top of page

พี่กรอฟ - มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ - พิมพ์ครั้งที่สอง

พบกันครั้งแรกเธอเรียกผมว่า “ลุงนิว” แล้วเรียกตัวเองว่า “พี่กรอฟ”


ผมงงเรื่องสรรพนามอยู่พักใหญ่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเรียกหญิงสาวที่อยู่ตรงหน้าอายุราวยี่สิบปลายว่าพี่ได้สนิทปาก เราน่าจะห่างกันราว 20 ปี แต่เมื่อนั่งสนทนากันพักใหญ่ผมก็เริ่มชิน


แล้วชื่อเธอจะเราให้เรียกยังไง “กอฟ กอล์ฟ หรือกรอฟ”

“กรอฟ เซ่”





ผมได้รับคำแนะนำผ่านเพื่อนที่บอกว่าผมน่าจะทำงานกับภรณ์ทิพย์ได้ดี เธอมีเรื่องอยากจะเล่าผ่านภาพถ่าย เราจึงนัดกันในบ่ายวันหนึ่ง


เธอพ้นโทษจำคุก 2 ปี 10 วันมาไม่นาน และกำลังอยู่ในขณะเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ในเรือนจำ

ประโยคแรกที่ผมถามเธอเมื่อพบกัน (เพราะเคยอ่านบทสัมภาษณ์คนที่เคยถูกจำคุกคนอื่นๆมา)


“ช่วยบอกได้ไหมว่า คุกทำให้ผู้ต้องขังสูญเสียความเป็นมนุษย์ แล้วเธออยู่รอดมาได้ยังไง และดูเหมือนจะสะสมประสบการณ์ออกมาได้มากจนเป็นหนังสือได้หนึ่งเล่ม”


“ลุงก็ไม่ต้องเอาความเป็นมนุษย์เข้าไปสิ เป็นนกเป็นหนูเป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นมนุษย์ก็ไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์”


*




เรานัดคุยกันอีกหลายครั้ง เธอเล่าเรื่องประสบการณ์ต่างๆ ในเรือนจำให้ฟัง ด้วยการวาดแผนผังประกอบความเข้าใจ เมื่อฟังจากลีลาการเล่า และน้ำเสียงของเธอแล้วคล้ายเธอกำลังอยู่ในโรงเรียนประจำหญิงล้วนที่มีความเข้มงวดมากกว่า เธอเล็ดลอดจากกฎเกณฑ์บางอย่างด้วยความซน ความเจ้าเล่ห์ เจ้าแผนการ และใสซื่อบริสุทธิ์ จนประสบการณ์ในโรงเรียนประจำคล้ายเป็นเรื่องผจญภัย มากกว่าการลงโทษทัณฑ์ ด้วยการเปลี่ยนบทบาทจากภรณ์ทิพย์ เป็นเจ้าปีศาจ เจ้าตีนเล็ก เด็กในโรงเลี้ยงแมลงสาบ และตัวละครอื่นๆ ในนิทานที่เธอสร้างขึ้นจากชีวิตจริง ผมไม่รู้และไม่มีวันรู้ว่าเธอต้องแลกกับอะไรมาบ้าง แต่เธอก็ทำมันอย่างดี อย่างรู้เนื้อรู้ตัว เข้มแข็ง และอย่างมีเป้าหมายที่จะไม่เสียเวลาชีวิตอยู่ในนั้นโดยเปล่าประโยชน์


ในบางคราวที่แลกเปลี่ยนทัศนะบนโต๊ะที่มีหนูผัดเผ็ด กับเหล้าขาวพื้นบ้านที่เธอหิ้วมาฝาก

ระหว่างบทสนทนาบางสิ่งที่เธอไม่เห็นด้วยเธอมักโต้กลับมา พร้อมกับทำหน้านิ่วคิ้วขมวด

(คิ้วสัมพันธ์กับความมั่นใจของเธอ และวันไหนชมว่าวาดคิ้วสวย วันนั้นเธอจะคุยด้วยอย่างอารมณ์ดี)


“ความคิดของลุงเป็นความคิดของคนแก่” วันนี้เธออาจจะอารมณ์ไม่ดี แม้ว่าคิ้วจะสวย


“แก่ตรงไหน” เหมือนถูกสะกิด ทั้งขำทั้งขื่น “นี่เราแก่แล้วเหรอวะ”


*




“เธอชอบแต่งนิทาน แล้วเธอชอบนิทานเรื่องไหน”


“พี่ชอบปีเตอร์แพน เพราะเขาใช้ชีวิตเป็นเด็กตลอดกาลอยู่ในเนเวอร์แลนด์ ไม่ต้องโตเป็นผู้ใหญ่”


แต่เมื่อรู้จักเธอมากเข้าผมรู้สึกว่าเธอเป็นเหมือน โดโรธี ในพ่อมดออซ เธอเข้าไปในโลกเฉพาะที่ผจญภัยในดินแดนดังเทพนิยายเพื่อค้นหาทางกลับบ้าน เธอรู้จักผู้คนที่ขาดหายสิ่งสำคัญบางอย่างในชีวิต เพื่อมอบสิ่งที่ขาดหายให้กับบางคนเหล่านั้นที่เธอเรียกว่าเพื่อน และเธอเลือกที่จะคบหาต่อไปในชีวิต “ข้างนอก” เธอมอบหัวใจให้กับชายตัดไม้ดีบุก มอบสมองให้หุ่นไล่กา และมอบความกล้าหาญให้สิงโต

แต่เธอคงเป็นโดโรธีซนๆ ในแบบของเธอเอง


ภรณ์ทิพย์ มั่นคง


หนังสือที่เธอเขียนชื่อ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” สำนักพิมพ์อ่าน




กรอฟไม่ได้พักอยู่ในประเทศไทย เธอไปตามหาความฝัน ไม่ใช่สิ เธอไปตามหาชีวิตของเธอ


แต่เธอจะมาพบกับนักอ่านในวาระที่ -มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ- พิมพ์ครั้งที่สอง พร้อมกับของที่ระลึกเป็นโปสการ์ดที่ผมเคยถ่ายภาพตัวละครในนิทาน ที่กรอฟเขียนไว้ในหนังสือ


ใครอยากพบอยากเจออยากคุยกับเธอ สามารถทำได้ผ่านออนไลน์ในวันที่ 10 ตุลานี้ที่ ร้านหนังสือ Book Moby, หอศิลป์กรุงเทพ BACC ตามรายละเอียดด้านล่าง



362 views0 comments
bottom of page