top of page

ฮาเมอร์ ซาลวาลา

ช่างภาพ รูปร่างสูง ผมฟูหยิก ตาโศก มีหนวดเครา ลูกครึ่ง อาหรับ-อัฟกัน-ไทย เป็นครูของผม เขาอาจจะไม่รู้หรือไม่รับรู้ แต่อย่างน้อยผมก็นับถือพี่ฮาเมอร์แบบนั้น


ฮาเมอร์ ซาลวาลาเป็นเสรีชน เป็นศิลปิน เขาเสนอความคิด ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเครื่องมือทางศิลปะหลายแขนง ทั้งภาพยนตร์ ภาพถ่าย และดนตรี ส่วนใหญ่จะยึกโยงอยู่กับคอนเซปต์ของเสรีภาพ การดำเนินชีวิตของเสรีชนแยกไม่ออกกับสังคมและการเมือง เราจะเห็นเขาแสดงผลงานของเขาในพื้นที่เล็กๆและบนเวทีการเมืองเป็นวาระ


ผมถ่ายรูปพี่เมอร์ไม่กี่ครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมากระนั้นภาพถ่ายพอร์ทเทรทของฮาเมอร์ ซาลวาลาในแฟ้มเก็บฟีล์มของผมมีไม่กี่เฟรม และบางเฟรมนั้นยังไม่เป็นที่พอใจของผม แม้ว่าจะรู้จักชื่อเสียงของศิลปินช่างภาพรุ่นพี่คนนี้มาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบผมไปช่วยพี่เมอร์ทำหนังสั้น เรื่อยมาจนผมทำงานเป็นช่างภาพได้ถ่ายภาพงานสัมภาษณ์พี่เมอร์ลงนิตยสาร OPEN และเราติดต่อกันบ้างเมื่อพี่เมอร์อยู่ลอนดอน ผมอยู่ปารีส แต่โอกาสที่ได้พบกันและถ่ายภาพที่นั้นไม่มี



“ภาพพอร์ทเทรทที่ดีเป็นยังไงครับพี่” เป็นคำถามที่ผมถามช่างภาพรุ่นพี่เมื่อหลายปีก่อน


“ไม่รู้เหมือนกัน แต่พี่เมอร์ว่าอันดับแรกตัวแบบต้องดูดี” จำได้ว่าพี่เมอร์ตอบแบบนั้น และเป็นเหตุผลเดียวที่เขาบอก


ก่อนประสบการณ์ในการทำงานจะถูกเล่าผ่านในหลายวาระโอกาสผ่านกาแฟ ควันบุหรี่ และเบียร์

ยุคหนึ่งเขาเป็นช่างภาพผู้มั่นใจในฝีมือของตัวเอง (เขาควรจะมั่นใจแบบนั้น) ในการถ่ายสัมภาษณ์คราวหนึ่งเขาบันทึกภาพตัวแบบเพียงเฟรมเดียว - ช่างภาพคนไหนคิดจะทำอย่างนั้นบ้าง ?


อึดใจต่อมาเขายอมรับว่ามันเป็นความมั่นใจเกินไป มั่นใจจนผิดพลาด เมื่อล้างฟิล์มออกมาและส่องฟิล์มด้วยเลนส์ขยายบน light Box แล้วพบว่าทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบตามที่เขาต้องการ ยกเว้นแมลงวันตัวหนึ่งที่เกาะอยู่บนตัวแบบ....


“บางทีเราก็ไม่ควรมั่นใจเกินไปแบบนั้น”


ล่าสุดผมนัดพี่เมอร์ถ่ายภาพที่อพาทเมนท์ย่านผ่านฟ้าที่เขาพักและทำงานอยู่หลายปีที่ชั้นบนสุดเป็นสตูดิโอเล็กๆมีเตียงวางอยู่ริมระเบียง โต๊ะทำงานเต็มไปด้วยเครื่องมือถ่ายภาพ ขาตั้งกล้องกางอยู่บนพื้น กีตาร์และแอมป์วางอยู่ข้างๆ เขากำลังทำงานที่คั่งค้างอยู่ กล้องดิจิตอล 2 ตัว nikon ไว้ถ่ายภาพนิ่ง canon ไว้ถ่ายวีดีโอ เขาทำงาน 2 อย่าง ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว แต่ไม่ทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน


"มันเป็นการทำงานที่คิดกันคนละแบบ เครื่องมือที่เหมาะสมก็คนละแบบ canon พี่เมอร์ไว้ถ่ายวีดีโอ nikon ไว้ถ่ายภาพนิ่ง" ผมเคยได้ยินมาเหมือนกันว่า หากปล่อยช่างภาพวีดีโอกับช่างภาพนิ่งไปในสถานการณ์

หนึ่งพร้อมกัน แม้ว่าภาพเคลื่อนไหวจะถ่ายมาอย่างครอบคลุม แต่เราจะไม่พบภาพที่ซ้ำกันระหว่างภาพเคลื่อนไหว และภาพนิ่ง เปรียบระหว่างนักแม่นปืนกับนักยิงปืนกล เป็นมือปืนเหมือนกันแต่คนละประเภท


"มันเป็นการมองกันคนละแบบ"


โคมไฟที่โต๊ะข้างเตียงเป็นโคมเก่าแสงนวลเมื่อส่องไปกระทบกำแพง ระเบียงมองออกไปเห็นถนนสองเลนจากป้อมมหากาฬไปบางลำภู เย็นวันนั้นอากาศดีในฤดูฝน ผมอยากถ่ายภาพพี่ฮาเมอร์ยามเย็น-ค่ำ ตั้งใจว่าแสงสลัวจากบรรยากาศจริงจะทำให้เกิดหลืบเงา สั่นไหว ไม่ชัดจะปล่อยให้เป็นไปตามนั้น ระหว่างนั่งคุยกันและถ่ายภาพแบบสแนปไปด้วย ผมขอให้พี่เมอร์เล่นกีตาร์ให้ฟัง เขาหยิบกีตาร์สีดำที่อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี ที่คอกีตาร์เขียนชื่อ Harmer S ด้วย หมึกดำ เสียงกีตาร์ และเสียงฮัมลอยอยู่ในบรรยากาศ


"วันหนึ่งอยู่ๆพี่เมอร์ก็ตั้งใจว่าอยากจะเป็นคนเกเร โดยไม่มีเหตุผลหรือที่มาที่ไป ใช้เวลากับเพื่อนในวงเหล้า ไม่เข้าเรียน ไปสอบเอ็นทร้านซ์เหมือนกัน แต่ไม่ไปดูผลสอบ รู้แล้วว่าไม่ได้" เป็นวัยเด็กย้อนกลับไปหลังสุดที่เราได้คุยกัน ถ้าไม่นับความผูกพันธ์ระหว่างเขากับแม่ในเฟสบุ๊คที่เขามักระลึกถึงเสมอ


"วันหนึ่งอีกเหมือนกันมีความคิดผุดขึ้นมาว่า ในชีวิตเราต้องเป็นอะไรบางอย่างจะอยู่ลอยๆแบบนี้ไม่ได้ เมื่อรู้แน่ว่าเขาต้องการอะไร พี่เมอร์จึงขอแม่ซื้อกล้องถ่ายภาพซึ่งยังมีราคาแพงแต่แม่ไม่ให้เพราะสมัยนั้นการถ่ายภาพเป็นเหมือนอาชีพเต้นกินรำกิน เราศึกษาเรื่องภาพถ่ายไปเรื่อยๆผ่านการอ่านหนังสือ เพื่อนๆก็มีกล้องเหมือนกัน แต่เราไม่แตะเลยไม่ขอใช้กล้องของคนอื่น"


ผมชอบน้ำเสียงทุ้มๆ บางคราวมีเสียงที่ขึ้นสูงบ้างเมื่อแสดงอารมณ์ขี้เล่น แววตาซึมๆ บางครั้งเปล่งประกายพร้อมรอยยิ้ม ขณะนั่งฟังเรื่องเล่าของช่างภาพรุ่นพี่ที่นั่งอยู่ตรงหน้าผมเวลานี้คือส่ิงที่เรียกว่า “เสียงในใจ” ที่บอกให้เราทำอะไรต่างๆโดยไม่มีเหตุผลหรือเปล่า ผมคิดว่าถ้าสิ่งนี้มันไม่ใช่คงไม่มีอะไรอย่างอื่นอีกแล้ว และเสียงเหล่านี้ผุดขึ้นและขับดันให้ฮาเมอร์ทำสิ่งต่างๆอยู่เสมอ โดยที่เขาไม่ได้ขัดขืน


หนึ่งปีต่อมาในที่สุดเมื่อเห็นว่าฮาเมอร์เอาจริงเอาจังกับการถ่ายภาพ แม่จึงซื้อกล้องให้โดยมีข้อแม้ว่าห้ามถ่ายรูปโป๊ แต่รูปนู้ดของหญิงสาวที่ติดอยู่บนผนังห้องของผมถ่ายภาพโดยฮาเมอร์ทำให้ผมไม่อาจถอนสายตา มันมีทั้งความงามทางสรีระ และอารมณ์รัญจวน โหยหา ตัวแบบสง่างามแบบลึกลับ ผ่านแสงซึมๆเทาๆที่ทำให้เห็นสรีระ และเงาที่ซ่อนบางส่วนเอาไว้


“เธอเป็นศิลปินที่เป็นแบบนู้ดด้วย” ช่างภาพเล่าถึงตัวแบบที่ถ่ายที่ลอนดอนในอพาทเมนท์ของหล่อน

ได้กล้องมาวันแรกเหมือนทำอะไรไม่ถูก นั่งมองมันนั่งนิ่งอยู่บนเตียง ร้องไห้ - มันเป็นความรู้สึกผสมกัน ระหว่างความตื้นตัน และเพราะไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างที่ตั้งใจใฝ่ฝันไว้ไหม มันเป็นเหมือนคำมั่นที่มีให้กับตัวเอง แต่ยังไม่แน่ใจว่าเราจะยึดมั่นกับเสียงภายในได้แค่ไหน หลังจากมีกล้องเขาหมกมุ่น และจริงจังอยู่กับมัน ห่างหายจากลุ่มเพื่อนและวงสุรา จากวันนั้นมาฮาเมอร์ ซาลวาลา เริ่มทำงานเป็นช่างภาพอาชีพ


เขาทำงานถ่ายภาพงานโฆษณา และเบื้องหลังภาพยนตร์หลายเรื่อง ตั้งแต่ ช่างมันฉันไม่แคร์ โปรดทราบคิดถึงมาก ซีอุย จากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง ประมาณ10เรื่อง เขาพก Rolleiflex ที่บอกว่ามีบุคคลิกอันเป็นเฉพาะและเขาชอบมาก เมื่อต้องถ่ายภาพสีเพื่อทำใบปิดหนัง เป็นงานที่ต้องละเอียดละเมียดละไม และใช้ Nikon F3 บรรจุฟิล์มขาวดำ เมื่อต้องบันทึกภาพการทำงาน และเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์


ในบางเรื่องเขาต้องทำงานในขณะที่ภาพยนตร์ถ่ายทำแบบบันทึกเสียงสด เสียงชัตเตอร์ที่เข้ามาระหว่างการถ่ายทำอาจจะทำให้เขาถูกไล่ออกจากทีมงาน พี่เมอร์จึงยืนอยู่ในมุมปลอดภัยเล็งกล้องไปที่เหตุการณ์เบื้องหน้า และเตรียมพร้อมเสมอ เหมือนเสือกำลังเข้าจู่โจมเหยื่อ ในนาทีแห่งการรอคอยทุกอย่างหยุดนิ่งแต่ประสาทสัมผัสทุกอย่างตื่นตัวเหมือนกับที่อองรี การ์ติเยร์ เบรสซง บอกว่าการถ่ายภาพเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงกันของร่างกายและประสาทสัมผัส


เขากดชัตเตอร์ในวินาทีที่ผู้กำกับสั่งคัท เพื่อไม่ให้เสียงชัตเตอร์เล็ดลอดออกไปเป็นเสียงแปลกปลอมในแถบบันทึกเสียง และได้ภาพใกล้เคียงกับที่บันทึกได้ในกล้องถ่ายภาพยนตร์ ช่างภาพหนุ่มทุ่มเทแม้ว่าจะไม่เต็มใจนักเมื่อต้องลงไปลอยคอในทะเลใต้ถุนบ้านที่มีอึลอยไปมากับท่านมุ้ย และดาราหลายคน ขณะเป็นช่างภาพในกองถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Powder Road


พี่เมอร์บอกว่าในกองถ่ายภาพยนตร์นี่แหละที่เขาต้องให้ความสำคัญกับระยะห่าง เขาต้องการเข้าไปใกล้ที่สุดแต่มันมี “ระยะที่เข้าไปไม่ได้” เพราะเฟรมภาพของกล้องภาพยนตร์เป็นเส้นแบ่งอยู่ เขาก็พยายามขยับเข้าไปถึงเส้นในจินตนาการ แต่เราจะรู้ว่าใกล้ท่ีสุดก็ต่อเมื่อเราขยับเลยไปแล้วจากนั้นค่อยถอยกลับมาก้าวหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงระยะที่ว่านี้เป็นระยะที่มีอยู่เสมอไม่ว่าเราจะถ่ายอะไร


ในการถ่ายภาพพอร์ทเทรทช่างภาพต้องต่อรองกับระยะที่เข้าไปไม่ได้อยู่เสมอ มันเป็นเหมือนเส้นรัศมีอันเป็นธรรมชาติของตัวแบบที่กันช่างภาพออกมานอกระยะปลอดภัย มันเป็นหน้าที่ของช่างภาพที่ต้องร่นระยะทางจิตวิทยาเพื่อให้เข้าใกล้แบบที่สุด แต่การถ่ายภาพในระยะใกล้ก็ไม่ได้หมายความว่าระยะนั้นได้หายไปแล้ว ในทางกลับกันการถ่ายภาพที่เป็นภาพกว้างก็ไม่ได้หมายความว่าช่างภาพไร้ความสามารถที่จะเข้าใกล้ตัวแบบ อย่างไรก็ตามความอึดอัด ความไม่เป็นธรรมชาติของตัวแบบเป็นสัญญาณที่ช่างภาพอาจจะต้องก้าวถอยออกมาเพื่อคงระยะที่เข้าไปไม่ได้นั้นเอาไว้



ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีแล้ว เขาเป็นนักทำหนังสั้นยุคบุกเบิกเรียนรู้จากการเปิดหนังสืออ่าน อยากรู้อะไรก็หามาอ่าน เพราะเขารู้ว่าเขาต้องการอะไร การเข้าไปเรียนในห้องเรียนเพื่อฟังคำอธิบายที่อ้อมค้อมและครอบคลุมสรรพวิชามันช้าเกินไป เขาอยากรู้เร็วกว่านั้น และมากกว่านั้น หากสืบสาวลงไปความสนใจในภาพยนตร์เริ่มขึ้นในวัยเด็ก


“แต่พี่เมอร์ทำงานช่างภาพนิ่ง เพื่อที่พี่จะเข้าไปใกล้ภาพยนตร์”


"พ่อชอบถ่ายรูป สมัยเด็กพ่อฉายหนังให้ดูที่บ้าน" โดยไม่ได้สนใจภาพที่ฉายผ่านแสงที่เล่าเรื่องอยู่บนกำแพง แต่สนใจว่าเครื่องฉายกับฟีล์มมันฉายภาพออกมาได้ยังไง มันฝังความสงสัยอยู่ในหัวของเด็กชายฮาเมอร์มาตลอด แต่เป็นภาพถ่ายที่เขาเริ่มทำความรู้จักกับการเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งเป็นก้าวแรกที่จะพาเขาเข้าไปใกล้ภาพยนตร์


"การทำหนังต้องเล่าด้วยภาษาภาพ ฉันจะเป็นผู้กำกับ และจะถ่ายภาพเอง เล่าเรื่องด้วยภาษาของฉัน" พี่เมอร์มีความตั้งใจแบบนั้น และผมคิดว่าพี่เมอร์มีภาษาภาพของตัวเองในการเล่าเรื่อง ดูแล้วรู้ว่าภาพถ่ายภาพนั้นๆถ้าไม่ใช่ฮาเมอร์คงไม่มีใครทำภาพเล่าเรื่องแบบนี้ มันค่อนข้างยากที่จะอธิบายให้เห็นภาพ ในงานภาพขอพี่งฮาเมอร์จะบรรยากาศเหนือจริง ค่อนข้างเบลอ ส่วนใหญ่อยู่ในที่แสงน้อย และสั่นไหว บางคราวคลุมเครือจากสัญลักษณ์ที่พรางความคิดเอาไว้ หากเป็นภาพยนตร์สั้นจะเพิ่มเติมเสียงดนตรีจากกีตาร์ และเสียงร้อง และเสียงพูดของเขาเข้าไปด้วย เสียงกรีดร้องของกีตาร์บางครั้งดุดัน บางครั้งโหยหา อ้อยสร้อย เว้งว้าง เสียงพูด คำร้องทุ้มต่ำแทบแยกแยะไม่ได้ว่าพูดอะไร แต่คนดูรับรู้และหลุดเข้าไปในบรรยากาศนั้นโดยรู้ตัว


ในระหว่างที่ถ่ายภาพนิ่งพี่เมอร์เริ่มเรียนรู้ และถ่ายหนังสั้นของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อพบเปิ้ล-สายพิณเพื่อนรุ่นน้องวารสาร ธรรมศาสตร์ที่พบกันในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องซีอุยของอาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ พี่เปิ้ลแนะนำให้พี่เมอร์ไปสมัครอบรมภาพยนตร์ทดลองที่สถาบันเกอเธ่ โดยมี Christrophe Yannesco เป็นผู้อบรม


“คนทำหนังสั้นมีลักษณะเฉพาะ พวกเขาแสดงให้เห็นว่าสามารถทำหนังยาวได้ แต่เขาไม่มีทุนพอที่จำทำหนัง 35 mm. และด้วยเหตุผลเดียวกันคือไม่สามารถทำหนังยาวๆได้ จึงเลือกฟีล์ม 16 ซึ่งมันตอบเรื่องการลงทุนที่ต่ำว่า และโดยทำหนังที่มีความยาวไม่มากนักแต่มี ประเด็นที่ต่างออกไป และพูดเรื่องที่เมนสตรีมไม่พูด หนังสั้นมันเกิดมาแบบนี้”


เขาทำหนังหลายเรื่องที่สะท้อนทั้งความคิดเรื่องเพศ เสรีภาพและทัศนะทางการเมือง หนังสั้นต่างๆเหล่านี้อาจหาดูได้ที่หอภาพยนตร์ และงานแสดงเล็กๆที่พี่ฮาเมอร์มักจะจัดขึ้นตามวาระต่างๆ และอาจจะเป็นด้วยแนวความคิดแบบนี้ก็ได้ท่ีทำให้เขาไม่ค่อยได้รับความสนใจในวงกว้างเท่าที่ควรจะเป็น หากเป็นผลงานทางเลือกของศิลปินคนหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง


หลังจบมหาวิทยาลัย และมีงานประจำทำเมื่อได้ข่าวว่าพี่เมอร์ต้องการทีมงานทำหนังสั้น ผมตัดสินใจไปช่วยพี่เมอร์หลังเสร็จงาน มันเป็นห้วงเวลาการทำงานที่สนุกสนาน ผมเรียนรู้เรื่องเทคนิคการจัดแสง การโหลดฟีล์มในถุงมืด การทำงานสอนผมหลายเรื่องกระทั่งเรื่องเล็กน้อยเช่นช่างภาพไม่ควรยกของหนัก พี่เมอร์กระซิบบอกเมื่อผมช่วยเพื่อนๆยกของเพื่อจัดฉาก ที่บอกไม่ใช่เพราะว่าเราไม่มีน้ำใจช่วยเพื่อน แต่เพราะมันจะทำให้มือสั่น และช่างภาพมือสั่นไม่ได้


หนังสั้นเรื่องนี้ผมไม่รู้เนื่อเรื่องที่ชัดเจนนัก และมันก็เป็นเจตนาของผู้กำกับที่จะเขียนบทเพียงคร่าวๆ และพัฒนางานต่อไปขณะที่ทำงาน บางครั้งกองถ่ายเป็นเหตุการณ์ที่เรากำลังถ่ายกันอยู่ ทำให้ผู้กำกับต้องทำงานตลอดเวลา สนใจในรายละเอียด การ improvise ต้องมาจากพื้นฐานที่แม่นยำ และที่สำคัญรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ส่วนใหญ่เราทำงานตั้งแต่เย็นถึงดึกดื่นค่ำคืน มีระเบียบวินัย เราไม่ดื่มหลังงานเสร็จในแต่ละวัน จนกว่าจะปิดกล้อง และ เราสามารถทำได้ดี งานอาจไม่สำเร็จตามที่วางแผนไว้ เพราะเป็นเรื่องเงินทุน แต่บางครั้งสำหรับการทำงาน ห้วงเวลา ในการทำงานเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เรียนรู้ผู้ร่วมงาน ผมคิดว่านั่นเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง และมันจะติดตัวเราไปตลอดชีวิต


ผมชอบการทำงานแบบนี้เหมือนกันเพราะมันทำให้เกิดสิ่งใหม่เฉพาะหน้า และเราตื่นตัวกับการทำงานตลอดเวลา ในการถ่ายพอทเทรตแต่ละครั้งผมจะเตรียมตัวไปว่าจะถ่ายอย่างไร มุมแบบไหน ผ่านการทำการบ้านจากผลงานของตัวแบบ เช่นอ่านหนังสือ-บทความ ฟังเพลง ดูหนัง แต่การเตรียมตัวไปนั้นเป็นการทำงานในจินตนาการ ถึงจะละเอียดลอออย่างไรมันก็เป็นการทำงานเพียงครึ่งเดียว เพราะการทำงานจริงนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง สถานที่จริงเป็นแบบไหน บุคคลิกของตัวแบบเหมือนกับที่เราคิดไว้ไหม สภาวะทางอารมณ์ของเราและตัวแบบเป็นอย่างไรยิ่งไม่อาจคิดคำนวณ การถ่ายภาพจึงเป็นอีกครึ่งหนึ่งที่เราต้องไปเผชิญหน้า การด้นสดจึงเป็นส่วนสำคัญของการทำงาน


พี่เมอร์ชอบความเป็น Professional เวลาที่เราไม่รู้และฝึกฝนตัวเองในการทำงาน อย่างเคร่งครัด เพื่อความแม่นยำ ในสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่เมื่อพี่เมอร์ไปถึงด้านความชำนาญนั้นแล้วพี่ก็ทิ้งมันเพราะพี่ไม่อยากทำอะไรซ้ำๆ เพราะการเป็น Professional หมายถึงการทำในสิ่งที่ถนัดซ้ำๆเพื่อผลที่คาดหวังได้แน่นอน พอเป็น Professional ได้แล้วพี่กลับอยากเป็น Amateur มากกว่า เพราะการทำงานแบบมือสมัครเล่นมันไม่มีกรอบมาตีให้เราอยู่ในขอบเขตของ ความขำนาญในการทำซ้ำ เราได้เปิดกว้างในความคิดที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับความคุ้นเคยเดิมๆ นักทดลองไม่เคยทำอะไรซ้ำๆ ทดลองทั้งเทคนิควิธีและเนื้อหา


ผมคิดว่างานของพี่ฮาเมอร์เป็นเชิงทดลอง ชีวิตของเขาก็เช่นกัน ผมเข้าใจในสิ่งที่เขาบอกว่าเมื่อทำได้แล้ว คล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว เขาไม่รู้ว่าจะทำต่อไปทำไม เปรียบเหมือนการเดินไปที่จุดหมายเดิมด้วยเส้นทาง และย่างก้าวเดิมๆ ซึ่งไม่เป็นการทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ท้าทายความคิดและความสามารถก็ไม่รู้จะทำไปทำไม จริงอยู่ว่าการเดินไปบนเส้นทางคุ้นเคยนั้นจะการันตีความสำเร็จ เพียงแต่ว่าในใจของฮาเมอร์วิธีนี้ไม่ได้เกิดดอกผลอะไร เขาจึงค้นหาหนทางใหม่ๆเสมอ ดูเหมือนชีวิตเขาจะยังไม่ประสบความสำเร็จ (แต่ใครเล่าจะประสบความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจได้ เมื่อเลือกเส้นทางที่ไม่ใช่กระแสหลัก) เขายืนยันในสิ่งที่เขาเลือก 20ปีที่ผ่านมาพี่ฮาเมอร์ยังเป็นคนเดิมที่ผมรู้จัก ผมคิดว่าเขาเป็นคนประเภทหนึ่งที่มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และทำได้ดี หากจะผิดก็เพียงเพราะเขามาก่อนเวลา


พี่เมอร์สนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมถามจากการต้องการลำดับความคิดว่าอะไรก่อนหลัง เพราะการสนทนาหลายวาระโอกาส หลายปีที่รู้จักกันยังไม่ประติดประต่อ


ในวัยเด็กเขาผูกพันกับพี่ชายมาก อาจจะเป็นวันนั้นที่พี่ชายเขานำกระดูกชิ้นหนึ่งมาวางไว้ตรงหน้าในค่ำคืนหนึ่งเดือนตุลาคม ปี 2519 แล้วบอกว่า เมอร์นี่กระดูกคนโดนเผาทั้งเป็น นำ้เสียงและความสะเทือนใจของพี่ชายทำให้เขาสับสนงุนงง บางสิ่งบางอย่างฝังลึกในจิตใจ และเติบโตอย่างเงียบๆรอวันที่จะผลิดอกออกผล เมื่อเขาเรียนรู้เครื่องมือทางศิลปะอย่างครบถ้วน โดยใช้ทักษะความสนใจในศิลปะเป็นสื่อในการแสดงความเห็น แสดงความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ในใจ


อาจจะเป็นสิ่งนี้่ที่ทำให้เขาสนใจอ่านหนังสือ และให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความเท่าเทียม เขาเคยเล่าเหตุการณ์ในเดือนพฤษภา 35 เมื่อเกิดรัฐประหารให้ฟังว่า เขาสะพายกล้องเข้าร่วมบันทึกเหตุการณ์การประท้วงของประชาชนและความรุนแรงบนถนนราชดำเนินในวันท้ายๆก่อนที่ทหารเขาควบคุมสถานการณ์อย่างเบ็ดเสร็จ เขาหนีเข้าไปในโรงแรมรัตนโกสินทร์พร้อมสื่อมวลชนและช่างภาพอื่นๆ รัฐประหาร 2549 2557 พี่ฮาเมอร์ร่วมแสดงความคิดเห็นสมำ่เสมอในฐานะเสรีชน และดูเหมือนประชาชนจะบาดเจ็บเสมอ ที่ลอนดอนเช่นกันที่เขาเข้าร่วมแสดงสิทธิและเสรีภาพร่วมกับชาวตะวันตก เพราะเสรีภาพเป็นสิ่งสากล


"ที่ลอนดอน พี่เมอร์ร่วมประท้วง Anti-Capitalism ตำรวจปราบจราจลโอบล้อมเข้ามาเรื่อยๆ จนพวกเราตกอยู่ใน วงล้อม พวกเขาปล่อยให้เราเดินออกไปทีละคน และถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน ในตอนนั้นผมคิดว่าผมอาจจะโดนส่ง กลับ.... แต่โชคดี ไม่โดน" เขากลับออกมาพร้อมกับภาพถ่ายชุดหนึ่ง When Jesus came to London


สำหรับค่ำวันนั้นเราแยกย้ายจากที่พักย่านถนนนครราชสีมาของเพื่อน โดยเลี่ยงที่จะผ่านอณุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันคืนที่การปประท้วงต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังดำเนินต่อไป


*


ภาพพอร์ทเทรทและความเรียง ศุภชัย เกศการุณกุล

เผยแพร่ครั้งแรกที่นิตยสารไรท์เตอร์

รวมเล่มครั้งแรกใน "ครั้งหนึ่งในเวลาหนึ่ง"


279 views0 comments
bottom of page