอยากเป็นประพันธกร แต่แล้วชีวิตก็หักเหเมื่อพ่อของเขาป่วยหนักและขอร้องให้เขามาช่วยงานในสตูดิโอถ่ายภาพ แม้ใจของเขาจะอยู่กับดนตรี แต่ก็ขัดคำขอร้องขอพ่อไม่ได้ การทํางานในสตูดิโอถ่ายภาพจึงเป็นงานที่ทําให้เขาไม่มีความสุขนัก แม้ว่าพยายามจะปรับปรุงมุมมอง และปรับเปลี่ยนการจัดแสงแบบใหม่ๆก็ไม่ได้ทำให้อะไรๆดีขึ้น เพราะในสมัยนั้นคนปารีเซียงมักนิยมรูปแบบที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม ความพยายามของเขาจึงไร้ผล และเมื่อจะต้องถูกบังคับให้แต่งงานกับสาวที่เขาไม่รู้จักยิ่งทําให้ความกดดันในชีวิตเพิ่มขึ้น การออกจากบ้านเพื่อแสวงหาเสรีภาพในใจจึงเป็นทางออกเดียว ในช่วงเวลานี้เองที่วิลลี่ โรนีส์เริ่มบันทึกชีวิตผู้คนบนถนน ต่อมาการถ่ายภาพเชิงสารคดีจึงเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แม้เขาจะประสบความสําเร็จและมีความสุขกับการถ่ายภาพในระยะหลัง แต่ความรักในดนตรี ความปรารถนาที่จะเป็นประพันธกรยังอยู่ในใจของเขาเสมอ เขาบอกว่าเขาให้ความสําคัญกับดนตรีที่สุดในบรรดาศิลปะทั้งมวล



ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเล็กน้อย วิลลี่ โรนีส์เริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจัง และมีงานลงตีพิมพ์ในนิตยสารฝ่ายซ้ายหลายฉบับ อย่างเช่น Regards และ Ce soir เนื่องจากวิลลี่ โรนีส์มีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคการเมืองสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฝรั่งเศส เขาจึงมีส่วนร่วมในการเข้าไปบันทึกภาพเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการประท้วงนโยบายรัฐ ภาพที่โด่งดังมากของเขาคือภาพที่ชื่อว่า Rose Zehner Militant C.G.T. ภาพนั้นเป็นภาพหญิงสาวสมาชิกสหภาพแรงงานลุกขึ้นยืนขึ้นบนโต๊ะและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในการรวมตัวประท้วงโรงงานซิโตรเอน (Citroën) แต่น่าเสียดายที่ในงานนิทรรศการที่จัดขึ้นที่ปารีสครั้งนี้ได้ขยายภาพนี้เพียงขนาดประมาณ 8×10 นิ้ว ผมจึงไม่ได้เห็นภาพนี้อย่างลงรายละเอียด ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายทอดบรรยากาศแห่งการอภิปรายอย่างดุเดือดที่สวยงามภาพหนึ่ง โรส เซห์แนร์ ยืนอยู่บนโต๊ะออกท่าทางประกอบการปราศัยของเธอโดยชี้นิ้วไปข้างหน้า ด้านบนเว้นพื้นที่โปร่งเป็นท่อ และสายระโยงของโรงงาน วิลลี่ โรนีส์สังเกตุการณ์ และกดชัตเตอร์ท่ามกลางสาวโรงงานที่ล้อมรอบตัวโรส และหันมามองเธอเป็นจุดเดียว



วิลลี่ โรนีส์บอกว่า ความจริงแล้วภาพนี้เขาไม่คิดว่าจะนําออกมาพิมพ์ เพราะในช่วงเวลานั้นเขาตรวจดูจากฟิล์ม negative แล้วฟิล์มไม่สมบูรณ์ คือมัน over explosure เฟรมนี้จึงถูกละเลยไป แต่ในช่วงปี 80 เขานําฟิล์มทุกม้วนกลับมาตรวจสอบอีกครั้งเพื่อพิมพ์รวมเล่ม ภาพภาพนี้จึงถูกค้นพบและได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา กระนั้นเขาก็ไม่ได้จํากัดตัวเองอยู่เพียงแต่ช่างภาพสารคดีเชิงข่าว แต่รวมไปถึงงานถ่ายภาพทิวทัศน์ หรือถ่ายงานตามคอนเซ็ปต์ที่รับมาจากห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานราชการ เขาบอกว่า เขาไม่ชอบการเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ชอบทํางานอย่างหลากหลาย


ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองฝรั่งเศส เขาต้องหนีไปทางใต้ของประเทศเพราะตัวเองมีเชื้อสายยิว การทํางานเป็นช่างภาพจึงต้องถูกเว้นวรรคนานถึงสี่ปี(1941-1944) จนเสร็จสิ้นสงคราม กระนั้นมันเป็นช่วงที่เขาได้เรียนรู้และสะสมประสบการณ์การมองโลกผ่านความรักเมื่อเขาได้รู้จักกับภรรยาในอนาคตของเขา Marie-Anne


วิลลี่ โรนีส์ได้สร้างงานส่วนตัวซึ่งได้ถ่ายภาพภรรยาและลูกไว้มากมาย หนึ่งในภาพที่โด่งดังคือภาพถ่ายชื่อ Le Nu Provençal (1949) เป็นภาพถ่ายนู้ดของ Marie-Anne เขาเล่าว่าบ่ายวันนั้นหลังจากตื่นจากนอนกลางวัน มารีแอนเดินไปที่อ่างล้างหน้าเพื่อล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น สิ่งที่เขาเห็นคือร่างกายอันเปลือยเปล่าของคนรักที่ยืนหันหลังให้เขา ด้านหน้าเป็นกระจกกลมสะท้อนแสง มีเหยือกที่บรรจุน้ำอยู่ที่พื้นด้านข้าง แสงสาดทอผ่านหน้าต่างไม้ที่อยู่ด้านข้าง ทำให้เห็นผิวเนื้อที่ไล่โทนสีอันนวลเนียนอ่อนนุ่ม เขาจึงบอกให้เธออยู่นิ่งๆอย่าขยับเพราะภาพที่เขาได้เห็น ได้กระตุ้นอารมณ์สุนทรีย์และอยากบันทึกภาพนั้นไว้ แล้วภาพที่เกิดต่อหน้าของเขาบ่ายวันนั้นก็กลายเป็นภาพที่มีความลงตัวของแสง จังหวะเวลา ความละเอียดอ่อน ความงามของสรีระ และความรัก ภาพ Le Nu Provençal กลายเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่มากที่สุดภาพหนึ่งของวิลลี่ โรนีส์



ผมชอบภาพถ่ายนู้ดของวิลลี่ โรนีส์ไม่มากไม่น้อยไปกว่าภาพชีวิตบนถนนที่เขาบันทึกไว้ เขากล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า : “จุดมุ่งหมายในการถ่ายภาพนู้ดไม่ได้อยู่ที่การถ่ายทอดความเป็นนามธรรมของรูปทรง รวมทั้งไม่ใช่การค้นหาสัญลักษณ์ แต่เป็นการถ่ายทอดความเป็นธรรมชาติและสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นเป็นเหตุผลว่าผมไม่เคยถ่ายนู้ดในสตูดิโอ เพราะมันเป็นการแต่งเติม ผมชื่นชมสรีระของสตรี และไม่เคยคิดที่จะหยอกล้อด้วยความไม่เคารพ สิ่งที่ผมพยายามค้นหาคือการแสดงออกของสรีระ และสีหน้าของสตรี และการถ่ายภาพนู้ดโดยไม่มีใบหน้าไม่ใช่วิธีการของผม”


หลังสงครามเขาเดินทางกลับปารีส ในขณะที่นิตยสารเชิงข่าวและภาพได้รับความนิยมทั้งในยุโรป และอเมริกา อาชีพช่างภาพเป็นที่ต้องการอย่างมาก ในฐานะช่างภาพอิสระมือดีเขาได้ร่วมงานกับนิตยสารประเภทนี้หลายฉบับทันที Life เป็นนิตยสารซึ่งเป็นที่รวมช่างภาพสารคดีข่าว(photo-reporter) ฝีมือดีทั่วโลกเป็นหนึ่งในนั้น วิลลี่ โรนีส์ร่วมงานกับนิตยสารอเมริกันฉบับนี้ด้วยในช่วงปี 1948-1950 ซึ่งเขาบอกว่ามันเป็น ช่วงที่เขามีความสุขมากในการทํางาน เพราะมีฟิล์มให้ใช้อย่างเหลือเฟือ ช่างภาพสามารถทํางานได้อย่างไม่ต้องกังวลว่าฟิล์มจะหมด แต่ทว่าการร่วมงานกับ Life จบลงเพียงแค่สองปี เมื่อเขาสินใจที่จะไม่ร่วมงานกับนิตยสารฉบับนี้อีกต่อไป เมื่อมีความขัดแย้งกันเรื่องลิขสิทธิ์และความเป็นตัวตนของช่างภาพต่อชิ้นงานของเขา


ต่อมาเมื่อสื่อโทรทัศน์เริ่มพัฒนาเทคโนโลยี และมีบทบาทครอบงําการรายงานข่าวสาร และการถ่ายทอดสด สื่อนิตยสารจึงถูกลดความสําคัญลง การทํางานของช่างภาพสารคดีข่าวจึงต้องเปลี่ยนแนวทาง ภาพสารคดีข่าวในระยะต่อมาจึงต้องเป็นภาพที่กระทบความรู้สึกคนอ่านมากขึ้น แทนที่จะเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษยนิยมหลังสงครามโลกที่ให้กําลังใจต่อพลเมืองโลกให้ร่วมกันสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่หลังหายนะ


ช่วงเวลานี้เองวิลลี่ โรนีส์ได้ค้นพบย่าน Belleville-Ménilmontant ทางตอนเหนือของกรุงปารีส เขาบันทึกภาพของชาวปารีเซียงชนชั้นทํางานในย่านนี้ระหว่างปี 1946-1953 ภาพชุดนี้เองสร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมาก นักวิจารณ์ศิลปะบางคนบอกว่าชีวิตผ่านเลนส์ของโรนีส์งามราวบทกวี บ้างก็ชื่นชมผลงานของเขาว่าเป็นงานที่มีสุนทรีย์ภาพราวกับดนตรีคลาสสิค ผลงานภาพถ่ายชุดนี้ได้รวบรวมไว้ในหนังสือสองเล่ม ชื่อ Belleville-Ménilmontant (1954) และ Sur le fil de hasard (1980)



ในบทสัมภาษณ์หลายครั้งหลายหนช่างภาพผู้นี้ให้ความสําคัญกับจังหวะฝีมือและการวางองค์ประกอบภาพอย่างมาก แต่เขาไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงเทพีแห่งโชคและความบังเอิญ หลายภาพที่เขาบันทึกและถูกจดจําเพราะความบังเอิญของหลายๆ อย่าง กระนั้นเขาบอกว่าความบังเอิญนั้นสนิทแนบแน่นกับความเป็นจริง มันเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเราตั้งใจสังเกตความธรรมดาสามัญแห่งชีวิต ดังนั้นช่างภาพจึงต้องพร้อมเสมอเปรียบคล้ายกับเมื่อปลางับเหยื่อเราต้องไวพอที่จะฉวยเบ็ดและตวัดให้ปลาติด


หากเราดูภาพของเราจะพบว่า วิลลี่ โรนีส์พาตัวเองไปอยู่ในตําแหน่งหนึ่งๆ อย่างถูกที่ถูกเวลา เขาบอกว่าสําหรับเขาสไตล์การถ่ายภาพมีอยู่สองแบบคือสไตล์เวสท์เทิร์น และแบบหย่อนสายเบ็ด


วิธีแรกคือช่างภาพเดินไปเรื่อยๆ สังเกตโดยใช้ความเร็ว ความแม่นยํา และทักษะในการเก็บภาพเมื่อเห็นเหตุการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้นต่อหน้า ต่อตา คงเหมือนกับความเร็วและความแม่นยําของคาวบอยในการดวลปืน


วิธีที่สองคือช่างภาพจะรอในสถานที่หนึ่งๆ มีการวางองค์ประกอบเอาไว้ในอากาศเรียบร้อย และจินตนาการถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในภาพ เหมือนการเกี่ยวเหยื่อ ไว้กับเบ็ดและรอปลามากินเหยื่อ แต่ไม่ว่าช่างภาพคนหนึ่งจะใช้วิธีไหนในการถ่ายภาพ เขาไม่มีทางได้รู้ว่าในสไตล์เวสเทิร์นเขาจะเดินไปทางซ้ายหรือขวาเมื่อถึงทางแยก จะหยุดรอหรือเดินต่อไป และในสไตล์หย่อนเบ็ดตกปลาเขาก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าบทภาพยนตร์ที่เขาจินตนาการขึ้นในใจจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงไหม การรอคอยของเขาจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่ คงมีเพียงแต่เทพีแห่งโชคที่ช่างภาพแต่ละคนภาวนาให้เข้าข้างตนเท่านั้นที่จะบอกได้



วิลลี่ โรนีส์ถนัดถ่ายภาพสไตล์หย่อนเบ็ดตกปลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการรอคอยของเขา และการทำงานผ่านช่วงเวลาอันยาวนานนั้น ผลงานภาพถ่ายของเขาไม่สูญเปล่า


เผยแพร่ครั้งแรก ที่ Onopen.com | May 2006

Willy Ronis (1910 - 2009)

เขียน และเรียบเรียง | ศุภชัย เกศการุณกุล

©supachai ketkaroonkul

122 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page