top of page

Werner Bischof

ผมได้เห็นงานของ Werner Bischof (แวร์แนร์ บิสชอฟ) เพราะเพื่อนช่างภาพคนหนึ่งแนะนําและให้ยืมหนังสือภาพของบิสชอฟกลับมาบ้าน เพื่อนคนนี้บอกว่าแล้วผมจะชอบงานของช่างภาพสวิสคนนี้



แม้ว่าหนังสือที่เพื่อนให้ยืมมาจะมีบทความเกี่ยวกับประวัติ และผลงานของบิสชอฟอยู่ด้วย แต่ผมอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออกในตอนนั้น ได้แต่ชื่นชมผลงานของเขาว่ามันเต็มไปด้วยอารมณ์เห็นอกเห็นใจ และปลอบประโลม ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์ที่บิสชอฟไปถ่ายภาพจะเกี่ยวกับความทุกข์ยากจากสงครามและความยากจน แต่ภาพถ่ายของเขาแสดงให้เราเห็นความหวัง


ภาพถ่ายของบิสชอฟไม่ได้รุนแรง ปลุกเร้า ด้วยภาพสู้รบในสงคราม และซากศพ ทว่าอ่อนโยน ลุ่มลึก นอกเหนือจากเนื้อหาของภาพข้างต้น ผมชอบงานของบิสชอฟจากการวางเฟรม และคอมโพซิชั่นที่เรียบง่ายสะอาดตา แม้จะเป็นภาพที่รันทดของความแร้นแค้นของคนที่ประสบเคราะห์กรรม ไม่ด้วยความยากจนก็ด้วยผลของสงคราม


ภาพของเขาให้น้ำหนักที่ไล่โทนขาวดำสวยงาม คอนทราสท์ไม่จัดแบบบีบคั้นอารมณ์ ในพื้นที่ขาวและดำมีรายละเอียดครบถ้วนเหมือนเขาควบคุมมันได้อย่างอยู่มือ อาจเป็นไปได้ว่าภาพขาวดำที่เห็นเป็นเทคโนโลยีของเลนส์ ฟิล์ม และรสนิยมของยุคสมัย และผมหลงใหลความงามแบบนี้


หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง เขาเดินทางไปในเยอรมัน และยุโรปตะวันออกเพื่อสํารวจชีวิตหลังสงคราม เขาเดินทาง จดบันทึก และถ่ายภาพ เพื่อลงตีพิมพ์ลงในนิตยสาร DU ออกจากบ้านเกิดซึ่งเป็นประเทศที่เป็นกลางจึงไม่ได้รับผลกระทบของสงคราม เราได้รับรู้ว่าเขาเกลียดสงคราม และเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่ต้องทนทุกข์กับผลของมัน ในระหว่างการเดินทางเขาท้อ และรู้สึกเศร้าที่จะต้องถ่ายภาพผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากทรมานอยู่ในเงื่อนใขการดํารงชีพที่ต่ำ และบอบช้ำ หลังจากความหายนะจากฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ภาพถ่ายของบิสชอฟไม่ได้ถ่ายทอดถึงความสิ้นหวัง ในทางตรงข้ามเขาถ่ายทอดความหวังของมนุษย์ที่จะสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ท่ามกลางซากปรักหักพัง และร่องรอยบาดแผลของสงคราม



เมื่อเริ่มต้นกึ่งกลางศตวรรษ Werner Bischof เดินทางออกนอกยุโรปมุ่งสู่เอเชีย

เพื่อไปถ่ายภาพ และสํารวจชีวิตในอีกซีกหนึ่งของโลก เขาไปอินเดียเพื่อรายงานเหตุการณ์ปัญหาที่กระทบประชาชนชาวอินเดียอย่างมากในเวลานั้น คือความอดอยากหิวโหย และขาดอาหารให้กับนิตยสาร Life งานของบิสชอฟเรื่อง Food story นี้มีพลังและถ่ายทอดความเป็นจริง ความสิ้นหวัง และความเวทนาได้อย่างทรงพลัง งานชิ้นนี้ส่งผลให้องค์การเพื่อมนุษยชนในอเมริกายืนมือเข้าช่วยเหลืออินเดียในเวลาอันรวดเร็ว และโดยไร้ซึ่งข้อกังขาใดๆ


แม้ว่าการได้พบเห็นความทุกข์ของมนุษย์จะทําให้เขาเศร้า และเกือบจะสิ้นหวังต่อชะตากรรมของเพื่อนร่วมโลก แต่เขาตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าเขาจะทํางานในฐานะช่างภาพเจอร์นัลลีสท์ต่อไป ด้วยความหวังที่ว่าสิ่งที่เขาเป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งเหล่านี้และนําไปเล่าให้คนอีกซีกโลกหนึ่งได้เห็นชีวิตความเป็นจริงจะตระหนักได้ถึงความทุกข์ยาก และนํามาซึ่งความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นหลักของการทํางานอยู่ที่การเล่าถึงความทุกข์ยากของมนุษย์ แต่ก็ใช่ว่าภาพถ่ายของบิสชอฟจะเศร้ารันทดทั้งหมด โลกผ่านสายตาของบิสชอฟนั้นทำให้เราไม่รู้สึกถึงระยะห่างของคนที่เฝ้ามอง และไม่รู้สึกถึงสายตาที่เย็นชา แต่รับรู้ได้ถึงความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ เหมือนมีใครเอามือมาลูบหลังปลอบประโลมใจเมื่อตกอยู่ในความเศร้า



ในช่วงเวลาเดียวกันที่เขาอยู่อินเดีย ไกลออกไปทางตะวันออกได้มีสงครามก่อตัวขี้นครั้งใหม่ที่เกาหลี เขาถูกส่งตัวไปยังสมรภูมิเพื่อรายงานความเป็นไปของสถานการณ์ แต่เขาปฏิเสธที่จะถ่ายภาพความรุนแรงของสงครามตามที่บรรณาธิการร้องขอ


ในสมุดบันทึก และจดหมายถึงภรรยา บิสชอฟบอกว่าถ้าจะให้เขาไปถ่ายรูปผลกระทบของสงคราม และผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ เขายินดีอย่างยิ่ง แต่หากต้องการให้เขาไปถ่ายรูปความรุนแรงที่ช็อคต่อความรู้สึก เขาขอสละสิทธิ์ มันคือการยืนยันจุดยืนของปัจเจค และการมองโลกของเขาซึ่งยึดมั่นอยู่บนความเป็นมนุษยนิยม และจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากลําบาก และความทุกข์ยาก ในจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงบรรณาธิการ เขายืนยันในความคิดของเขาไว้ว่า


“ Don’t forget that I am looking for the beauty ”


สิ่งที่เขาแสวงหาไม่ใช่ความงามในแง่ของสุนทรียะที่ประกอบไปด้วยความสมบูรณ์แบบทั้งในแง่มุมกล้อง และการจัดองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว ในจดหมายที่เขาเขียนถึงโรสเซลินาภรรยาของเขา หลังจากที่ต้องเผชิญหน้ากับชีวิตที่หนักหนาสาหัสของชาวอินเดียในกัลกัตตา บิสชอฟบอกว่า หากเราไปยึดติดกับภาพถ่ายที่งดงามในแง่ของสุนทรียศาสตร์ ก็เหมือนเราตกอยู่ในกับดัก มันทําให้เรามองข้ามสาระของชีวิต ในสายตาของบิสชอฟ ชีวิต และการต่อสู้ของมนุษย์เพื่อมีชีวิตอยู่ต่างหากคือความงามที่เขาแสวงหา



จากอินเดียด้วยการสนับสนุนของนิตยสาร Life และเอเจนซี Magnum Photos เขาได้เดินทางไปญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และอินโดจีน เพื่อสํารวจชีวิต และสงครามการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ที่นั่นเขาสนใจประเด็นหลังสมรภูมิ ชีวิตของประชาชนธรรมดามากกว่าในแนวหน้า ในเกาหลีแทนที่เขาจะไปถ่ายภาพสงครามในแนวหน้าเหมือนกับ “ไฮยีนาแห่งสงคราม” ที่เขากล่าวกระทบกระเทียบช่างภาพจํานวนหนึ่งที่วิ่งไล่ตามหาภาพของความรุนแรง ภาพที่ช็อค เพื่อดึงดูดคนอ่านตามที่บรรณาธิการนิตยสารบางฉบับต้องการเพื่อให้ขายได้ เขาเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของแนวหลังที่ต้องดิ้นรนทนทุกข์ในบรรยากาศของสงคราม ค่ายกักกันเชลย และค่ายผู้อพยพในสงครามเกาหลี ที่ญี่ปุ่นเขาไปสํารวจเมืองฮิโรชิมาหลังถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู สํารวจวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ขัดแย้ง และกําลังอยู่ในระยะการเปลี่ยนผ่านภายใต้อิทธิพลอเมริกันหลังสงคราม ในเอเชียอาคเนย์เขาเล่าชีวิตของพลเมืองผ่านภาพถ่ายในสงครามเพื่ออิสรภาพกําลังก่อตัว


ตลอดชีวิตการทำงานแม้ว่าเขาจะประสบปัญหาเรื่องรายได้ และงานของเขาจะถูกตัดสินว่า “อ่อน” ในเรื่องของความน่าสนใจจากบรรณาธิการบางคน แต่แวร์แนร์ บิสชอฟ ยังคงยึดถือความเป็นมนุษยนิยมในเนื้องาน และยึดมั่นในการมองโลกของเขาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เขาใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นานๆ เพื่อเก็บข้อมูล และพยายามมองในมุมมองเดียวกับคนพื้นเมือง เข้าใจอย่างที่พวกเขาเข้าใจ ซึมซับบรรยากาศเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจจากข้อมูลที่เขาได้รับรู้ เหมือนกับว่าเขาพยายามวางตําแหน่งการมองจากภายในของปัญหามากกว่าการสังเกตห่างๆด้วยสายตาของคนนอก


นอกจากเขาจะไม่เปลี่ยนแนวทางการทํางาน และคิดประเด็นเพื่อที่จะขายงานให้ได้แล้ว เขายังพัฒนาตัวเองต่อไปเพื่อที่จะถ่ายทอดความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เขาปฏิเสธเสมอที่จะเป็นช่างภาพที่รายงานเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความผิวเผิน ฉาบฉวยเกินไป และไร้ความลุ่มลึก



บิสชอฟใช้เวลาในการทํางานนาน เพราะสิ่งที่เขาทํามันมากกว่าการรายงานข่าว เขาต้องการสัมผัสวิถีชีวิตผู้คน เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและผลกระทบของเหตุการณ์ต่างๆ การใช้เวลาเพียงชั่วครู่และการล่าภาพที่กระทบจิตใจโดยไม่มีความเข้าใจต่อองค์รวมที่เกิดขึ้นไม่ใช่วิถีทางของเขา ในแง่นี้เขาเริ่มเดินห่างออกจากการเป็น Reporter “ผู้รายงานเหตุการณ์” ไกลออกไปเรื่อยๆ


แวร์เเนร์ บิสชอฟ เป็นเหมือนกวีของการถ่ายภาพเจอร์นัลลีสท์ เมื่อไล่ดูผลงานของบิสชอฟอีกครั้งเราเห็นความงามของชีวิต และเห็นเด็กๆเสมอ ภาพถ่ายเด็กๆของบิสชอฟจะอยู่ในทุกที่ทั้งค่ายผู้อพยพ หมู่บ้านชาวม้งอันห่างไกล ท่ามกลางซากปรักหักพังของเมือง ท่ามกลางครอบครัว หรือบิสชอฟกำลังบอกเราว่าในขณะที่เรากำลังทำลายตัวเอง เด็กๆต้องทนทุกข์กับสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อแต่ในเวลาเดียวกันพลังของความบริสุทธิ์ และความหวังจะพาเราไปสู่โลกที่ดีขึ้น



แม้ว่าแวร์แนร์ บิสชอฟ จะมีโอกาสทํางานเพียง 8-9 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ผลงานของเขาโดดเด่นอย่างยิ่งในฐานะของช่างภาพผู้เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์และยึดมั่นในวิชาชีพ เขาแสดงให้เราเห็นความงามของชีวิต และมนุษย์ยังมีความหวังเสมอ


short biography


Werner Bischof (แวร์แนร์ บิสชอฟ) เป็นชาวสวิส เกิดเมื่อปี 1916 เริ่มเรียนวิชาศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปะในซูริช สวิสเซอร์แลนด์ แต่เขารู้จักการถ่ายภาพก่อนหน้านั้นเมื่อเขาเป็นเด็ก พ่อของเขาชอบถ่ายภาพและพรินท์รูปในห้องมืดเป็นงานอดิเรก ตอนเด็กๆ เขาจึงเป็นแบบและช่วยพ่อทดลองเทคนิคการถ่ายภาพด้วยความสนุกสนานอยู่เสมอๆ


ในวัยหนุ่มเขาเลือกเรียนวิชาศิลปะ แต่ในที่สุดเมื่อถึงเวลาต้องเลือกสายวิชาอย่างจริงจัง เขาตัดสินใจเลือกวิชาถ่ายภาพ เขาชอบออกไปถ่ายภาพธรรมชาติและสัตว์ ซึ่งเขาสามารถใช้เวลาเป็นวันๆ ในการสํารวจต้นไม้ใบหญ้า นอกจากนั้นแล้วในช่วงเวลานี้เขาได้ทดลองเรื่องการจัดแสงด้วยเทคนิคต่างๆในสตูดิโอ การถ่ายภาพแบบรีพอร์ทเตอร์ และเทคนิคการล้างฟิล์มด้วยสารเคมี รวมไปถึงการทํางานในห้องมืดพรินท์รูปด้วยกระดาษแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ผลที่ออกมาแตกต่างกัน นอกจากนั้นยังได้เรียนการออกแบบกราฟฟิคและการจัดหน้านิตยสาร อย่างไรก็ตามเขายังไม่แน่ใจว่าจะเลือกอะไรดีระหว่างการเป็นศิลปินกับช่างภาพ เส้นทางอาชีพ และชีวิตของบิสชอฟหักเหจากช่างภาพโฆษณาและแฟชั่นกลายเป็นช่างภาพวารสารเจอร์นัลลีสท์


ราวๆ ทศวรรษ 1940 เมื่อ บรรณาธิการของนิตยสารภาพถ่าย DU ในสวิสเซอร์แลนด์เริ่มขอให้เขาถ่ายภาพคนมากขึ้น หลังจากตีพิมพ์ภาพหุ่นนิ่ง (still life) และภาพถ่ายธรรมชาติที่โดดเด่นของเขาในการเล่นกับองค์ประกอบและแสงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเดินทางไปปารีส เขาได้เห็นงานโฟโต้เจอร์นัลลิสท์มากมาย เขาเขียนไว้ในบันทึกว่า “เขาได้เปิดหูเปิดตา และได้เรียนรู้ที่จะมอง” แล้วชีวิตของเขาก็ต้องเดินทางไกลจากบ้านเกิด ทำงานเป็นช่างภาพเจอร์นัลลิสท์ในยุโรป เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออก และที่สุดท้ายที่เขาเดินทางไปคืออเมริกาใต้ ก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่นั่น


Werner Bischof (1916 - 1954 )

.

เรียบเรียง | ศุภชัย เกศการุณกุล

©supachai ketkaroonkul

156 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page