top of page

Sound of the Soul - Exhibition

เมื่อวันก่อนผมถามพะตี่แอ้หลังจากเดินขึ้นเขาไปดูป่าต้นน้ำว่า พรุ่งนี้เช้าพะตี่จอนิจะมาที่สวนไหม แล้วจะมาประมาณกี่โมง เพราะผมอยากไปดักรอถ่ายภาพแกไว้

พะตี่แอ้บอกว่า มันเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ จะมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถึงพรุ่งนี้ก็จะรู้เอง


เช้าก่อนหน้านั้นหนึ่งวันขณะดื่มกาแฟอยู่ที่โฮมสเตย์ ผมเห็นพาตี่จอนิขี่จักรยานไปสวน ผมดูนาฬิกาประมาณ 8 โมงเช้า และตั้งใจว่าเช้าวันใดวันหนึ่งหลังทีมงานกลับไปแล้วผมจะไปดักรอถ่ายรูปพะตี่


7 โมง 30 นาที

ผมไปดักรอพะตี่ที่สวน จินตนาการว่าแกจะขี่จักรยานมาตามทางลาดของถนน แต่แกจะมาไหมไม่รู้

รถเครื่องของชาวบ้านที่ออกไปทำงานในไร่ผ่านไปคันแล้วคันเล่า

รถกระบะจากนอกหมู่บ้านเร่งขึ้นเนินมาที่ผมวางมุมกล้องไว้ก็หวาดเสียวเหมือนกัน

เสียงของหมูที่บ้านปลายเนินดังมาเป็นระยะ เสียงแมลงดังก้องกังวาล

แดดสีเหลืองอ่อนวับๆ แวมๆ อยู่หลังกอไผ่

ผมเดินวนเวียน ลองเปลี่ยนมุมกล้องบ้าง แต่เอากลับมาวางที่เดิม โค้งถนนทอดตัวลงรับกับเนินสวยลงตัวแล้ว

อีกฝั่งของถนน วัยรุ่น 3 คนเดินหยอกล้อกันมา หนึ่งในนั้นถามว่า มาทำอะไรครับ

มารอพาตี่จอนิ แกจะมาไหม ผมตอบและถาม

เดี๋ยวก็มาครับ

ผมก็หวังว่าอย่างนั้น


8 โมง

เสียงเงียบหายไปเป็นบางขณะ แล้วแมลงป่า จั๊กจั่นก็เริ่มร้องระงมอีกครั้ง

แดดที่เนินเขาข้างหลังกอไผ่เริ่มเข้มขึ้นกว่าเมื่อกี้ แต่ยังส่องแสงและเงาลงบนพื้น

โค้งถนนทอดตัวลงรับกับเนินสวยอยู่แล้ว จะขยับอีกหน่อยดีไหม

- อย่าเลย เดี๋ยวพะตี่มา จะตั้งกล้องไม่ทัน

มองไปที่ปลายถนน ยังคงไม่มีวี่แววของจักรยาน

- ถ้าพะตี่ขี่จักรยานมา เราจะรู้ได้ไง มันไม่มีเสียงเหมือนรถเครื่อง

- วันนี้พะตี่จะมาไหม กี่โมงแล้ว เก็บกล้องไหม

- รอต่ออีกหน่อยดีกว่า

8 โมง 20 นาที

อย่างเงียบๆ จักรยานคันหนึ่งวิ่งลงมาตามเนิน พอหมดแรงส่ง พะตี่ลงจากจักรยานแล้วจูงขึ้นเนินต่อมา

- กด record หรือยัง

- กดแล้วแน่นะ

- โค้งถนนทอดตัวลงมารับกับเนิน พอมีจักรยานแล้วสวยขึ้นไหม เปิดเรื่องตรงนี้คนดูจะเห็นไหม


แล้วความกังวลก็แทรกเข้ามา จะมีรถเครื่องมาขัดจังหวะไหม รถกระบะสีขาวคันนั้นจะเร่งเครื่องขึ้นมาเป็นครั้งที่สามไหม

กล้องตั้งนิ่งๆ จนพะตี่จูงจักรยานขึ้นมา พยักหน้าให้ผม


ในนาทีนั้นในใจไม่มีเสียงกังวลใดๆอีก เป็นความเงียบสงบ เป็นความพึงพอใจ

เช้าวันนั้นผมเดินตามผู้เฒ่าเข้าไปในสวน ฟังเรื่องที่แกเล่า



หลังจากกำหนดวันเดินทางลงพื้นที่ได้แล้ว ฟ้า โปรดิวเซอร์ที่รวบรวมพวกเรา 3 กลุ่มให้มาทำงานร่วมกันก็ทยอยอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ หมู่บ้านหนองเต่าของชาวปกาเกอญอ อำเภอแม่วัง ที่เชียงใหม่ให้ฟังอยู่ตลอด ทั้งบทสัมภาษณ์ที่เคยมีคนเคยทำมา บทเพลงจากเครื่องดนตรีที่เรียกว่าเตหน่า ข้อมูลทางมนุษยวิทยาที่คัดสรรมาให้ อีกคนที่สำคัญสำหรับข้อมูลและลงพื้นที่คือ เม hear&found ที่เริ่มโปรเจคบันทึกเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศมาหลายปีก่อนหน้านี้


สมัยเรียนจบมหาวิทยาลัยผมกับเพื่อนเคยทำภาพยนตร์ธีสีสที่หมู่บ้านของชาวปกาเกอญอเหมือนกัน ตอนนั้นไปที่บ้านน้ำพุ อำเภอบ้านไร่ อุทัยธานี เราไปมาอยู่หลายครั้งและหลงรักคนที่นั่น หลังเรียนจบเพื่อนบางคนยังติดต่อกับชาวบ้านอยู่เสมอจนเวลาล่วงไปการติดต่อก็จางหายไป แต่ประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นทำให้ผมสนใจความรู้ และความผูกพันของพวกเขากับธรรมชาติ ต้นไม้ แม่น้ำ ภูเขา จนไปตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิถีชีวิต และนิทานของชาวปกาเกอญอหลายเล่ม ชื่อของจอนิ โอ่โดเชา ที่ฟ้าและเมพูดถึงบ่อยๆ ทำให้ผมต้องกลับไปค้นตู้หนังสือจนพบหนังสือรวบรวมบทธา (บทกวี) ที่นักเขียน/นักวิชาการได้รวบรวมไว้โดยมี จอนิ โอ่โดเชา เป็นผู้ให้ข้อมูล

การเดินทางขึ้นภูเขาหนนี้ในแง่หนึ่งจึงเหมือนการกลับไประลึกความประทับใจ และวัยหนุ่มของตัวเอง


หลังสงกรานต์ผมมีนัดกับฟ้า เม รักษ์ แฮม ต้น ฉิง ที่บ้านหนองเต่า

ทางขึ้นเขาชันและคนเคี้ยว อาการเมารถกำลังจะออกฤทธิ์แม้ว่าจะเป็นคนขับเองก็ตาม แต่โชคดีที่มันยังเป็นตอนเช้าแสงยังนวลตา สีเขียวของต้นไม้ข้างทางพอช่วยให้การขับรถไต่เขายังเป็นความรื่นรมย์

ไม่นานนักทีมจากกรุงเทพก็มาถึง อากาศเริ่มร้อนแล้ว หากเรามาก่อนหน้านี้สักสองสัปดาห์มันคงเป็นช่วงที่อากาศเย็นสบายกว่านี้


เม พาเราไปพบกับพะตี่แอ้ เก่อเส่ทู ดินุ (พะตี่แปลว่าลุง) คนหนุ่มที่สนใจสิ่งแวดล้อม และดนตรี เขาแต่งเพลงและเล่นเครื่องดนตรีโบราณของชาวปกาเกอญอ - เตหน่า เป็นเครื่องสายคล้ายพิณ เขาสอนเด็กๆ ให้รักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลและจัดการขยะ รวมไปถึงการสอนเด็กๆ เล่นดนตรี ขณะเดินตามหลังวันที่เขาพาเดินขึ้นไปบนภูเขาผมก็ได้ยินเสียงฮัมเพลง วันสุดท้ายก่อนกลับบ้านเขาพาผมเที่ยวรอบหมู่บ้าน ขณะขับรถช้าๆ เลี้ยวไปตามซอกซอยของหมู่บ้าน เขาก็จะฮัมเพลงเสมอๆ บางครั้งมันถูกเอามาใส่เนื้อเพลง บางครั้งเป็นเพียงท่วงทำนองที่เกิดขึ้นชั่วขณะนั้น แล้วพอหลุดออกจากลำคอมันก็จางหายไป

พะตี่แอ้ชอบเล่าวิถีชีวิตของชาวปกาเกญอให้ฟัง บางครั้งเป็นนิทาน บางครั้งเป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ของชีวิตประจำวัน เสียงของเขานุ่ม รอยยิ้มสะอาด และดูเหมือนไม่เคยเหน็ดเหนื่อย เขาเดินช้าๆ แต่ไม่เคยหยุด พะตี่แอ้พาเราไปที่บ้าน ดูแปลงผักที่เขาปลูก เป็ดไก่นกกระทาที่เลี้ยงไว้ จากนั้นเราเดินไปโบสถ์แล้วเดินต่อไปที่ใจกลางหมู่บ้านเพื่อไปหาพะตี่จอนิ


ผู้อาวุโสต้อนรับพวกเราที่บ้านที่ยกพื้นสูงตามแบบของชาวปกาเกอญอ เขานั่งรอพวกเราอยู่หน้าเตาไฟ ใบหน้ามีเมตตาเจือไปด้วยรอยยิ้มที่เกือบจะเป็นการหัวเราะทำให้ผมรู้สึกอบอุ่น คุ้นเคย เสียงแมลงป่าที่มาจากต้นไม้ใหญ่รอบๆ ระงมไปทั้งบ้าน แสงนวลตาถูกกรองหลายชั้นจากต้นไม้ จากฝาบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่ ส่วนที่เป็นเตาไฟของห้องครัวที่อยู่กลางบ้านดูสลัวกว่าส่วนอื่นๆ หม้อ กาน้ำ ไม้ฟืน วางอยู่ด้านข้าง ถังน้ำใบใหญ่สามสี่ใบวางเรียงกันอยู่อีกด้านหนึ่ง เสาไม้ไผ่ถูกรมด้วยเขม่าจนเป็นสีดำเนียนตา บนพื้นมีหินวางอยู่สามก้อน


“ปู่” พะตี่จอนิ เรียกตัวเองแบบนั้น เขาเริ่มเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องเหล่านั้นเริ่มต้นจากอะไร เมอาจจะถามขอความรู้บางเรื่องที่ต่อจากการมาคราวที่แล้ว แต่ใจของผมมันไปอยู่ที่อื่น ไม่นานเท่าไหร่ผมก็กลับมาจดจ่อฟังเรื่องของพะตี่ สำเนียงไม่คุ้นฟังค่อนข้างยาก แต่ก็พอจับใจความได้บ้าง ผมเริ่มเก็บข้อมูลด้วยการฟังอย่างตั้งใจ มองหาเรื่องที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้เริ่มทำงานจริงจัง กล้อง เครื่องบันทึกเสียง สมุดบันทึก ยังอยู่ในรถ เรื่องที่ผมสนใจมากคือเรื่องของเตาไฟ การตั้งเตาไฟมีวิธีและธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและการให้ความยกย่องต่อเพศแม่ จนต้องขอให้พะตี่จอนิเล่าอีกครั้งและบันทึกภาพเอาไว้ในวันต่อมา


เราใช้เวลาสามคืนสองวันที่หมู่บ้าน เพื่อที่ เม รักษ์ แฮม ใช้เวลาในการเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ ฟังเรื่องเล่า บันทึกเสียงสิ่งแวดล้อม และเสียงต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

ผมบันทึกภาพ และหาเรื่องที่อยากจะเล่า

ฉิง ต้น duck unit เก็บข้อมูล สังเกตวัสดุ บรรยากาศ สำหรับการออกแบบนิทรรศการในอีกสองเดือน

ฟ้าปล่อยให้เราทำงานอิสระอย่างที่คนทำงานทุกคนต้องการ

ผมรู้สึกว่ามันเป็นการทำงานกับกลุ่มคนที่เหมาะเจาะ คำว่าให้เกียรติกันเหมือนจะดูห่างเหินเกินไป มันคือความไว้ใจ และวางใจได้มากกว่า


สองวันต่อมาพะตี่แอ้พาเราไปพบกับอีกหลากหลายคน ไปดูวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ฟังเรื่องเล่าที่ผูกพันกับชีวิตและธรรมชาติ คำสอนที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

วันที่เหน็ดเหนื่อยที่สุดเห็นจะเป็นวันที่พะตี่แอ้ชวนขึ้นเขาไปดูแหล่งน้ำ ไปดูต้นไม้ และการบวชป่า

รถของผมเกือบจะไต่เขาขึ้นไปไม่ถึง จากนั้นเราต้องเดินขึ้นไปอีกราวยี่สิบนาที

ต้นไม้เขียวชอุ่ม แสงแดดที่ส่องทะลุกิ่งก้านใบไม้ลงมามาบนผืนดิน ความชื่นอันสดชื่น เสียงแมลงป่าก้องกังวาล

เสียงน้ำไหลแผ่วเบาแล้วดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดินไปใกล้แหล่งน้ำ

สิ่งเหล่านี้แลกมาด้วยด้วยลมหายใจหอบเหนื่อย เหงื่อที่ไหลตลอดเวลา ความอ่อนเพลีย

และการก้าวย่างที่เริ่มสั่นเมื่อเดินลงมาจากเขา

เมื่อความเหนื่อยล้าหายไป ความรู้สึกที่หลงเหลือคือความอิ่ม สงบ สบาย

แม้ว่าพะตี่จอนิจะคุ้นเคยกับเม และรักษ์มาก่อน แต่เมื่อใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น พะตี่แอ้เริ่มคุ้นเคยกับพวกเราที่เหลือมากขึ้น

หลังพักเหนื่อย แดดร่มลมตก เมเริ่มสัมภาษณ์พะตี่แอ้อีกรอบ มีชั่วขณะหนึ่งที่พะตี่แอ้ระบายความอัดอั้นของความเข้าใจผิด อคติของคนภายนอกที่มีต่อคนปกาเกอญอและชาติพันธ์ุอื่นให้เราได้ฟัง ผมคิดว่านี่แหละคือเนื้อหาใจความสำคัญของการเดินทางคราวนี้ ที่เขายอมบอกเล่าความทุกข์ที่มันสั่งสมมานานให้เรารับรู้ เป็นสิ่งที่พวกเขาควรโกรธ และเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องตั้งใจฟัง


วันต่อมาเรากลับไปหาพะตี่จอนิอีกรอบ อยากให้พะตี่ช่วยเล่าปรัชญาเตาไฟเมื่อวันก่อนให้ฟังอีกครั้ง

อยากให้พะตี่ช่วยเขียนบททาให้เราเอาไปแสดงงานนิทรรศการ

อยากให้พะตี่จอนิกับหมื่อกาอีมู (ภรรยา) ร้องบททาให้ฟัง

พะตี่ตอบรับทุกคำขอด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำน่าฟัง เจือด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และแถมด้วยเรื่องตลกเสมอๆ

ก่อนลากลับพะตี่ชงกาแฟแบบคนขี้คร้านให้กิน (เอาน้ำร้อนแช่กาแฟ / ต้นกาแฟที่ปลูกไว้เอง และเมล็ดกาแฟของฤดูกาลนี้ถูกจับจองไปหมดแล้วโดยพ่อค้ากาแฟชาวญี่ปุ่น)

วันรุ่งขึ้นทีมงานเดินทางกลับ แต่ผมยังอยู่ต่ออีกสองวัน และการทำงานครึ่งหลังจะเริ่มอีกครั้ง


ผมมีเวลาอยู่คนเดียว พิจารณาสิ่งที่มีอยู่ในมือสองวันที่ผ่านมา และขาดเหลืออะไรบ้างที่จะต้องทำเพิ่มเติม

ตามนิสัยช่างภาพและคนทำสารคดี เราต้องมองหาสาระสำคัญที่จะใส่ไว้ในงานตลอดเวลา มีรายการคำถามที่อยากสัมภาษณ์ มีบางสิ่งที่อยากบันทึก มีบางมุมกล้องที่อยากใช้


เพียงแต่ผมไม่อยากทำงานแบบที่เคยชินที่นี่ ผู้คน สถานที่ และบรรยากาศทำให้ผมรู้สึกว่าการถามคำถามเป็นส่วนเกิน


ผมลังเลอยู่เหมือนกันว่าจะใช้วิธีที่ต่างออกไป เพราะเกรงว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้งานอย่างที่คาดหวังและการกลับมาอีกครั้งเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อชั่งใจแล้วผมบอกตัวเองว่ามันคงจะเป็นวิธีที่ดี


เวลาที่เหลือกับพะตี่แอ้ และพะตี่จอนิ ไม่มีคำถามจากผม ผมไม่มองหาอะไร ผมเพียงใช้เวลากับพวกเขา ฟังเรื่องที่ทั้งสองเล่าให้ฟัง บันทึกในสิ่งที่พะตี่ชี้ให้ดู หัวเราะไปกับเรื่องราวของเขา ดมกลิ่นกวาง กลิ่นเสือ จากใบไม้ เคี้ยวใบไม้ ดื่มน้ำจากต้นหวาย


เรื่องเล่าของการมีชีวิตผูกพันกับตันไม้ตั้งแต่เกิดจนตาย การฝากสายสะดือไว้กับต้นไม้บางต้น ใบไม้จากต้นไม้บางต้นสำหรับใช้ห่ออาหารให้คนตาย ดอกไม้บางดอกบอกวันเวลาของชีวิต และการเริ่มทำไร่หมุนเวียน การมองโลกของชาวปกาเกอญอ ความผูกพันกับธรรมชาติรอบตัว สวรรค์ นรก และโลกมนุษย์


เรื่องเล่าก็เป็นเหมือนสายน้ำ เป็นความต่อเนื่องที่วกแวะลดเลี้ยวไปตามโตรกหิน เรื่องทุกเรื่องเกี่ยวพันกัน ต่อเนื่องไหลเวียนจากเรื่องหนึ่งไปเรื่องหนึ่ง คำถามคือการขัดจังหวะสกัดกั้นสายน้ำที่ไหลคดเคี้ยวบิดเป็นเกลียว คำถามคือความใจร้อนไม่รอติดตามกระแสน้ำที่ไหลไป สิ่งสำคัญคือเวลา จังหวะที่ไหลลื่นบางครั้งเร็ว บางครั้งหมุนวน และนั่นคือสิ่งเดียวกัน


ผมเชื่อว่าถ้ามีเวลาสามวัน ห้าวัน เจ็ดวัน เดินตามพะตี่เข้าไปในป่า ในสวน ในไร่ ในนา ในบ้าน ในครัว มองท้องฟ้า มองดาว มองพระจันทร์ พะตี่จะมีเรื่องเล่าให้ฟังเสมอ เพราะชาวปกาเกอญออยู่ร่วมกับป่า ธรรมชาติ อย่างแนบแน่น พวกเขาฟังเสียงของลม ฝน ต้นไม้ แม่น้ำ ผูกพันเป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่บรรพบุรุษและพยายามสืบสานความรู้เหล่านี้ต่อไป

พะตี่จอนิมีอารมณ์ขันซึ่งคงจะเป็นการมองโลกอย่างเข้าอกเข้าใจ ผ่านวันเวลาอันยากลำบากมามากเพียงพอที่จะไม่แบกมันไว้บนบ่า มีเมตตามากพอที่จะบอกเล่าประสบการณ์ให้กับคนที่มาทีหลัง หน้าที่ของผมคือซึมซับเรื่องที่พะตี่เล่า จากนั้นคัดสรรและเรียบเรียงมันออกมา ทำอย่างไรให้คงไว้ซึ่งเรื่องเล่า ประสบการณ์ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความเศร้า อุปสรรค ความทุกข์ และอคติที่มีอยู่เสมอต่อชาติพันธุ์ที่ไม่คุ้นเคย


เช้าวันนั้นผมเดินตามผู้เฒ่า ฟังเรื่องที่แกเล่า

ในขณะหนึ่งคำถามผุดขึ้นมาในใจพร้อมๆกับภาพป่าต้นน้ำเมื่อวันก่อน นึกถึงหนังเรื่องเมทริกซ์ในขณะที่ชีวิตมนุษย์กำลังถูกชักจูงให้ก้าวสู่โลกเสมือน จักรวาลสมมติ เราถูกเสียบปลั๊กที่ท้ายทอยเพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานที่เกิดจากภาพลวง อาจจะเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่ใครเล่าจะบอกได้ว่าชีวิตจะไม่เป็นแบบนั้น ชีวิตที่ตกเป็นทาสของบางสิ่ง

ฟังเรื่องเล่าของพาตี่จอนิ ฟังเสียงแมลง รู้สึกถึงความร้อนและความชื้น หายใจลึกๆ

พาตี่ทั้งสองคนพาเราเดินออกจากความลวงชั่วขณะ ช่วงเวลาเช้านั้นทำให้ตระหนักอีกครั้งว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต

หากไม่ใช่ น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ชีวิตที่เป็นอิสระ



ขอบคุณ

พะตี่จอนิ หมื่อกาอิมู พะตี่แอ้ จะแฮ พาเคยื่อ เงชิ พอเลจา แป๋โพ ปาริน จ๊อแอ๊ ปุ๊ปุ๊ ฉ่าหมื่อนิว ซะเก่อเลอ เบาะโซ่โอ๋โพ มีนา บิลุ เมนู ทูบือ เมโซ และชาวบ้านหนองเต่า

ขอบคุณ

ฟ้า และ BACC

เม รักษ์ แฮม Hear & Found

ฉิง ต้น Duck Unit

โมโม่


"ความหลากหลาย" ที่ว่านี้ หลายๆ ครั้งถูกมองเป็น "ความแตกต่าง" ที่พ่วงด้วยสารพัดคำถาม ไม่ว่าจะเป็น เขาเป็นใคร มาจากไหน อาศัยอยู่ที่ไหน และหลายๆ ครั้งก็มาพร้อมความรู้สึก "ห่างไกล" ไม่คุ้นชิน ไม่วางใจ เกิดเป็นเส้นแบ่งระหว่าง "เขา" กับ "เรา"

.

BACC ร่วมกับกลุ่มศิลปิน Hear&Found ศุภชัย เกศการุณกุล และ DuckUnit นำเสนอนิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul ที่ว่าด้วยสำเนียง เสียง และเรื่องราวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่ไม่ค่อยถูกได้ยิน นอกจากนิทรรศการที่น่าสนใจแล้วยังมีกิจกรรมเสวนาเรื่อง "เสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์" และกิจกรรมฉายภาพยนตร์พร้อมเสวนา “Mlabri in the Woods” ที่จะถูกจัดขึ้นภายใต้นิทรรศการในครั้งนี้

.

นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul

จัดแสดงวันที่ 19 - 31 กรกฎาคม 2565

ณ ห้องสตูดิโอชั้น 4

หอศิลป์กรุงเทพฯ



219 views0 comments
bottom of page