top of page

อรุชิตา อุตมะโภคิน

อรุชิตา อุตมะโภคิน

บรรณาธิการข่าว ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS


ประสบการณ์ทางการเมืองบนท้องถนนของแนนเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว อายุ 6 ขวบพ่อจูงเธอไปประท้วงต่อต้านรัฐประหารครั้งที่ 11 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ที่ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวรรณ และพยายามผลักดัน พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี


กลัวไหม ?

โตยังไม่ทันได้รู้สึกกลัว แต่มากลัวหลังเหตุการณ์สักสองสามปี เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน จากวิดีโอที่พ่อซื้อมาเก็บไว้ แนนดูแล้วดูอีกเหมือนหมกมุ่นอยู่กับประสบการณ์ทางการเมืองครั้งแรกของตัวเอง เพราะอยากรู้ว่าแท้จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แนนเรียนรู้เรื่องราวทางการเมืองมากขึ้นจากพ่อซึ่งเป็นคนชุมพร เดินทางมาลงหลักปักฐานที่กรุงเทพฯ เขาสนใจการเมือง ติดตามดูข่าวประชุมสภา อ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า และเป็นคนที่คอยเล่าเรื่องต่างๆ ให้แนนฟัง บรรยากาศในบ้านมีส่วนปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ เธอจึงค่อนข้างกระตือรือร้นสนใจการเมือง โตขึ้นมาหน่อยเธออ่าน a day weekly ทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นนิตยสารการเมืองและเศรษฐกิจก่อนจะปิดตัวลง ช่วงวัยของความอยากรู้อยากเห็นเธอขวนขวายค้นหาอ่านหนังสือเพิ่มเติม เรียกได้ว่าขยันกว่าอ่านตำราเรียน เธออยากรู้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่โรงเรียนให้ไม่ได้ และมักจะเอาไปคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เสมอ ตอนเรียนมัธยมเธอกลายเป็นฮาร์ดคอร์การเมืองในหมู่เพื่อนๆ



ความท้าทายครั้งที่หนึ่ง


สนใจสายสังคมการเมืองและกฎหมาย แนนเลือกสอบเข้ารัฐประสาศนศาตร์ คณะรัฐศาสตร์ โดยเลือกเฉพาะเจาะจงลงไปที่การบริหารงานยุติธรรม (กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ) ขณะเรียนอยู่ปี 4 หลายครั้งขณะที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือกิจกรรมของเอ็นจีโอ ได้ฟังเรื่องเล่าจากนักกิจกรรมรุ่นพี่ๆ และเรียนรู้จากการช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกฟ้องและละเมิดสิทธิ์โดยรัฐ เธอคิดว่าเมื่อใดที่ชาวบ้านได้รู้กฎหมายมากขึ้นก็สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้มากขึ้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่เธอเลือกที่จะใช้ความรู้ของตัวเองช่วยเหลือชาวบ้าน เธอเลือกที่จะฝึกงานที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


นอกจากช่วยชาวบ้าน ในขณะเรียนปีสุดท้าย เธอใช้ความรู้ด้านกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง ปีนั้นบังเอิญมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะเปลี่ยนกฎเกณฑ์การเรียนการสอนระหว่างปีการศึกษา ถ้ากฎใหม่ฉบับนี้ผ่านเธอและเพื่อนอาจเรียนไม่จบในปีการศึกษาที่ตั้งใจไว้ เมื่อคิดดีแล้วแนนเป็นตัวตั้งตัวตีล่าชื่อเพื่อนนักศึกษาเพื่อยื่นอุทธรณ์กับอธิการบดี แต่เรื่องถูกปัดตกไป เพราะกฎเกฌฑ์ฉบับนั้นได้ประกาศใช้แล้ว เธอจึงยื่นฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว และฟ้องมหาวิทยาลัยเพราะออกคำสั่งมิชอบ (เปลี่ยนกฎเกณฑ์กลางปีการศึกษา) แนนเขียนสำนวนเองขณะที่ทำงานที่คณะกรรมการสิทธิ์ฯ ตลกร้ายก็คือวันที่ต้องสู้กันในศาล อาจารย์ที่สอนกฎหมายในวิชาเรียนของเธอก็อยู่ที่นั่นด้วย อย่างไรก็ตามในระหว่างพิจารณาคดีมหาวิทยาลัยขอไกล่เกลี่ยเพื่อถอนฟ้อง โดยจะเลื่อนกฎเกณฑ์การเรียนการสอนฉบับใหม่ออกไปในปีการศึกษาถัดไป เธอและเพื่อนจึงเรียนจบอย่างที่ตั้งใจไว้

ความท้าทายครั้งที่สอง จากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสู่หนทางประชาธิปไตย


หลังจากฝึกงานและได้บรรจุเข้าทำงานในคณะกรรมการสิทธิ์ฯ โดยเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยช่วยดูแลชาวบ้านด้านกฎหมายและลงพื้นที่ที่เรือนจำในกรุงเทพ ได้เห็นกรณีชาวบ้านถูกฟ้องร้องมากขึ้นจากความไม่รู้ด้านกฎหมาย แนนเลือกไปเรียนต่อนิติศาสตร์ภาคบัณฑิตที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อดูแลช่วยเหลือชาวบ้านชายแดนใต้ ที่มีกรณีฟ้องร้องโดยรัฐในคดีความมั่นคง ซ้อมทรมาน


แม้ว่าปัญหามันจะเยอะจนแก้ไม่มีวันหมดและใช้เวลาในชีวิตเนิ่นนาน แนนตั้งเป้าหมายไว้ใกล้ๆ คือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับชาวบ้านไปก่อน ไม่ได้หวังไปไกลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่มันทำให้เธอเรียนรู้ว่ากรรมการสิทธิ์มีอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ปากคำได้ ทำให้รู้สึกว่าการทำหน้าที่ตรงนี้เหมือนเอาไฟไปส่องในที่มืด ให้รู้ว่าสิ่งที่คุณทำอย่างไม่ถูกต้องวันหนึ่งพวกคุณอาจจะโดนเรียกมาให้ข้อมูล มันอาจจะทำให้พวกเขารู้สึกถูกเพ่งเล็งจนต้องระมัดระวังในการที่จะทำอะไรผิดๆ มากขึ้น กลไกตรวจสอบเหล่านี้มันช่วยให้การกระทำผิดมันอาจจะลดน้อยลง

อาจจะเป็นความหวังอยู่ในใจก็ได้ว่าประเทศน่าจะดีขึ้นได้ แม้ว่าตอนทำงานใหม่ๆ จะไม่ได้ฝันไปไกลว่าจะสามารถเปลี่ยนนโยบายในภาพใหญ่ได้แต่ใครจะรู้หากคนตัวเล็กๆ ช่วยกันผลักดันขยับเพดานไปทีละเล็กทีละน้อย หลังรัฐประหารครั้งที่ 12 ปี 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แนนเข้าไปทำงานด้านเอ็นจีโอที่เน้นการพัฒนาด้านประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ มีหลายโปรเจคที่เน้นส่งเสริมประชาธิปไตย ในโรงเรียน ทำงานข้อมูล จัดทำโครงการฐานข้อมูลนักการเมือง และธรรมาภิบาล และต่อมาเธอกลายเป็นนักข่าว


ความท้าทายครั้งที่สาม นักข่าวและบรรณาธิการ


ก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานไทยพีบีเอส ซึ่งรับผิดชอบเป็นฝ่ายข่าวสายสกู็ป และเป็นพิธีกรหลายรายการ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าว แนนเคยเป็นฟรีแลนซ์ให้กับสถานีข่าวแห่งนี้มาก่อน และที่นี่อีกเช่นกันที่แนนเรียกร้องความยุติธรรมต่อเงื่อนไขการทำงานให้กับชาวฟรีแลนซ์ โดยกติกาฟรีแลนซ์ได้รับค่าจ้างเป็นชิ้นงาน แต่ในเงื่อนไขของสำนักข่าวต้องเข้าออฟฟิศด้วย ดังนั้นแม้จะเป็นฟรีแลนซ์ก็ต้องเข้าออกงานเหมือนพนักงานประจำ กติกาถูกกำหนดแบบก้ำกึ่ง พนักงานประจำก็ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ก็ไม่เชิง เพราะไม่ได้รับเงินล่วงเวลา ไม่มีเบี้ยเลี้ยงเมื่อออกนอกพื้นที่ ไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาล ประกันอุบัติเหตุ แต่งานข่าวต่างจากงานทั่วไปที่ต้องกลับไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวหลายครั้ง ต้องลงพื้นที่ยาวนาน งานบางชิ้นจึงไม่จบง่ายๆ ยังไม่นับบางพื้นที่ที่ต้องเสี่ยงอันตราย

แนนร่วมกลุ่มกับชาวฟรีแลนซ์ก่อตั้งแนวร่วมฟรีแลนซ์เพื่อความยุติธรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิบางอย่าง แก้กติกาบางข้อเพื่อให้การทำงานเอื้อต่อการดำรงชีวิต หลังจากเจรจาหลายครั้งกับผู้บริหาร กติกาถูกแก้ไข สิทธิการทำงานบางข้อได้รับการตอบสนอง เงื่อนไขการทำงานดีขึ้น ชีวิตจึงดำเนินต่อไป


ความท้าทายครั้งที่สี่ การรักษาสมดุล


ความท้าทายของการทำงานข่าวในปัจจุบันที่มีความขัดแย้งตลอดเวลา คืออะไร

ความท้าทายของเราคือจะสร้างสมดุลในความเห็นต่างในสังคมได้ไหม มันยากตรงที่เราจำเป็นต้องหาเหตุผลอีกด้านมาถ่วงดุลไว้ตลอดเวลา แม้ว่าอีกด้านจะมีมากก็ต้องหาส่วนน้อยมาเสมอ

โดยเฉพาะตอนนี้เพดานการเสนอข่าวถูกยกขึ้นไป สิ่งที่ไม่เคยรายงานก็ต้องหาวิธีที่จะพูดออกไป จะไม่ให้พูดได้ไหม เราว่าไม่ได้เพราะในฐานะนักข่าวมันคือการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ความคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การวิพากษ์คำพิกพากษาของศาล เรายึดหลักการของเราให้มั่นว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่อะไร แนนว่าความท้าทายมันขึ้นอยู่กับว่ารีพอร์ตแบบไหนไม่เติมเชื้อไฟ หาวิธีการเล่าเรื่องที่เหมาะสมมากกว่า ที่ควรทำคือหาเหตุผลผ่านการถกเถียง ไม่ใช่การปิดกั้นหรือห้ามทำ


คุณเรียนกฎหมาย เคยทำงานด้านสิทธิ์ เคยรณรงค์ประชาธิปไตย เป็นนักข่าวเน้นวาระทางสังคม คุณมองวิกฤตศรัทธาศาลยุติธรรมอย่างไร

ขอตอบในนามส่วนตัวนะคะ คือต้องมองกลับไปว่าที่มาขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่หลากหลายพอ ซึ่งต่างจากศาลอาญาหรือศาลอื่นๆที่มีที่มาจากสเปเชียลลีสต์ องค์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากหลายที่ เช่นอดีตผู้พิพากษา แต่ความหลากหลายนั้นมันไม่มากพอ สำหรับความเชื่อของประชาชน อาจจะต้องแก้ที่ตรงนั้น mind set ของคนที่วิพากษ์วิจาร์คือ ศาลอยู่ในฝั่งที่รักษาไว้ซึ่งแบบแผนที่มีแต่เดิม ขณะที่โลกมันก้าวไปข้างหน้า คือเขามีชีวิต เติบโตมาในโลกวิธีคิดวัฒนธรรมแบบหนึ่ง มีฐานประวัติศาสตร์และความเชื่อแบบหนึ่ง เวลาใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคดีความ มันก็จะอยู่บนฐานคิดแบบเดียวกัน ซึ่งไม่หลากหลายและไม่มากพอที่จะสร้างความเชื่อมั่น และไม่ทันต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน เพราะเอาเข้าจริงเราก็ตอบไม่ได้ว่าเวลาผิดทำไมผิดอยู่ฝั่งเดียว

ซึ่งมันก็เป็นเหตุผลที่ศาลควรรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ได้บ้าง มันจะนำไปสู่การปรับตัว

มันก็น่ากลัวที่องค์กรที่จะให้ความเป็นธรรมกับสังคมแต่ไม่ได้รับการยอมรับ สุดท้ายมันจะไม่มีคนที่เป็นที่พึ่ง พอที่พึ่งไม่มีอย่างที่เราเห็นในต่างประเทศ มันอาจจะเกิดความรุนแรง

ทุกสถาบันควรวิจารณ์ได้ มันต่างกันระหว่างการวิพากษ์วิจาร์ศาลด้วยหลักวิชาการ เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ กับการดูหมิ่นหรือใส่ร้ายป้ายสี เราตัดสินไม่ได้หรอกว่าคำตัดสินมันถูกหรือผิด เพราะเราก็มองต่างมุมกันเสมอระหว่างคนได้ประโยชน์กับคนเสียประโยชน์ แต่มันอยู่ที่ความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมที่เกิดขึ้นมากกว่า



.

วิดีโอสัมภาษณ์และความเรียงชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thailand Talks 2022 “เห็นต่างคุยกันได้” โดยมูลนิธิฟรีดริช เนามัน

เผยแพร่ครั้งแรกบน Website The Active กรกฎาคม 2022 - กันยายน 2022


สัมภาษณ์ ความเรียง และวิดีโอ โดย ศุภชัย เกศการุณกุล

บรรณาธิการ อรุชิตา อุตมะโภคิน (บรรณาธิการข่าว ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS)


อรุชิตา อุตมะโภคิน

วิดีโอ : https://theactive.net/video/politics-20220923-2/


*วิดีโอเวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับเวอร์ชั่นที่เผยแพร่ผ่าน The Active สามารถดูได้จาก Link ที่ระบุไว้ในหมายเหตุของวิดีโอ

www.momoest.com

14 views0 comments
bottom of page